ผบ.ทบ.พลิกหนุนถก BRN มั่นใจไม่เพลี่ยงพล้ำ เอ่ยขอโทษ"ผู้เห็นต่างกลับใจ"
"ประยุทธ์" พลิกบทหนุนถกบีอาร์เอ็น ย้ำกระบวนการสันติภาพต้องเดินหน้าต่อ ขณะที่ 5 ข้อเรียกร้องอาจรับได้ไม่หมด ชูทีมพูดคุยมีขีดความสามารถ ไม่เพลี่ยงพล้ำแน่ ลั่นทุกอย่างเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ แนะให้ระวังกฎหมายระหว่างประเทศ แถมเอ่ยปาก "ขอโทษ" ในนามทหารกลางงานแสดงตนของ "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" แนะให้ลืมอดีตที่คับแค้นแล้วสร้างสันติสุขร่วมกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แสดงท่าทีอ่อนลงต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่คณะของเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำลังดำเนินการอยู่กับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ และกำลังมีการพิจารณาคำอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ขณะเดียวกันก็ได้เอ่ยปากขอโทษอย่างเป็นทางการในนามทหาร ต่อหน้ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ยอมแสดงตัวกับทางการตามโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ระหว่างเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ก.ย.2556
"การพูดคุยสันติภาพต้องดำเนินการต่อไป เพราะเป็นอีกภาพหนึ่งที่ต้องการทำให้ต่างชาติเข้าใจ แต่ผลการพูดคุยคงอีกนาน อย่าไปวิตกกังวลว่าเราจะไปเพลี้ยงพล้ำ เพราะเจ้าหน้าที่ของเรามีขีดความสามารถเพียงพอและมีหลักการในการพูดคุย การแก้ไขปัญหาต้องฟังคนสามส่วนด้วยกัน คือคนในพื้นที่ คนนอกพื้นที่ และต่างประเทศ ซึ่งทุกอย่างเราต้องทำตามกฎหมาย ตามกรอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องระมัดระวังในทุกๆ ด้าน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวที่กรมการขนส่งทหารบก กรุงเทพฯ ก่อนเดินทางลงพื้นที่
ผบ.ทบ.ระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ติดตามข้อเท็จจริงของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่าเกิดจากการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือเกิดจากภัยแทรกซ้อน หรือความขัดแย้งในพื้นที่ เพราะขณะนี้ยังมีหลายเหตุการณ์ที่น่าสงสัย
"การแก้ไขปัญหาในภาพรวมมีแนวโน้มและพัฒนาการที่ดีขึ้น ซึ่งเรามองในหลายมิติ ไม่ใช่เฉพาะความรุนแรงอย่างเดียว แต่มองไปถึงการรับรู้ของต่างประเทศด้วย ที่ผ่านมานายกฯได้เดินทางไปร่วมประชุมกับประเทศที่เกี่ยวข้องกับองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ผมทราบข้อมูลมาว่าการประชุมโอไอซีปีนี้ที่เกี่ยวกับเรื่องภาคใต้เป็นข้อมูลที่ดีทั้งสิ้น ความสำเร็จของเราวันนี้คือไม่ทำให้องค์กรเหล่านี้เกิดความไม่สบายใจ และไม่มีประเทศอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง"
5 ข้อบีอาร์เอ็นอาจตกลงไม่ได้ทั้งหมด
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะนายทหารระดับสูง ได้เดินทางไปที่หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมี พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งเรียกผู้บังคับบัญชาทุกพื้นที่มารายงานสถานการณ์และประชุมร่วมกับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บังคับการตำรวจด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า สถานการณ์โดยทั่วไปดีขึ้น การดำเนินการได้เน้นแก้ปัญหา 3 กลุ่ม คือ 1.ประชาชนในพื้นที่ 2.ประชาชนในประเทศ และ 3.ต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการปฏบัติหน้าที่ แม้จะมีกำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มาก แต่ไม่ได้หมายถึงว่าต้องใช้กำลังปราบปรามอย่างเดียว
ส่วนการพูดคุยสันติภาพนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการแสดงออกถึงการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีของไทย ส่วนผลจะสำเร็จหรือตกลงกันอย่างไรเป็นเรื่องอนาคต ไม่ใช่วันนี้ แต่เป็นการเริ่มที่จะก้าวเดินต่อไป ที่จะหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อขจัดข้อขัดแย้ง
"ยืนยันเสมอว่าต้องใช้กฎหมายไทย รัฐธรรมนูญไทย และต้องระมัดระวังกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์กรสากลที่เกี่ยวข้อง" ผบ.ทบ.กล่าว และว่าสำหรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นนั้น อาจไม่สามารถตกลงได้ทั้งหมด และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตกลงใดๆ เพราะยังติดข้อกฎหมายหรือปัจจัยอื่นๆ แต่ขออย่าวิตกกังวลมาก เพราะถ้ายิ่งขยายประเด็นที่เรียกร้องสุดท้ายอาจจะผิดก็ได้
ร่วมงาน"ผู้เห็นต่าง"แสดงตัว143คน
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ได้เดินทางต่อไปที่โรงเรียนยะหาศิรยานุกูล อ.ยะหา จ.ยะลา เพื่อร่วมเป็นเกียรติในการรายงานตัวแสดงตนของ "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" เพื่อเข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยเฉพาะกิจยะลา จำนวน 143 คน ประกอบด้วย อ.รามัน 10 คน อ.บันนังสตา 6 คน อ.เมือง 3 คน อ.ธารโต และ อ.เบตง จำนวน 35 คน และ อ.ยะหา กับ อ.กาบัง จำนวน 89 คน โดยมีข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนญาติพี่น้องของผู้เห็นต่างจากรัฐเข้าร่วมงาน
พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 (ผบ.ฉก.ทพ.47) กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้นำนโยบาย "สานใจสู่สันติ" ไปสู่การปฏิบัติในโครงการ "พาคนกลับบ้าน" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ หรือผู้ที่ต่อสู้กับรัฐด้วยวิธีรุนแรง หันมาแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี โดยการออกมารายงานตัวแสดงตน
แต่เนื่องจากบุคคลที่หลงผิดยังขาดข้อมูลที่ถูกต้อง หรืออาจมองไม่เห็นช่องทางในการออกมาแสดงตน ทั้งยังขาดคนชี้นำ ให้คำปรึกษาในกระบวนการแสดงตน ประกอบกับผลสืบเนื่องจากการกระทำที่ผิดพลาดหรือผิดกฎหมายของตนเองในขณะที่เข้าร่วมในขบวนการ ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน.จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะกรรมการอำนวยความสะดวกด้านกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้รายงานตัวแสดงตนเพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการ รณรงค์ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
รวมยอดทั้งโครงการร่วม 1 พันคน
ที่ผ่านมามีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ออกมาแสดงตนโดยการช่วยเหลือด้านกฎหมายและทนายความ ทำให้ผู้เห็นต่างจากรัฐมีความเข้าใจ และเห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐในการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ทำให้ผู้ที่มีความเห็นต่างเข้ามารายงานตัวแล้วทั้งสิ้น 983 ราย ได้ดำเนินการช่วยเหลือเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 648 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 335 ราย ตามรายละเอียดคือ
ผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 473 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการ 280 ราย
ผู้ที่มีหมาย ป.วิอาญา ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 7 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 41 ราย
ผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ป.วิอาญา ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 7 ราย อยู่ในระหว่างการดำเนินการ 14 ราย
ผู้ที่ไม่มีหมายแต่หวาดระแวง ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 161 ราย
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ตรวจสอบข้อมูลบุคคลผู้รายงานตัวแสดงตน 2.อำนวยความสะดวกและให้การช่วยเหลือด้านกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการพิจารณาให้การสงเคราะห์เยียวยา และ 3.การประสานและจัดทำข้อมูลผู้มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ หมาย ป.วิอาญา
ผบ.ทบ.เอ่ยขอโทษในนามทหาร
ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวกับผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าร่วมโครงการว่า รู้สึกดีใจที่ทราบว่าพี่น้องทุกคนมีความต้องการที่จะร่วมกันยุติปัญหาความรุนแรงในพื้นที่โดยสันติวิธี ซึ่งที่ผ่านมาเป็นร้อยปีที่ทุกคนเกิดความคับแค้นใจอะไรต่างๆ นั้น ตนในฐานะของทหารต้องขออภัยและขอโทษกับทุกสิ่งที่ผ่านมา เวลาไม่สามารถย้อนกลับไปได้ แต่ก็สามารถเริ่มต้นกันใหม่ได้ และหวังว่าในวันนี้ซึ่งเป็นวันดีวันหนึ่ง ทุกคนจะร่วมกันสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยเร็ว
วันเดียวกัน ที่ศาลาบำเพ็ญกุศล 1 มูลนิธิแม่กอเหนี่ยวยะลา ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.ต.สันติชัย ศาสน์ประดิษฐ์ ที่เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายยิงถล่มเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2556 ระหว่างลงพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เพื่อหาข่าวกลุ่มค้าน้ำมันเถื่อน โดยเสียชีวิตพร้อมเพื่อนตำรวจรวม 5 นาย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผบ.ทบ.ขณะลงพื้นที่ จ.ยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
ขอบคุณ : ข่าวบางส่วนของ จ.ปัตตานี โดย ปาเรซ โลหะสัณห์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คมชัดลีกประจำจังหวัดปัตตานี และข่าวคำขอโทษของ พล.อ.ประยุทธ์ โดย นครินทร์ ชินวรโกมล ผู้สื่อข่าวและช่างภาพเครือเนชั่นประจำจังหวัดยะลา