“ผู้ดูแล”ศูนย์อาหารราชการฯ ยันเงินประกันไม่หาย ใช้ซื้อ"จาน-ชาม"แจกแล้ว
“อิศรา” บุกพิสูจน์ปัญหาความขัดแย้งในร้านอาหาร ศูนย์ราชการ “ผู้ดูแล” ควงคู่ เจ้าหน้าที่ ธพส. แจ้งทุกประเด็นข้อสงสัย ยันเงินประกัน 15,000 บาท ไม่ล่องหน เอามาลงทุนซื้อจานชามให้แล้ว อ้างทำบัญชีใช้จ่ายชัดเจน จดละเอียดทำอะไรไปบ้าง แต่ไม่มีให้ดู เพราะลืมเอามา ด้าน ธพส. โยนผู้ประกอบการแก้ปัญหาเอง ส่วนผู้ร้องเรียน เริ่มถอดใจ รู้สึกเหมือนสู้อยู่ตามลำพัง บอกทำใจแล้ว หากไม่สามารถขายอาหารต่อไปได้
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการในศูนย์อาหารซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์ราชการซึ่งเป็นพื้นที่ของ ธพส. ว่าตนได้รับความไม่เป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดูแลศูนย์อาหารที่ได้รับอนุมัติจาก ธพส. ให้บริหารจัดการดูแลความเรียบร้อยในศูนย์อาหารโซน 4
(อ่านประกอบ : ร้านอาหาร ศูนย์ราชการ โวย ผู้ดูแล ส่อ เบี้ยว “เงินประกัน” นับแสน)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้เดินทางไปยังศูนย์อาหารดังกล่าว ได้พบกับนายวีรวัช กันหา หรือ “โต้ง” ผู้ดูแลศูนย์อาหารและเจ้าหน้าที่ ธพส. (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหานี้
โดยนายวีรวัชได้ชี้แจงในประเด็นสำคัญคือกรณีการทวงถามเงินจำนวน 15,000 บาท, ที่มาของการก้าวเข้ามารับหน้าที่บริหารดูแลศูนย์อาหาร รวมถึงแจงสิทธิ์ของตนในการเปิดร้านน้ำในศูนย์อาหาร
“เงิน 15,000 บาท คือเงินลงทุนซื้อจานชาม เราลงทุนกันตอนแรก 7-9 ร้าน จากนั้นก็มีร้านค้ามาเพิ่มก็ลง ขันกันอีกร้านละ 15,000 บาท วันนี้ เมื่อต้องการความชัดเจนก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเงินซื้อจานชาม แต่ในที่ประชุม ขอให้มีใบเสร็จว่าเป็นเงินประกัน ถามว่าเงินนี้ไปไหน เงินนี้ก็อยู่ในศูนย์อาหารนี้ อย่างร้านราดหน้า ไปนับจานดูได้ครับ เกือบ 15,000 บาทแล้ว จาน ชาม ช้อน ไม่ได้สูญไปไหน อยู่ในนี้ทั้งหมด ตอนนี้ เราแค่อยากจะทำความชัดเจนว่ามันคือส่วนที่เรามาซื้อจานชามกัน ไม่มีความรุนแรง ที่บอกว่าถ้าไม่ยอมก็ออกไป แบบนั้นไม่มี ที่นี่ค่าเช่าก็ถูก แล้วผู้ประกอบการก็มีกำไรกันทุกคน เงินส่วนนี้เป็นส่วนกองกลาง ทุกร้านก็ใช้จากเงินกองกลางนี้เอง จาน ชาม ถูกแจกไปหลังร้าน คุณเดินดูได้ว่ามหาศาลขนาดไหน คำที่ใช้ว่า อุ๊บอิ๊บ นั้น แรงมากนะ เงินไม่ได้หายไปไหนเลย ” นายวีรวัชกล่าว
เมื่อถามว่า สรุปแล้ว เงินจำนวน 15,000 บาท ที่มีผู้ประกอบการทวงถาม จะไม่มีใครได้คืนเพราะถูกนำมาใช้ซื้อจานชามแล้วใช่หรือไม่ นายวีรวัช ตอบว่า “ครับ ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย”
นายวีรวัช ยังกล่าวยืนยันว่า ตนจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายและรายการซื้อวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ครบถ้วนทุกครั้ง
“ประชุมกันทุกครั้ง ผมมีบัญชีทุกครั้ง ผมทำบัญชีอย่างละเอียดรอบคอบ วันนี้ไม่ได้นัดล่วงหน้า คราวหน้าจะเอาบัญชีมาให้ดู จดละเอียดเลย ว่าเงินสองแสนเจ็ดหมื่น เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่สองแสนสี่นะครับ มีสองแสนเจ็ด ทำบัญชีไว้หมดเลยว่าเพื่อเอามาใช้เป็นกองกลางร่วมกัน ซื้อถังขยะใบเดียวเราก็จด”
ส่วนการเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารดูแลจัดการศูนย์อาหารโซน 4 นั้น นายวีรวัช กล่าวว่าหลังจาก เดอะ มอลล์ปิดศูนย์อาหารโดยไม่แจ้งพ่อค้า-แม่ค้า ตนก็โทร.เรียก 9 ร้านให้มาคุยกับ ธพส.
“มี 7-9 ร้านที่ขึ้นไปวันนั้น ลงลายเซ็นให้ผมเป็นผู้ดูแลศูนย์อาหาร แล้ว ธพส.ก็อนุมัติอย่างตามขั้นตอน”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบมาว่าผู้รับรู้และเห็นชอบในการแต่งตั้งนายวีรวัชเป็นผู้ดูแลศูนย์อาหารคือ ผอ.ที่มีชื่อว่า “อ๊อด” ซึ่งตอนนี้เลื่อนตำแหน่งไปรับผิดชอบด้านอื่นใน ธพส. แล้วนั้น ได้มีการเซ็นรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ นายวีรวัชตอบว่า ผอ.ไม่ได้เซ็น แต่ผู้ที่เซ็นรับรองคือแม่ค้าหรือผู้ประกอบการทั้ง 7-9 ร้าน
“แม่ค้านี่แหละเซ็นแต่งตั้งให้ผมเป็นผู้ดูแล”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงที่มาของการดูแลร้านน้ำ นายวีรวัช ตอบว่า “ตอนนั้น ตกลงกันว่าจะมีการบริหารจัดการร้านน้ำ แต่มันติดตรงที่มีการเซ็นชื่อผมไปแล้ว ถ้าเปลี่ยนก็จะติดว่าใครจะมาดูแลตรงนี้ ก็เลยตัดสินใจกันว่าก็ส่งไปก่อน แล้ว 3 เดือนก็ค่อยมาเปลี่ยนผู้ดูแล แต่เสียงส่วนใหญ่ก็ยังมอบให้ผมเป็นผู้ดูแล ส่วนตอนแรกก็ตกลงว่าจะลงขันกันเปิดขายร้านน้ำจริง แต่ต่อมาก็มีคนเสนอว่ามันวุ่นวายเกินไป ก็ให้ผู้ดูแลศูนย์อาหารดูแลร้านน้ำไปเลย เพราะผู้ที่มาทำหน้าที่ดูแลศูนย์อาหาร ทำโดยไม่ได้รับเงินเดือนจาก ธพส. นะ รายได้คือมาจากร้านน้ำ หากวันหน้ามีผู้ดูแลคนใหม่ที่ไม่ใช่ผม ผู้ดูแลคนนั้นก็จะได้ร้านน้ำไปด้วย เป็นสิ่งที่ตกลงร่วมกัน”
ทั้งนี้ นายวีรวัชตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “ร้านน้ำนั้นว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ผู้ที่ออกมาร้องเรียนก็อาจจะเป็นเพราะอยากได้ร้านน้ำ”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามเจ้าหน้าที่ ธพส. ที่นั่งรับฟังอยู่ด้วยว่าเหตุใดการแต่งตั้งไม่มีผู้บริหารของธพส. เซ็นลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ของ ธพส.ว่า “ธพส. ถือว่าเมื่อร้านค้ายอมรับกันเองว่าใครคือคนที่มาดูแลเขา เขาก็แต่งตั้งกันเอง เป็นคนที่ร้านค้ายอมรับ ผอ. แค่นำเสนอว่ากลุ่มคน 9 คนนี้เดือดร้อนนะ แค่รับรู้ว่าเขาเคยขาย ไม่มีที่ขายทำไงดี ทุกคนก็เซ็นลงนามกัน แล้ว ผอ.อ๊อด ก็คงขออนุมัติไปตามขั้นตอน ซึ่งทุกอย่างก็ต้องมีขั้นตอน เป็นไปตามระบบทั้งการอนุมัติพื้นที่ อัตราค่าเช่า”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า สรุปแล้วการแต่งตั้งนายวีรวัชในครั้งนั้น ไม่มีลายลักษ์อักษรของ ผอ.ผู้รับผิดชอบศูนย์อาหาร ร่วมลงนามเป็นพยานใช่หรือไม่ เจ้าหน้าที่ ธพส. ตอบว่า “มันคือการยอมรับของเสียงส่วนใหญ่ ว่าถ้าในศูนย์อาหารมีปัญหาอะไรที่คุณโต้ง ( วีรวัช ) แก้ไขได้ เขาก็จะแก้ไขไปก่อน อย่างท่อเสีย ก๊อกรั่ว”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรณีร้องเรียนเรื่องเงิน 15,000 บาท จะมีการจัดประชุม โดยเชิญเจ้าหน้าที่ ธพส.มาร่วมรับฟังและหาทางออกหรือไม่ และ ธพส. มีแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร
เจ้าหน้าที่ ธพส. รายนี้กล่าวว่า “เรื่องเงิน 15,000 บาท มันเป็นสิ่งที่ทุกร้านทราบตั้งแต่แรก มันเป็นเงินของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะแนวทางไหน มันก็จะเป็นแนวทางที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะเป็นไปในแนวทางไหน การประชุมอีกครั้งคงจะจัดตอนต้นสัปดาห์หน้า เราก็อยากให้เคลียร์คัท ก็ดูความพร้อมของแต่ละคนว่าสามารถมาประชุมได้ไหม และจะเชิญผู้สื่อข่าวอิศรามาร่วมรับฟังการประชุมด้วย”
ขณะที่เจ้าหน้าที่ ธพส.อีกคนหนึ่ง ที่ร่วมรับฟังการสนทนา กล่าวว่าเดิมทีเราตั้งใจจะนัดประชุมภายในอาทิตย์นี้ แต่เมื่อเห็นข่าวนี้เราก็ชะลอเรื่องการประชุมไว้ก่อน “ถ้าจะจัดประชุม เราก็จะมีการถามว่าใครยอมรับหรือไม่ยอมรับอย่างไร ในประเด็นเงิน 15,000 ซึ่งคุณโต้งก็แจ้งว่าส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไร ยอมรับในเงื่อนไข เราก็จะจัดประชุม สรุปทุกอย่าง”
ส่วนประเด็นเรื่องการเลือกผู้บริหารหรือผู้ดูแลศูนย์อาหารคนใหม่ ที่ถูกเสนอไว้ในจดหมายร้องเรียนฉบับหนึ่งที่ยื่นต่อธพส.นั้น เจ้าหน้าที่ ธพส. รายนี้อธิบายว่า “เรื่องเลือกผู้บริหารคนใหม่ เราก็จะถามเรื่องนี้ในที่ประชุม คือถ้าทุกคนจะเลือกคุณโต้ง เราก็จะยอมรับในเสียงส่วนใหญ่ ในหลักการประชาธิปไตย ถ้าไม่ใช่คนที่เลือกโดยเสียงส่วนใหญ่ เขาก็จะไม่ได้รับการยอมรับ คือถ้าจะเลือกใครก็เป็นมติของเขาเอง ไม่ใช่มติของทางเรา”
ขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามผู้ประกอบการบางรายในศูนย์อาหารถึงกรณีเงินประกัน 15,000 บาท พบว่าส่วนใหญ่ปฏิเสธจะให้ข้อมูลโดยอ้างว่า ไม่รู้ ให้ไปถามผู้ดูแลศูนย์อาหารคือคุณโต้ง ด้วยตนเอง
ขณะที่ร้าน มานาทิพย์ กล่าวว่า “ร้านนี้ไม่มีปัญหาอะไรเลย เราก็คืนใบเสร็จเขาไปแล้ว ไม่มีใครยุ่งยากหรือมีปัญหาเลยนะ”
ด้านแหล่งข่าวที่เป็นผู้ประกอบการซึ่งยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ธพส. กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า ในวันนี้ ตนถอดใจแล้ว รู้สึกเหมือนสู้อยู่ตามลำพังและทำใจแล้วหากไม่สามารถขายอาหารต่อไปได้ แต่ก็ยังขอทวงถามข้อเท็จจริงอีกด้านว่า
“เรื่องเงิน 15,000 บาท เป็นเงินที่เราลงขันกันเพื่อซื้อจานชามจริง แต่เหตุการณ์จริงในตอนนั้นคือ ทั้ง 7 ร้านเห็นตรงกันว่าเราควรจะนำเงินอีกก้อนมาลงทุนเปิดร้านน้ำ ให้ร้านน้ำเป็นร้านที่เราทุกคนร่วมทุนกันเปิด แล้วกำไรที่ได้มาก็เอามาซื้อจาน ชาม ส้อม กระดาษทิชชู่ เอามาทำศูนย์อาหารของเราให้สวย ให้สะอาด แต่ก็กลายเป็นว่า ผู้ดูแลเขาเสนอว่าเขาขอร้านน้ำได้ไหม ก็นำไปสู่ข้อตกลงว่าจากนี้ผู้ดูแลศูนย์อาหารจะเป็นเจ้าของร้านน้ำด้วย คือนำกำไรที่ได้มาเป็นเงินเดือนของผู้ดูแล ใช่ ตรงนี้เราเข้าใจตรงกัน แต่เราก็ตกลงกันว่ากำไรร้านน้ำเดือนๆ หนึ่ง ได้เยอะมากนะ คุณก็ควรจะกันเงินกำไรที่ได้จากร้านน้ำ มาซื้อจาน ชาม ให้เรา ซึ่งหมายความว่าเมื่อคุณได้ร้านน้ำไปแล้ว กำไรที่ได้ก็ต้องนำมาซื้อจานชาม ดังนั้น เงินหมื่นห้าก้อนนี้ ทุกคนจะได้คืน เพราะจานชามในศูนย์อาหาร เขาตกลงกับเราว่าจะนำกำไรจากร้านน้ำไปซื้อ”
แหล่งข่าวกล่าวว่าผู้ประกอบการอย่างน้อย 7-9 ร้าน ก็เข้าใจตรงกันในตอนนั้น แล้วต่อมาผู้ดูแลก็ชี้แจงว่า กำไรจากร้านน้ำไม่ได้มาเป็นก้อน หากจะคืน ก็ขอคืนให้ในวันที่เลิกกิจการ โดยจะเก็บจากร้านที่มาขายใหม่ในจำนวนเท่ากันคือ 15,000 บาท แล้วจะเอาเงินจากร้านใหม่มาคืน
“ทุกคนก็เข้าใจตรงกัน เราเข้าใจ แต่ก็กลับเกิดเรื่องขึ้นมาเมื่อเราเพียงแค่ทำหนังสือทวงถาม เพราะเราต้องการความชัดเจนว่าตอนนี้สถานะเงินหมื่นห้าของเราเป็นอย่างไร เงินของเราอยู่ตรงไหน ก็กลายเป็นว่าถ้าอยากได้เงินคืนก็ต้องย้ายออกไป ส่วนใบเสร็จ ก่อนนี้เป็นเพียงการตกลงด้วยวาจา แต่ต่อมาเราก็สรุปกันว่าขอทำเป็นใบเสร็จย้อนหลัง เขาก็บอกว่าถ้าจะทำเป็นใบเสร็จรับเงินขอใช้คำว่าเงินประกัน”
….......
(อ่านประกอบ : ดูชัดๆ 8 พฤติกรรมน่าสงสัย ผู้ประสานงาน ธพส. คุมร้านอาหารศูนย์ราชการ?)