ศาลรับแล้ว!คำร้อง'สมเจตน์'ปมแก้ที่มาส.ว.
ศาลรธน. มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 สั่งรับคำร้อง 'สมเจตน์-วิรัตน์' ปม แก้ไขเพิ่มเติม รธน.ที่มา ส.ว. ชี้ มีมูลส่อขัด รธน. ม.68 แต่ไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราว
25 ก.ย.56 เมื่อเวลา 14.20 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 สั่งรับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับพวก และคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 68 ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับพวกรวม 310 คน กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ ในกรณีที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช ในฐานะรองประธานรัฐสภา กับพวกรวม 309 คน ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่.. พ.ศ. .... ในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ต่อนายสมศักดิ์ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า กรณีมีมูลเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปโดยวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งให้รับคำร้องทั้ง 2 คำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ส่วนคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ถูกร้องระงับการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอ
ทั้งนี้ นายชัช ชลวร ตุลาการเสียงข้างน้อย เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แล้วนั้น รัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ให้เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้น เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ดังนั้นผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรง ส่วน นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการเสียงข้างน้อยอีก 1 คน เห็นว่า กรณีคำร้องยังไม่มีมูลกรณีฝ่าฝืนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
รับคำร้อง ส.ว.สรรหา -ส.ส.ปชป. ยื่นตีความร่างพ.ร.บ.งบ ขัด รธน.หรือไม่
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีคำสั่งรับคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะรวม 50 คน และคำร้องของนายวิรัตน์ กลัยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะรวม 62 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา154 วรรคหนึ่ง (1 ) ว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีพ.ศ. 2557 มาตรา 27 ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลปกครอง มาตรา 28 ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขัดหรือแย้ง หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปด วรรคเก้า หรือไม่ เนื่องจากหน่วยงานทั้ง 3 ได้ขอจัดสรรงบประมาณประจำปีไปยังคณะรัฐมนตรี แต่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาปรับลด และในชั้นแปรญัตติ ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีสภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานทั้ง 3 ก็ได้ขอเสนอเพิ่มงบประมาณ เพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารงาน แต่คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้เชิญหน่วยงานทั้ง 3 มาหารือ และใช้ดุลยพินิจฝ่ายเดียวไม่จัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานดังกล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า ให้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ประธานกรรมาธิการฯ สำนักงบประมาณ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานป.ป.ช.ทำคำชี้แจงเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 1 ต.ค. และให้ประธานกรรมาธิการฯ หรือผู้แทน รวมถึงผู้แทนหน่วยงานทั้ง 4 องค์กรมาชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ต.ค. ที่อาคารศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
เลื่อนพิจารณา ปม "อภิสิทธิ์" ขาดสมาชิกภาพส.ส.หรือไม่
ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ยังได้พิจารณากรณีที่ประธานสภาได้ส่งคำร้องของส.ส.จำนวน 134 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ว่า สมาชิกภาพการเป็นส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งลงวันที่ 8 พ.ย. 2555 ปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป เพื่อรอคำชี้ขาดตัดสินของศาลอื่นในประเด็นเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งกระทรวงกลาโหม
ขอขอบคุณข่าวจาก