สถานการณ์น้ำ ป่าไม้ และเขื่อนแม่วงก์
ท่ามกลางกระแสคัดค้านโครงการก่อสร้าง และผลการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EHIA (Environment and Health Impact Assessment) "เขื่อนแม่วงก์" ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนจาก 9 โมดูล โครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เพื่อป้องกันอุกทกภัย เนื่องจากเครือข่ายประชาชน เอ็นจีโอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ฯลฯ เล็งเห็นตรงกันว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ฉบับดังกล่าว เป็นโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝงและเร่งรัด จึงมีการออกแถลงการณ์คัดค้าน ปกป้องป่าไม้และสัตว์ป่า และขอให้การพิจารณารายงานอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบครอบ และนับเป็นการปลุกกระแสรักษ์ธรรมชาติครั้งสำคัญ
"สำนักข่าวอิศรา" นำเสนอ Infographic จากเฟซบุ๊กของ Infographic MOVE ที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากกรมป่าไม้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรมโยธาธิการผังเมือง มูลนิธิโลกสีเขียวเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ น้ำ รวมถึงเขื่อนแม่วงก์ ในแง่สถิติทางวิชาการ ดังนี้
เขื่อนแม่วงก์ คุ้มหรือไม่? ความจริงที่คุณต้องรู้ : ที่ระบุถึงเหตุผลในการสร้างว่า เพื่อบรรเทาภัยแล้งในเขตพื้นที่ชลประทาน และบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่รอบเขื่อน ซึ่งมีความจุ 262 ลบ.ม. สามารถใช้ได้จริง 25% ในฤดูแล้ง และใช้เวลา 8 ปีในการก่อสร้าง แต่ระหว่างการก่อสร้างอาจมีการบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งนี้ จะสามารถลดน้ำท่วมในเขตลาดยาวได้ 30% ของพื้นที่ ลดภัยแล้งพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้งได้ 25% แต่ผลเสียที่ตามมา จะต้องสูญเสียพื้นที่ป่าสมบูรณ์กว่า 18 ตร.กม. ต้องเวนคืนพื้นที่จากชาวบ้านกว่า 10,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านแม่วงก์ยังต้องประสบภัยแล้งต่อไป และจะลดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้เพียง 1% เท่านั้น
เมืองกินป่า น้ำกินเมือง : ระบุถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศที่ส่งผลกระทบให้เมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ความเจริญที่มองข้ามธรรมชาติ ย่อมมีผลร้ายตามมาจนไม่อาจต้านทานไหว ซึ่งผลกระทบจากการลดลงของพื้นที่ป่า ทำให้ความถี่ในการเกิดอุทกภัยเพิ่มขึ้น 7 เท่า และระยะเวลาที่เกิดนานขึ้น 1 เท่าตัว
'1 ต้น 1 คน' ต้นไม้ต้นเดียวช่วยลดมลพิษได้มากกว่าที่คิด : ระบุถึงความสำคัญของต้นไม้ ว่าเพียงแค่ 1 ต้น สามารถช่วยลดมลพิษ ดูดซับก๊าฐคอร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัม/ปี ลดอุณหภูมิรอบบ้านได้ 2-4 องศา ปล่อยออกซิเจนรองรับความต้องการของมนุษย์ได้ 2 คน/ปี และดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศได้ 1.4 กิโลกรัม/ปี
ป่าไม้ไทย...เหลือแค่นี้ : ระบุถึงค่าเฉลี่ยพื้นที่ป่าไม้ของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยเหลือป่าไม้ 37%
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Infographic MOVE