ผบ.ทบ.ลั่นไม่เอา"ปกครองพิเศษ" ทีมที่ปรึกษารัฐเตือนเสียมากกว่าได้
ผบ.ทบ.ค้านตั้งเขตปกครองพิเศษชายแดนใต้ ชี้ไม่มีงบเลี้ยงตัวเอง ขู่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเงินเดือนหาย ยืนยันคนพื้นที่ไม่ต้องการ แต่มีคนภายนอกคิดให้ จี้กลุ่มก่อความไม่สงบวางอาวุธแล้วจะคุยกันราบรื่น ด้านทีมงานที่รัฐบาลให้วิเคราะห์เอกสารบีอาร์เอ็น ฟันธงไทยยอมรับ 5 ข้อ "เสียมากกว่าได้" หวั่นยกระดับกลุ่มป่วนใต้เทียบเท่ารัฐ เตือนข้อ 4 มีผลทางกฎหมายมากกว่าเขตปกครองพิเศษ ใต้ป่วนบึ้มยะหา ตำรวจ-ชาวบ้านเจ็บระนาว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยืนกรานระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่ 24 ก.ย.2556 ว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้งเขตปกครองพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำคัญของบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ที่ร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย
ในช่วงแรกของกระบวนการพูดคุย เมื่อราวเดือน มี.ค.-เม.ย.2556 บีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซันได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อมายังรัฐบาลไทย โดยข้อที่หลายฝ่ายให้ความสนใจมากที่สุด คือ ข้อ 4 การเรียกร้องให้ไทยยอมรับ "สิทธิความเป็นเจ้าของ" ในดินแดนปาตานี ซึ่งก็คือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งบางส่วนของ จ.สงขลาในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากคำว่า "สิทธิความเป็นเจ้าของ" มีความไม่ชัดเจนทั้งความหมายและการเลือกใช้ถ้อยคำทั้งที่เป็นภาษามลายูและภาษาอังกฤษ ทำให้คณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยประสานขอให้ทางบีอาร์เอ็นส่งคำอธิบายมาเพิ่มเติม กระทั่งล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. บีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซันได้ส่งคำอธิบายกลับมา เป็นเอกสารภาษาอังกฤษความยาว 38 หน้า โดยระบุว่าข้อเรียกร้องข้อ 4 หมายถึงการขอตั้งเขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ในหลักการเดียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา ทั้งยังอ้างว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 78 อันเป็นไปตามข้อตกลงที่ลงนามกันไว้เมื่อ 28 ก.พ.2556 ด้วย
"ผมไม่มองถึงตรงนั้น (เขตปกครองพิเศษ) ผมในฐานะฝ่ายความมั่นคงได้มองในระยะยาว ส่วนระยะสั้นเรามองย้อนกลับไปว่าประเทศไทยมีรูปแบบการปกครองทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นสมบรูณ์อยู่แล้ว ที่พิเศษในวันนี้มีอยู่ 2 พื้นที่ คือพัทยา กับ กทม. เหตุผลคือเรื่องการท่องเที่ยว เขตปกครองพิเศษจะต้องมีการบริหารจัดการใหม่ รวมถึงงบประมาณ คิดว่างบประมาณในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เพียงพอ ตอนนี้ยังใช้งบประมาณส่วนกลางเข้าไปช่วยเหลืออยู่" พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในเรื่องนี้ขณะไปปฏิบัติภารกิจที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล ม.2 รอ.)
ขู่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเงินเดือนหาย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า จะพยายามอธิบายให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจ โดยเฉพาะทางกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็มีเงินเดือนอยู่ แต่หากเป็นเขตปกครองพิเศษ สิ่งเหล่านี้จะหายไป จากการสอบถามคนในพื้นที่ก็ไม่ต้องการเขตปกครองพิเศษ ส่วนใหญ่มีแต่คนภายนอกคิดให้ ถ้าทำไปแล้วเกิดอะไรขึ้นมาจะรับผิดชอบหรือไม่ การเผชิญภัยคุกคามรูปแบบใหม่จะต้องมีหลักการและวิชาการ ต้องนำบทเรียนรอบบ้านมาดูด้วย
"ผมทราบหมดว่าใครเป็นใคร บางพวกอยู่ในประเทศ บางพวกอยู่นอกประเทศ การแก้ไขปัญหาจึงต้องใช้เวลา เพราะเป็นสงครามทางความคิด ควรให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการแก้ปัญหา"
อย่างไรก็ดี ผบ.ทบ.ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) บอกว่า ขณะนี้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้นำข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อมาพิจารณาแล้ว ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันต่อในทุกเรื่อง ส่วนผลจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละฝ่าย การพูดคุยถือเป็นช่องทางหนึ่ง เมื่อคนไม่รู้จักกันเปิดประตูหน้าต่างมาคุยกันก็เป็นการดี แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และต้องอธิบายข้อเสนอที่บีอาร์เอ็นเสนอมาว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะทุกอย่างมีความเป็นมาทั้งหมด ขึ้นอยู่กับเหตุและผล
จี้วางอาวุธแล้วจะคุยกันง่ายขึ้น
"ถ้าเรายืนยันไปว่าสิ่งที่บีอาร์เอ็นขอมายังต้องทบทวนและหาสาเหตุ รวมทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมในการพูดคุยกันต่อไป อย่าเพิ่งหาข้อยุติในตอนนี้ ก็น่าจะทำได้ ครั้งนี้คุยไม่ได้ก็คุยกันครั้งต่อไป ถ้าแต่ละฝ่ายยื่นข้อเสนอแล้วรับกันไม่ได้ ก็คงจะพูดคุยกันไม่ได้ หน่วยงานด้านความมั่นคงจะดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายยังคงมีอยู่ 100% เราไม่สามารถละเว้นอะไรได้หากยังมีการถืออาวุธมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ผมไม่เคยสั่งให้ลดปฏิบัติการลง แต่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกพื้นที่เช่นกัน"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การปฏิบัติของทหาร องค์กรต่างๆ เข้าใจ และยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเราแก้ปัญหาไม่ถูกวิธี อย่าไปนับการบาดเจ็บและสูญเสีย เพราะกลุ่มก่อความไม่สงบใช้วิธีนี้สู้กับเราวิธีเดียวเท่านั้น หากกลุ่มก่อความไม่สงบวางอาวุธ จะถือว่าเป็นจุดที่ทำให้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น แต่หากไม่มีการส่งมอบอาวุธ การพูดคุยก็เป็นไปได้ลำบาก อย่างไรก็ตาม ต้องมีการพูดคุยกัน เพราะเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจของฝ่ายรัฐ
สมช.ส่งเอกสารให้ทุกฝ่ายช่วยศึกษา
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวเรื่องเดียวกันว่า ได้ส่งข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอารเอ็นไปยังกลไกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกลไกความมั่นคง ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ซึ่งกำลังศึกษาและวิเคราะห์กันอยู่ โดยต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แล้วจะส่งกลับมาที่คณะพูดคุยสันติภาพ
อย่างไรก็ตาม จากการประสานงานเบื้องต้นจะมีการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นครั้งต่อไปในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ต.ค. สำหรับกรอบการพูดคุยยังยืนยันว่าจะมีการพูดถึงข้อเรียกร้องที่บีอาร์เอ็นเรียกร้องมา แต่ไม่ได้ละทิ้งประเด็นที่มีการพูดคุยเรื่องการลดการก่อเหตุช่วงเดือนรอมฎอนว่ามีการลดการก่อเหตุจริงหรือไม่ อย่างไร และสาเหตุที่เป็นต้นเหตุเป็นอย่างไร เชื่อมั่นว่าการพูดคุยในครั้งต่อไปจะมีคำตอบจากกลุ่มบีอาร์เอ็น
"สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในขั้นคลี่คลายลง เพราะการพูดคุยยังมีการดำเนินการอยู่ อีกทั้งมาตรการเชิงรุกของเราในการปิดล้อมตรวจค้นและการให้ความปลอดภัยประชาชนก็เข้มข้นขึ้น ทางฝ่ายขบวนการก็ลดการก่อเหตุลง" เลขาธิการ สมช.ระบุ
เตือนยกสถานะบีอาร์เอ็นเทียบเท่า"รัฐ"
มีรายงานว่า กลไกที่เลขาธิการ สมช.และรัฐบาลส่งเอกสาร 38 หน้าของบีอาร์เอ็นไปให้วิเคราะห์นั้น บางส่วนได้ส่งผลการศึกษากลับมาแล้ว โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าข้อเรียกร้องมีประเด็นแอบแฝงอยู่ทุกส่วน มีเงื่อนไขซุกซ่อนอยู่มากมาย จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการยกระดับบีอาร์เอ็นให้มีสถานะเหมือนเป็นรัฐ การยอมรับ "สิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานี" ตามข้อเรียกร้องข้อ 4 จะทำให้เกิดผลทางกฎหมายมากกว่าเขตปกครองพิเศษ
นอกจากนั้น หากยินยอมให้มาเลเซียมีบทบาทเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย และยอมให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเป็นสักขีพยาน จะทำให้ปัญหาชายแดนใต้กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศที่ควบคุมได้ยาก และมาเลเซียจะมีบทบาทสูงมากในการยุติความขัดแย้ง สรุปคือหากไทยรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อจะส่งผลเสียมากกว่าได้
บึ้มตำรวจ นปพ.ที่ยะหาเจ็บ 2 ชาวบ้านโดนด้วย
ด้านสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ ยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นประปราย โดยเมื่อเวลา 07.50 น.วันอังคารที่ 24 ก.ย. คนร้ายลอบกดจุดชนวนระเบิดดักสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดลาดตระเวนเส้นทางและรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่บนถนนสายยะหา-กาบัง ท้องที่หมู่ 6 บ้านเอเส็น ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา โดยคนร้ายวางระเบิดแสวงเครื่องไว้บริเวณโคนเสาป้ายเตือนทางโค้งริมถนน แรงระเบิดทำให้ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) สภ.ยะหา ซึ่งใช้รถจักรยานยนต์ 4 คันเป็นพาหนะสัญจรผ่านมาพอดี ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ ส.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ผลิผล อายุ 27 ปี และ ส.ต.ต.นิติกร ตาแหลม อายุ 24 ปี ทั้งคู่เป็นผู้บังคับหมู่ (ผบ.หมู่) นปพ.สภ.ยะหา เพื่อนตำรวจช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา ก่อนที่แพทย์จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา
นอกจากนั้นยังมีประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาได้รับบาดเจ็บอีก 3 ราย คือ นางแวเย๊าะ สาแล อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 57/1 หมู่ 1 ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี นายมะซามูดิง มูซอ อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4/3 หมู่ 3 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ น.ส.สะไรดา เจ๊ะโซะ อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 38/4 หมู่ 1 ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ทั้งหมดได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
ทั้งนี้ เหตุลอบวางระเบิดที่ซุกไว้ตามโคนเสาป้ายบอกทาง เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 23 ก.ย. เวลาประมาณ 15.45 น. บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ท้องที่บ้านลาลอ หมู่ 2 ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อดักทำร้ายทหารพรานชุดลาดตระเวนเดินเท้าเพื่อ รปภ.ครู จากกองร้อยทหารพรานที่ 4210 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 แต่โชคดีที่ไม่มีกำลังพลได้รับอันตราย
ยิงรายวัน 3 วัน 2 ศพ
สำหรับเหตุยิงรายวันยังคงเกิดอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันอังคารที่ 24 ก.ย.เวลา 18.30 น. พบศพชายไทยในสวนยางพารา ท้องที่บ้านบีโล๊ะ หมู่ 3 ต.ซากอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทราบชื่อภายหลังว่าคือ นายมะกรี สาและ อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 28/2 หมู่ 2 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา สภาพศพมีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดบริเวณหน้าอก 1 นัดจนเสียชีวิต
สอบถาม นางมารียัม อิแต อยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ 1 ต.ซากอ อ.ศรีสาคร ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตาย ทราบว่านายมะกรีมีอาชีพรับจ้างทาสี ก่อนเกิดเหตุได้ออกจากบ้านไปและไม่ได้กลับมาอีกเลย จนมาทราบอีกครั้งว่านายมะกรีถูกยิงเสียชีวิตในสวนยางพาราดังกล่าว เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุการสังหาร
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย.เวลา 20.05 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนพกขนาด 9 มม.ยิง นายสะตอปา อูมา อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 91/33 ถนนทรายทอง ซอย 1 หมู่ 1 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เสียชีวิตคาที่ เหตุเกิดขณะที่นายสะตอปานั่งอยู่ในบ้านของตนเอง เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุการสังหารเช่นกัน
ปิดล้อมที่รามัน-รวบผู้ต้องสงสัยพร้อมเอ็ม 16
ด้านการปฏิบัติของฝ่ายความมั่นคง วันอังคารที่ 24 ก.ย. เวลาประมาณ 17.30 น. ทหารพรานจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 และทหารหลักจากหน่วยเฉพาะกิจยะลา 12 พร้อมตำรวจ สภ.รามัน ได้สนธิกำลังกันจำนวนกว่า 30 นาย เข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย หมู่ 4 บ้านจือแร ต.กอตอตือระ อ.รามัน จ.ยะลา และสามารถควบคุมตัว นายลุกมัน ลงบิน อายุประมาณ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14/1 หมู่ 4 ต.กอตอตือระ พร้อมยึดอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนลูกซอง 2 กระบอก และเครื่องกระสุน รวมทั้งส่วนประกอบของปืนชุดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดถูกฝังซ่อนไว้ใต้ดิน
จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า นายลุกมันมีน้องชายที่เคยถูกจับกุมตัว แต่ภายหลังได้รับการปล่อยตัวและออกนอกพื้นที่ไปประกอบอาชีพที่ประเทศมาเลเซีย ส่วนอาวุธปืนเอ็ม 16 ที่ยึดได้นั้น เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบว่าเป็นอาวุธปืนที่คนร้ายขโมยมาจากเจ้าหน้าที่หลังซุ่มโจมตีด้วยระเบิดหรือไม่
มีรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงว่า การปิดล้อมตรวจค้นครั้งนี้เป็นการขยายผลจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ยิงปะทะกับกลุ่มคนร้ายที่ขโมยรถกระบะมาจาก อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ในท้องที่ อ.รามัน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อาวุธปืนเอ็ม 16 ที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากการปิดล้อมตรวจค้นในท้องที่ อ.รามัน จ.ยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)