เมื่อ"พยาน"กลายเป็น"ผู้ต้องหา"ที่ชายแดนใต้ และอำนาจที่ถูกท้าทายของ ศอ.บต.
สถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงเวลานี้ยังคงมีความเคลื่อนไหวด้านคดีความมั่นคง ปมสิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจสั่งย้ายข้าราชการออกจากพื้นที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อย่างน่าจับตา...
เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา พยานจำนวน 14 คนในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส ในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนและอั้งยี่ซ่องโจร จากเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ได้ถูกพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เรียกตัวมาแจ้งข้อหา “แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ” หลังจากทั้งหมดกลับคำให้การในชั้นศาล ทำให้ศาลพิพากษายกฟ้องคดีนายนัจมุดดีน
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้แจ้งความดำเนินคดีกับพยานกลุ่มนี้ด้วย หลังจากเข้าให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดกับ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กับพวกรวม 19 คนในข้อหาร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกาย (ซ้อมทรมาน) ระหว่างที่ถูกสอบปากคำในคดีปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ซึ่งพยานกลุ่มนี้บางส่วนตกเป็นผู้ต้องหา แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช.ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยสรุปว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ และพวกไม่มีมูล
กลุ่มพยานที่กลายเป็นผู้ต้องหาซึ่งเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป.เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย.มี 11 คนจากทั้งหมด 14 คน ประกอบด้วย นายอนุพงศ์ พันธชยางกูร อดีตกำนัน ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส, นายอาซีซาน สุเด็ง, นายมะยารอปี สะนิ, นายซอบัร ซารีฟ, นายอรุณ อูเซ็ง, นายมูหะหมัดนาฬิเย๊าะ รอยะ, นายมะนาเซ มามะ, นายหะมะ เจ๊ะโง๊ะ, นายมะยูโซ๊ะ หะยีมามะ, นายอามิ ยาแม และนายสุดีมัน มารึ โดยเดินทางมาพร้อมกับทนายความคือ นายกมลศักดิ์ ลีวามะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำ จ.นราธิวาส
ทั้งนี้ ตำรวจได้แจ้งข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดทางอาญาแก่พนักงานสอบสวนหรือผู้มีอำนาจสืบสวนคดี แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ และขอไปให้การในชั้นศาล
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอีก 2 รายที่ไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนในวันเดียวกันนี้ คือ นายสุกรี มะมิง และนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ซึ่งรายหลังหายตัวไปอย่างลึกลับหลังจากเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2552 ทั้งๆ ที่อยู่ในโปรแกรมคุ้มครองพยานของดีเอสไอ และมีผู้ถูกกล่าวหาอีก 1 รายเสียชีวิตไปแล้ว คือ นายอับดุลสอมัด มะหนุ
ด้าน นายนัจมุดดีน ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นราธิวาส สังกัดพรรคมาตุภูมิ และเดินทางมาสังเกตการณ์ด้วย กล่าวว่า ต้องการมาให้กำลังใจ นายอนุพงศ์ และผู้ถูกกล่าวหาทุกคน เนื่องจากคดีนี้มีสาเหตุสืบเนื่องจากมาจากการที่นายอนุพงศ์กับพวกเป็นพยานในคดีที่เขาตกเป็นจำเลยในความผิดฐานกบฏแบ่งแยกดินแดน โดยทั้งหมดได้กลับคำให้การในชั้นศาล ทำให้เขารอดพ้นความผิด
เมื่อผู้บริสุทธิ์จากคำพิพากษาถูกแจ้งข้อหาใหม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอนุพงศ์ พันธชยางกูร อดีตกำนัน ต.โต๊ะเด็ง กับพวกที่ถูกกล่าวหาในครั้งนี้นั้น บางส่วนเคยตกเป็นผู้ต้องหาคดีปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี และนายอนุพงศ์กับพวกอีกบางรายยังตกเป็นจำเลยในคดีฆ่าตำรวจ สภ.สุไหงปาดี ด้วย ปัจจุบันคดีจบชั้นอุทธรณ์ โดยพิพากษายกฟ้องทั้งสองศาล แต่ในที่สุดเขากลับถูกแจ้งข้อหาในคดีใหม่
ขณะที่ นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี วัย 25 ปี ซึ่งเป็นพยานในคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืน หายตัวไปอย่างลึกลับขณะเดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลฮารีรายอที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อเดือน ธ.ค.2552 จนป่านนี้คดียังไม่มีความคืบหน้า และรัฐยังให้คำตอบไม่ได้ว่านายอับดุลเลาะห์หายตัวไปไหน ทั้งๆ ที่เขาเป็นหนึ่งในผู้เสียหาย และอยู่ในกระบวนการคุ้มครองพยานของดีเอสไอ คดีการหายตัวไปของเขาก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ แต่เขากลับตกเป็นผู้ต้องหาในคดีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จอีก
คดีงูกินหาง-จากทนายสมชายถึงพยานหายตัว
ประเด็นที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งก็คือ คดีทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวพันกัน และเชื่อมโยงไปถึงคดี “อุ้มหาย” ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เมื่อเดือน มี.ค.2547 ด้วย
และทุกคดีล้วนมีเงื่อนงำเป็นปริศนาแทบทั้งสิ้น!
วันศุกร์ที่ 11 มี.ค.2554 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีอุ้มทนายสมชาย โดยกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุก พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีตสารวัตรกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (อดีต สว.กอ.รมน.) ช่วยราชการ บก.ป. เป็นเวลา 3 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ส่วนนายตำรวจคนอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาพร้อมกันอีก 4 นาย คดียกฟ้องไปตั้งแต่ศาลชั้นต้น
กล่าวสำหรับ พ.ต.ต.เงิน ปรากฏว่าระหว่างประกันตัวสู้คดีในศาลอุทธรณ์ พ.ต.ต.เงิน ซึ่งมีข่าวระบุว่าไปช่วยญาติทำกิจการก่อสร้างที่ จ.พิษณุโลก นั้น ได้ถูกกระแสน้ำและดินถล่มพัดหายสาบสูญที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เมื่อกลางเดือน ก.ย.2551 กระทั่งขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดพบศพหรือพบ พ.ต.ต.เงิน อีกเลย
วันที่ 11 ธ.ค.2552 นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี พยานปากสำคัญในคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนซึ่งมีตำรวจหลายนาย (รวมทั้ง พล.ต.อ.ภาณุพงศ์) ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ
วันที่ 22 ธ.ค.2553 ป.ป.ช.มีมติไม่รับคำร้องกล่าวหา พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กับพวกรวม 19 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกลั่นแกล้งและทำร้ายร่างกาย นายมะกะตา ฮารง กับพวก ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันปล้นอาวุธปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 โดยเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ และคดีนี้เองที่ อับดุลเลาะห์ เป็นพยานปากสำคัญ แต่เขาก็หายตัวไปแล้ว...
ขณะที่คดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ก็เป็นคดีที่ทนายสมชายรับว่าความก่อนถูกอุ้มหาย!!!
เอ็นจีโอซัดสร้างวัฒนธรรม “ไม่รับผิด”
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซื่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมทางกฎหมายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกเอกสารแถลงข่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรณี “ตำรวจใหญ่อดีตผู้ถูกกล่าวหาซ้อมผู้ต้องหา ฟ้องกลับเหยื่อถูกซ้อมทรมานเกี่ยวเนื่องคดีปล้นปืนอุ้มทนายสมชาย” เนื้อหาระบุถึงการแจ้งความดำเนินคดีของ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กับพวกต่อกลุ่มพยานคดีปล้นปืนซึ่งเคยร้องเรียนเรื่องถูกซ้อมทรมาน
“กรณีที่นายตำรวจระดับสูงฟ้องกลับเหยื่อซ้อมทรมานดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกซ้อมทรมานซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าพนักงานตำรวจกลับตกเป็นจำเลยเสียเอง แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมทั้งในระบบตำรวจและกลไกพิเศษเช่น ป.ป.ช.และดีเอสไอ รัฐตำรวจไทยยังคงมีอิทธิพลในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมการไม่รับผิด (Impunity) ในสังคมไทย” ใบแถลงข่าวระบุตอนหนึ่ง
คดีผูกคอตายในค่ายทหาร...ครบขวบปีเพิ่งนับหนึ่ง
ยังมีคดีที่ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องการซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอีกคดีหนึ่ง คือการเสียชีวิตของ นายสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ซึ่งกลายเป็นศพอยู่ในท่าแขวนคอผูกติดกับเหล็กดัดหน้าต่างภายในห้องควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2553
หลังการเสียชีวิตของนายสุไลมาน ศาลจังหวัดปัตตานีได้นัดไต่สวนคำร้องคดีไต่สวนการตาย เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ช.14/2553 เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2554 ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานียื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายสุไลมาน แนซา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้
อนึ่ง กระบวนการไต่สวนการตายเป็นกระบวนการพิเศษเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายกรณีที่เกิดการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างวาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยศาลปัตตานีได้กำหนดวันนัดไต่สวนการตายวันที่ 17 และ19 ส.ค.2554 และ 20, 21, 27 ก.ย.2554
นายสุไลมาน ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2553 หรือ 8 วันก่อนเสียชีวิต จากนั้นเขาถูกควบคุมตัวต่อภายใต้อำนาจพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ในสภาพผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่างห้องควบคุมตัว โดยฝ่ายทหารยืนยันว่านายสุไลมานผูกคอตายเอง แต่บิดาและครอบครัวของนายสุไลมานไม่ปักใจเชื่อ จึงยื่นร้องคัดค้านการไต่สวนการตาย
ขณะเดียวกัน นายเจะแว แนซา บิดาของนายสุไลมาน ได้ยื่นฟ้องแพ่งต่อศาลจังหวัดปัตตานี โดยฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี (ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.) เป็นจำเลยที่หนึ่ง กระทรวงกลาโหมเป็นจำเลยที่สอง และกองทัพบกเป็นจำเลยที่สาม เรียกค่าเสียหายมูลละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2535 ซึ่งศาลปัตตานีได้นัดไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมในที่ 11 ก.ค.2554
30 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครอบรอบการเสียชีวิต 1 ปีเต็มของนายสุไลมาน แต่คดีความของเขาเพิ่งจะเริ่มนับหนึ่งเท่านั้นเอง
จับตาดาบอาญาสิทธิ์ ศอ.บต.สั่งย้าย 9 สีกากี
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือการใช้อำนาจของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ตามกฎหมายใหม่คือพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่งมีผลบังคบใช้เมื่อปลายปีที่แล้ว และให้อำนาจเลขาธิการ ศอ.บต.สามารถเสนอย้ายข้าราชการที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
อำนาจดังกล่าวนี้เคยมีเมื่อครั้ง ศอ.บต.ยุคก่อนถูกยุบ คือก่อนปี พ.ศ.2545 ทำให้ ศอ.บต.ซึ่งเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2524 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เสมือนมีดาบอาญาสิทธิ์ที่สามารถให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ ทว่าเมื่อ ศอ.บต.ถูกยุบไปในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และตั้งขึ้นใหม่ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี 2549 กลับไม่มีอำนาจที่เป็นเสมือนดาบอาญาสิทธิ์นี้
กระทั่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ผลักดันกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่ให้มีผลบังคับใช้เมื่อปลายปีที่แล้ว และในกฎหมายใหม่ได้ให้อำนาจเลขาธิการ ศอ.บต. (ผู้อำนวยการ ศอ.บต.เดิม) ให้เสนอย้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือถูกร้องเรียนจากประชาชนออกจากพื้นที่ได้ และล่าสุดเลขาธิการ ศอ.บต.ได้ใช้อำนาจนั้นแล้ว แต่ก็ถูกผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งยื่นฟ้องกลับ เพราะกฎหมายไม่ตัดสิทธิ์การอุทธรณ์หรือยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2554 เขาได้ออกคำสั่ง ศอ.บต.ให้ข้าราชการตำรวจที่ถูกราษฏรร้องเรียนจำนวน 9 นายออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใน 7 วัน ภายหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากราษฏรผู้เสียหายและได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายแล้วพบว่าข้อร้องเรียนมีมูล
เหตุการณ์ที่นำมาสู่การร้องเรียนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 มีราษฏรร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่มีตำรวจเข้าไปตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้น และได้ยึดเอาเงินสดและทรัพย์สินของผู้ร้องไปโดยไม่คืนให้ครบถ้วน ต่อมาได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกร้องเรียน รวมถึงศูนย์ดำรงธรรม ศอ.บต.ทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 9 นายได้ปฏิบัติตนและปฏิบัติราชการไม่เหมาะสมจนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนจริง จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มาตรา 12 ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหารวม 9 คนออกจากพื้นที่ภายใน 7 วันนับตั้งแต่ทราบคำสั่ง แม้กรณีดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 ก่อนการบังคับใช้กฎหมายใหม่ แต่คำสั่งให้ออกนอกพื้นที่สามารถมีผลบังคับใช้ได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2554 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บก.ปปป.ตร.) ร.ต.ท.สามารถ หิมวงศ์ อายุ 40 ปี และ ร.ต.ท.พิจิตร หยูหนู อายุ 30 ปี รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธร จ.นราธิวาส (รอง สว.กก.สส.บก.ภ.จว.นราธิวาส) พร้อมทนายความ ได้เข้าพบ พ.ต.ท.ฤกษ์ภูสิษฐ์ เนียมเล็ก พนักงานสอบสวน (สบ2) กองกำกับการ 6 บก.ปปป. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หลังจากที่ปรากฏชื่อผู้เสียหายทั้งสองคนในคำสั่ง ศอ.บต.ที่ 99/2554 ลงวันที่ 23 พ.ค.2554 เรื่องสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตำรวจทั้งสองนายเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายตำรวจทั้งสองระบุว่า สาเหตุที่ถูกคำสั่งย้ายออกนอกพื้นที่น่าจะมีมูลเหตุมาจากการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดและลักลอบค้าสัตว์ป่าในพื้นที่ จ.นราธิวาส ตั้งแต่ปี 2552 และ 2553 ซึ่งไปขัดขวางผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องแต่กลับถูกร้องเรียน ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม แต่เลขาธิการ ศอ.บต.กลับใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ออกคำสั่งโดยอ้างเหตุจากเรื่องร้องเรียนดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้
“มีแต่ตำรวจอยากจะย้ายออกนอกพื้นที่ แต่พวกผมที่ขออยู่ทำงานกลับถูกคำสั่งเช่นนี้จึงรู้สึกบั่นทอนกำลังใจมาก นอกจากนี้ยังทำให้พวกผมเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงอยากร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมด้วย” ร.ต.ท.พิจิตร กล่าว และว่าจะเข้าร้องขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยื่นอุทธรณ์ต่อ ศอ.บต. หากยังไม่เป็นผลก็จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป
เบื้องต้น พนักงานสอบสวน บก.ปปป.ได้รับเรื่องและสอบปากคำผู้ร้องไว้ในเบื้องต้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ก่อนส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาอีกครั้ง ส่วนนายตำรวจรายอื่นๆ อีก 7 นายที่ถูกออกคำสั่งย้ายออกนอกพื้นที่ในคราวเดียวกัน ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งถูกคนร้ายบุกปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 และนำมาสู่คดีความมั่นคงอันสลับซับซ้อนและเป็นปริศนาหลายคดี
2 นายอนุพงศ์ พันธชยางกูร หรืออดีตกำนัน ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี
3 นายสุไลมาน แนซา
ขอบคุณ : วัสยศ งามขำ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ วิศิษฎ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่น เอื้อเฟื้อข่าวจากกองปราบปราม
อ่านประกอบ :
- ความยุติธรรมกับราคาชีวิต "ทนายสมชาย - จ่าเพียร" และ "อับดุลเลาะห์ อาบูคารี"
http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/1751-q-q-q-q.html
- ป.ป.ช.ไม่รับสอบ "ภาณุพงศ์" ซ้อมผู้ต้องหาปล้นปืน ชี้ข้อกล่าวหาไม่มีมูล
http://www.isranews.org/south-news/Other-news/item/1526-qq.html