นักสิทธิ-สื่อชายแดนใต้โวยถูกค้นบ้าน ทหารแจงยึดหลักการ-ไม่สร้างเงื่อนไข
ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นำเสนอข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ค อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าค้นเคหะสถานหลายกรณีในห้วงเดือน ก.ย.2556 ท่ามกลางสถานการณ์ในพื้นที่ที่ยังตึงเครียดและเต็มไปด้วยความหวาดระแวง แม้จะเป็นช่วงเวลาของการเตรียมการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ ก็ตาม
ข้อมูลดังกล่าวให้รายละเอียดของแต่ละกรณีไว้ดังนี้
วันศุกร์ที่ 13 ก.ย. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 4 นาย เข้าค้นบ้านผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นทีมงานของสำนักสื่อ wartani ใน อ.เมือง จ.ปัตตานี
วันพุธที่ 18 ก.ย. เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบจากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 31 เข้าค้นบ้านนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ที่บ้านจาเราะ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
วันศุกร์ที่ 20 ก.ย. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย ขับรถตามประกบทีมงานเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ INSouth ที่ อ.เมือง จ.สงขลา
วันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย. เจ้าหน้าที่จาก สภ.เมืองยะลา จำนวน 8 นาย เข้าค้นบ้านของทีมงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PERMAS ที่สำนักงานบ้านตลาดเก่า อ.เมือง จ.ยะลา
นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ไม่ได้ถูกระบุถึงในเฟซบุ๊ค คือ ผู้สื่อข่าวของศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ถูกบุคคลลึกลับงัดบ้านเช่าใน อ.เมือง จ.ปัตตานี เข้าไปรื้อค้นเอกสาร และขโมยเอกสารสำคัญไปด้วยหลายรายการ ส่วนใหญ่เป็นเอกสารเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม
จนท.หน้าใหม่ค้นบ้าน "ก๊ะแยนะ"
สำหรับกรณีที่ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือการค้นบ้านนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่บ้านจาเราะ อ.ตากใบ เนื่องจากเป็นบ้านของ นางแยนะ สะแลแม แกนนำญาติผู้สูญเสียกรณีตากใบ ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม "ป้าแยนะ" หรือ "ก๊ะแยนะ"
ก๊ะแยนะ เล่าว่า ในวันเกิดเหตุ นางไปทำงานกับกลุ่มผู้หญิง จู่ๆ ก็มีสมาชิกในครอบครัวโทรศัพท์ไปบอกว่ามีทหารจำนวนราวๆ 200 นายเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่บ้านจาเราะ และเข้าค้นบ้านของนางด้วย ทำให้นางรีบกลับมาและทันได้พบกับเจ้าหน้าที่ที่กำลังตรวจค้นบ้าน ซึ่งเป็นการค้นละเอียดทุกห้อง จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่า สาเหตุที่เข้าไปค้นเพราะไม่รู้ว่าเป็นบ้านของนาง ประกอบกับมีรายงานว่ามีคนเข้าออกผิดปกติ จึงต้องเข้าไปตรวจค้นตามหน้าที่
"ก๊ะก็ได้อธิบายไปว่ากำลังซ่อมบ้าน และกำลังพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ เนื่องจาก ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ต้องการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อกลุ่มนี้"
ก๊ะแยนะ กล่าวด้วยว่า หลังเกิดเรื่องก็รู้สึกเสียใจ แต่ทางทหารก็ได้มาขอโทษและอธิบายเหตุผลให้ฟัง ซึ่งนางก็ให้อภัย เพราะอยากจะให้มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก เจ้าหน้าที่หน่วยนี้เพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่ไม่กี่เดือน ยังไม่รู้จักกันดีพอ
อนึ่ง นางแยนะเป็นผู้ประสานงานของกลุ่มญาติผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ นางทำงานมานานจนสามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยได้เป็นอย่างดี ล่าสุดได้ประสานงานกับ ศอ.บต.เพื่อเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่ยังตกหล่นอยู่ ขณะที่กลุ่มผู้เสียชีวิตได้มีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวรายละ 7.5 ล้านบาทไปหมดแล้ว รวมทั้งครอบครัวของนางเองด้วย
จัดงานโกนผมหลาน-ทหารให้แพะ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประจวบกับหลานชายเพิ่งลืมตาดูโลกได้อาทิตย์กว่า ก๊ะแยนะจึงจัดงานโกนผมหลานชาย มีพิธีละหมาดฮายัตและเลี้ยงเพื่อนบ้านโดยการเชือดแพะ 5 ตัวและไก่อีกกว่า 30 ตัว ซึ่งแพะหนึ่งในจำนวน 5 ตัวนั้น คือแพะที่ทางหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 31 มอบให้เป็นตัวแทนคำขอโทษในการ "กระทำผิดพลาด" ดังกล่าว
“ปีที่แล้วปีเดียวที่ไม่ถูกค้นบ้าน ถ้าเขาจะมาค้นอีกก็เรื่องของเขา เราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก่อนมาค้นอยากให้เขามีข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้เพราะเราต้องดูแลตัวเองเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น” ก๊ะแยนะ บอก
จนท.แจงความจำเป็น-ยอมรับความผิดพลาด
ด้าน เรือโทสุรัตน์ ทรงทิพย์ ผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 31 ซึ่งรับผิดชอบภารกิจปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านจาเราะ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีเจตนาเจาะจงค้นบ้านของก๊ะแยนะ แต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ต้องการจับกุมผู้ต้องสงสัย 2 รายที่เข้าไปในหมู่บ้านตามที่ได้รับรายงานจากตำรวจ จากการเดินตรวจตามบ้านพบว่าที่หน้าบ้านของก๊ะแยนะมีคนแปลกหน้า จึงได้เข้าไปตรวจค้น และทราบว่าคนจำนวนหนึ่งที่เข้าออกบ้านของก๊ะแยนะคือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบซึ่งก๊ะแยนะขอให้ไปประชุมปรึกษาหารือเรื่องการขอรับการเยียวยาเพิ่มเติมจาก ศอ.บต.
"เข้าใจว่าการค้นปูพรมทำให้เกิดความไม่สบายใจของชาวบ้าน แต่สาเหตุที่เราต้องเข้าไปตรวจค้นเพราะมีผู้ต้องสงสัยซึ่งรับแจ้งจากทางตำรวจ เขาแจ้งว่าเจอคน 2 คนแต่งตัวดี แต่บอกว่าจะไปเลี้ยงวัว แล้วก็ผ่านไป ทางตำรวจเอะใจว่าแต่งตัวสุภาพไม่น่าจะไปเลี้ยงวัว จึงมาบอกกับหัวหน้าชุด ผมก็เลยไปกับลูกน้องอีกทางของหมู่บ้าน แล้วสั่งการให้ปิดล้อมตรวจค้นเพื่อหาผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่เห็นเดินอยู่ในทุ่งนาแถวบ้านก๊ะแยนะ เมื่อตามไปก็หายตัว"
"จากนั้นจึงเข้าไปที่บ้านก๊ะแยนะเพื่อขอตรวจค้นเพิ่มเติม โดยลูกน้องไม่รู้ว่าเป็นบ้านก๊ะแยนะ แล้วก็เจอกับคนที่มาก่อสร้างบ้าน สอบถามดูปรากฏว่ามีชื่อในหมาย พ.ร.ก. (ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จึงเชิญตัวไปที่โรงพัก เมื่อตรวจสอบปรากฏว่าหลุดแล้ว (ได้รับการปลดหมายไปแล้ว) ก็ส่งกลับพร้อมผู้ใหญ่บ้าน เรื่องนี้เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ประสานโดยตรง อีกทั้งในวันเกิดเหตุกำลังพลที่รู้จักก๊ะแยนะก็ไม่อยู่ หลังจากนี้จะพยายามไม่ให้มีเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก" เรือโทสุรัตน์ กล่าว
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 เร่งสอบข้อเท็จจริง
สำหรับการเข้าตรวจค้นเคหะสถานกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากก๊ะแยนะนั้น พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ได้สั่งการให้ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียแล้ว อย่างไรก็ดี ขอยืนยันในหลักการว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเน้นย้ำให้กำลังพลทุกหน่วยปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเคร่งครัด ห้ามมีการละเมิดสิทธิหรือสร้างเงื่อนไขใดๆ
"ผู้บังคับบัญชาได้มีการกำชับตลอดให้การปฏิบัติทุกกรณีเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย จึงขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน จากนั้นจะชี้แจงอย่างเป็นทางการต่อไป" พ.อ.ปราโมทย์กล่าว
ส่วนกรณีบุคคลลึกลับงัดบ้านเช่าของผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา และขโมยเอกสารที่เกี่ยวกับการทำงานบางส่วนไปนั้น หลังเกิดเหตุได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองปัตตานี ประสานเข้าเก็บหลักฐานยังบ้านที่เกิดเหตุเพื่อติดตามหาตัวคนร้ายแล้ว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นางแยนะ สะแลแม (แฟ้มภาพ)
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น