Car Free Day: 'เมืองพาหนะส่วนรวม' ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง
เป็นระยะเวลานานติดต่อกันถึง 13 ปี ที่ทุกวันที่ 22 กันยายน ของทุกปี กรุงเทพมหานครจัดงานรณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือ Bangkok Car Free Day พร้อมกับทุกประเทศทั่วโลก ที่ร่วมใจกันยกให้เป็น 'วันปลอดรถสากล World Car Free Day' ร่วมรณรงค์ให้ประชาชน "งด" ใช้รถยนต์ส่วนตัวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า รถประจำทาง จักรยาน และการเดินเท้าในการเดินทางแทน
เช่นเดียวกับในปีนี้ ที่กรุงเทพมหานคร จัดโครงการ Bangkok Car Free Day 2013 ขึ้น ภายใต้แนวคิด "Share the Road" หรือ "เดินทางร่วมกัน วันพาหนะส่วนรวม" รณรงค์ให้เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้ง รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน บีอาร์ที รถประจำทางและรถจักรยาน
จากสถิติของกรมการขนส่งทางบก ระบุถึงจำนวนรถจดทะเบียนสะสมในเขตกรุงเทพมหานคร ต้นปี 2556 ถึงเดือนกรกฎาคมมีถึง 8,000,000 คัน รถจดทะเบียนใหม่ปี 2556 ณ เดือนกรกฎาคม มีมากถึง 715,341 คัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละกว่า 100,000 คัน
ขณะที่มีข้อมูลของสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) จดสถิติพบว่า อัตราความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางบนถนน ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ปี 2554 - 2556 พบว่า นอกจากเกิดวิกฤตจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ยังขยายไปถึงพื้นที่ถนนในเขตกรุงเทพมหานครชั้นกลางอีกด้วย เช่น ถนนงามวงศ์วาน ลดลงร้อยละ 27 ถนนศรีอยุธยา ลดลงร้อยละ 17 ถนนสุขุมวิท ลดลงร้อยละ 11 ถนนพหลดยธิน ลดลงร้อยละ 5.5 และถนนรัชดาภิเษก ลดลงร้อยละ 4
ในเวทีเสวนาหาคำตอบ... ทำอย่างไร...ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองพาหนะส่วนรวม? ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้น ณ ห้องประชุมจิ๊ด เศรษฐบุตร อาคารคณะนิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมีน.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร A Day และนางสรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง ประสบการณ์ ทางออกในการแก้ปัญหาจราจรติดขัด ด้วยการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองพาหนะส่วนรวม
พล.ต.ต.ปิยะ เริ่มต้นสะท้อนปัญหาในฐานะผู้ปฏิบัติงานว่า ปัญหาจราจรเป็นปัญหาวิกฤติ นับเป็นวาระแห่งชาติที่ปัจจุบันทวีความเลวร้ายเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับคาดว่า อีก 3 ปีนับจากนี้ ปัญหาการจราจรจะดีขึ้น เพราะระบบรถไฟฟ้าหลายสายใกล้จะสร้างเสร็จแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพของคน รถ การบริการของรถขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น ควบคู่กันไปด้วย
"แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะใช้บริการรถสาธารณะไม่มากนัก และยังเลือกขับรถยนต์ส่วนตัวอยู่ แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะมาลิดรอนสิทธิการใช้ท้องถนนกับประชาชน โดยที่รัฐยังไม่มีสิ่งสนับสนุนขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพรองรับไว้ให้ประชาชน
ผมว่าภาครัฐจะต้องสนับสนุนการขนส่งมวลชนทั้งระบบให้ดี เชื่อมโยงกันได้ ถึงวันั้นเชื่อว่าประชาชนลดและเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัว แล้วหันมาใช้พาหนะส่วนร่วมได้เอง"
ผบก.จร.บอกด้วยว่า หากจะให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว รัฐก็ต้องสนับสนุนการการเดินทางรูปแบบต่างๆ ด้วย เช่น การเดินทางด้วยจักรยานที่ขณะนี้มีผู้หันมาเดินทางด้วยวิธีนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีปัญหารถยนต์ส่วนบุคคลจอดทับเลนจักรยานอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งทางกองบังคับการตำรวจจราจรได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการวางเส้นทางต้นแบบ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแล้ว
ในระดับนโยบาย นางสาวตรีดาว เผยว่า ขณะนี้ กทม.มีแนวคิดเรื่อง "การสร้างการขนส่งมวลชนอย่างยั่งยืน" (Sustainable Transport) มุ่งเน้นรองรับการเดินทางของคนส่วนใหญ่มากกว่าเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว
แต่การจะก้าวไปสู่เมืองพาหนะส่วนรวมได้ โฆษก กทม. ชี้ว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการเสียสละความสุขสบายส่วนตัว ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ระบบขนส่งมวลชน หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น เพื่อร่วมกันสร้างเมืองที่ให้สิทธิพิเศษแก่ระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ
โดย กทม.วาง 9 มาตรการหลัก เพื่อสนับสนุนการขนส่งอย่างยั่งยืนไว้แล้ว ได้แก่
1.จัดสิทธิพิเศษถนนใหม่ ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะ
2.ต่อขยายโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้าบีทีเอส) ให้เป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก
3.เปิดให้บริการรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที แยกการเดินรถออกจากการจราจรปกติ
4.พัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวและรถไฟฟ้าขนาดเบา
5.เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสัญจรในคลอง ปรับปรุงท่าเทียบเรือ เชื่อมต่อกับรูปแบบการเดินทางอื่นๆ
6.จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงทุกระบบ เช่นระบบรถโดยสารระยะสั้น จุดจอดแล้วจร
7.ปรับปรุงบาทวิถี
8.เพิ่มเติมเส้นทางจักรยาน เพิ่มความปลอดภัยด้วยการสร้างเสน้ทางจักรยาน
9.รณรงค์สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนให้หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน
และขณะนี้กำลังจ้างที่ปรึกษามาศึกษาโครงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าโมโนเรลสายแรกอีก 4-5 ปีข้างหน้าในเส้นวัชรพล-ทองหล่อ
อย่างไรก็ตาม โฆษกกทม. มองว่า 'ทัศนคติ' ของคน เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาไปสู่เมืองพาหนะส่วนรวม ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ระบบขนส่งมวลชน จักรยานและคนเดินเท้ามากกว่ารถยนต์ส่วนตัว
"หากประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นว่า การใช้รถยนต์ส่วนตัวสบายกว่า ต่อให้มีระบบขนส่งสาธารณะมากแค่ไหนคนก็ไม่ใช้บริการ ฉะนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องทำงานอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงกัน ซึ่ง กทม.ก็เคยคิดหาที่จอดรถ 4 มุมเมือง เพื่อให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างเชื่อมโยง แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครยอมสละพื้นที่ให้"
การทำให้ 'เมืองพาหนะส่วนรวม' เกิดขึ้นได้จริง นางสาวตรีดาว เห็นว่า ต้องทำให้จักรยานใช้บนถนนได้จริง ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เลนจักรยานเป็นของผู้ใช้จักรยานจริงๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่ง กทม.ได้ทำเส้นกั้นเลนจักรยานบริเวณถนนหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งสนามหลวงไปจนถึงใต้สะพานปิ่นเกล้าและมีแผนให้เกาะรัตนโกสินทร์เป็นเส้นทางต้นแบบ
อีกทั้ง ได้วางเส้นทางจักรยานใหม่ทั้งหมด 39 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจาณาเชื่อมต่อเส้นทางอื่นๆ โดยจะให้สำนักจราจรและขนส่งจะลงพื้นที่ขี่จักรยานสำรวจด้วย เพื่อให้ทราบอุปสรรคในแต่ละเส้นทาง
ด้านนางสรณรัชฎ์ บอกว่า มีหลายประเทศที่พยายามผลักดันเรื่อง 'เมืองพาหนะส่วนรวม' มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับระบบขนส่งมวลชนและลดความสะดวกสบายในการใช้รถยนต์ส่วนตัวให้น้อยที่สุด เช่น เดนมาร์ก ใช้จักรยาน เวียดนามใช้ระบบขนส่งมวลชน โดยอาจใช้กลไกเก็บค่าจอดรถในราคาสูง หรือจัดพื้นที่จอดรถส่วนตัวน้อย
"กรณีตัวอย่างเหล่านี้ภาครัฐควรถอดบทเรียนอย่างจริงจังและกำหนดเป็นนโยบายว่าจะลำดับความสำคัญอย่างไรในการเดินทางของประเทศอย่างไร หากไม่ลดการอำนวยความสะดวกของรถยนต์ส่นตัว การใช้จักรยานหรือการขนส่งรูปแบอื่นจะเกิดขึ้นได้ยาก"
ในฐานะผู้รณรงค์และเชิญชวนให้คนหันมาใช้จักรยานในการเดินทาง และเคยนำเสนอเรื่องราว การใช้จักรยานผ่านนิตยสาร a day มาแล้ว "ทรงกลด" บอกว่า เหตุผลหนึ่งดึงดูดให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้นทั่วโลก เพราะการขี่จักรยานเป็นการแสดงออกถึงความขบถ แต่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เลยดูเท่ ดูอินดี้
แต่สำหรับคนไทยส่วนมากมองพาหนะที่ใช้เดินทางเป็น 'เฟอร์นิเจอร์' หรือ 'เครื่องแสดงสถานะ' มากกว่าใช้เพื่อเดินทาง ถ้าอยากให้คนใช้จักรยานมากขึ้น เขาเห็นว่า ต้องมองข้ามจุดนี้ไปให้ได้
"ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้แก้ปัญหาจากตัวเอง เริ่มต้นการแก้ปัญหาโดยมองผู้อื่นผิดก่อน แก้ที่ผู้อื่นก่อน ทางแก้จึงต้องให้มองเห็นปัญหาร่วมกัน เริ่มต้นที่ตัวเอง เปลี่ยนรูปแบบความคิดจากเคร่งครัดกับผู้อื่น ผ่อนปรนกับตนเอง เป็นเคร่งครัดกับตนเอง ผ่อนปรนกับผู้อื่น ผมว่าโลกจะดีขึ้น อย่างผมไม่ได้นั่งเครื่องบินในประเทศมา 3 ปีแล้ว ใช้รถไฟหรือรถทัวร์เดินทางแทน รวมถึงเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัวไปกลับที่ทำงานมา 10 ปี เพราะมองว่า รถเป็นพาหนะที่พาไปยังจุดหมายเท่านั้น"
แม้การเริ่มต้นจับจักรยานมาสัญจรในถนนกรุงเทพฯ ดูเป็นเรื่องน่ากลัว และเป็นไปได้ยากกับสภาพจราจรเช่นนี้ บก.นิตยสาร A Day แนะนำให้คนไทยลองใช้จักรยาน โดยอาจเริ่มด้วยเส้นทางและช่วงเวลาที่คุ้นเคยและขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ
Car Free Day ปีนี้ กทม.ได้จัดทำเข็มกลัดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปในราคาชิ้นละ 50 บาท เพื่อใช้บริการระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบ ได้แก่ รถไฟฟ้า BTS รถโดยสาร BRT รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT รถไฟฟ้า Airport Link รถประจำทางขสมก. เรือด่วนเจ้าพระยา จักรยานเช่าสาธารณะ ปัน ปั่น และรถรางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ในวันอาทิตย์ที่ 22 กันยาน 2556 ตั้งแต่เวลา 06.00 - 24.00 น. ได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม