แกะรอยเอกสาร BRN (ตอน 2) จัดทีมพูดคุยใหม่ - ยันไม่แยกดินแดน
หลังจาก "ทีมข่าวอิศรา" ได้รายงานคำแปลสรุปของฝ่ายความมั่นคงที่ถอดความจากเอกสารความยาว 38 หน้าอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ซึ่งส่งถึง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย
และปรากฏว่าบีอาร์เอ็นได้อธิบายข้อเรียกร้องอย่างละเอียด พร้อมเสนอเงื่อนไขแลกเปลี่ยนการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องแต่ละข้อเป็นการหยุดยิงหรือหยุดปฏิบัติการทางทหารตามกรอบเวลาที่กำหนดในปี 2557 นั้น
ล่าสุดแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงเปิดเผยเพิ่มเติมว่า เอกสารที่ได้อธิบายข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ ในช่วง 2-3 หน้าแรกจากทั้งหมด 38 หน้า มีคำอธิบายทั่วไป และข้อเสนอเบื้องต้นของบีอาร์เอ็นหากรัฐบาลไทยยอมรับในหลักการของข้อเรียกร้อง 5 ข้อ และนำไปสู่กระบวนการพิจารณาของฝ่ายไทยด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของคำอธิบายทั่วไป บีอาร์เอ็นสรุปว่าการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อนั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องยอมรับทันทีหรือยอมรับทั้งหมด แต่ขอให้ยอมรับในหลักการเพื่ออภิปรายในรายละเอียดกันต่อไป
อย่างไรก็ดี ทันทีที่มีการยอมรับข้อเรียกร้องใดๆ จะต้องถูกนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา และกระบวนการพิจารณาต้องกระทำในฐานะ "วาระแห่งชาติ" อันจะปูทางไปสู่การหยุดยิงและข้อตกลงสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
จัดทีม"ชุดใหญ่"รอถกรัฐบาลไทย
แหล่งข่าวเปิดเผยต่อว่า สำหรับข้อเสนอเบื้องต้นเมื่อรัฐบาลไทยยอมรับในหลักการของ 5 ข้อเรียกร้องนั้น ได้แก่ บีอาร์เอ็นจะร่วมพูดคุยครั้งต่อไป (ซึ่งในเอกสารนับเป็นครั้งที่ 5) และจะมีการปรับเปลี่ยนคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นเพื่อความเหมาะสม โดยเพิ่มผู้แทนฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมความเป็นตัวแทนของชุมชนปาตานีมาเลย์
คณะพูดคุยที่ปรับใหม่จะประกอบด้วย
1.หัวหน้าคณะจากบีอาร์เอ็น
2.สมาชิกบีอาร์เอ็น 3 คน คือ เลขานุการหรือฝ่ายเลขาธิการ, ฝ่ายอูลามา และฝ่ายเยาวชน
3.สมาชิกพูโล 2 คน
4.สมาชิกบีไอพีพี
5.ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
6.ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์
7.ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์
8.ผู้เชี่ยวชาญประเด็นทางสังคม เช่น การศึกษา ภาษา และวัฒนธรรม
9.ตัวแทนกลุ่มผู้หญิง คนชรา เด็ก และคนพิการ
10.ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารและการปกครอง
11.นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวระดับชุมชน
12.นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวระดับนักเรียน
ตั้งเงื่อนไขรับหลักการ 5 ข้อเลิกแยกดินแดน
แหล่งข่าวเผยอีกว่า ในข้อเสนอเบื้องต้นหลังจากไทยยอมรับหลักการของข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ยังระบุด้วยว่า บีอาร์เอ็นจะเริ่มพูดคุยเรื่องการลดปฏิบัติการทางทหาร และจะไม่เรียกร้องเรื่องแบ่งแยกดินแดนจากราชอาณาจักรไทย
สำหรับการปรับคณะพูดคุยสันติภาพแบบ "ปรับใหญ่" ของบีอาร์เอ็นดังกล่าว ทำให้สมาชิกในคณะพูดคุยครบเต็มจำนวน 15 คนตามที่เคยวางกรอบกันไว้เมื่อครั้งลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ 28 ก.พ.2556 ขณะที่ในการพูดคุย 3 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายมีผู้เข้าร่วมเป็นคณะพูดคุยไม่ถึง 15 คน แต่จะอยู่ระหว่าง 9-12 คน
ส่งสัญญาณยกระดับ "พูดคุย" สู่ "เจรจา"
แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ยังตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเสนอเบื้องต้นของบีอาร์เอ็น กับคำอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อ พร้อมเงื่อนไขแลกกับการหยุดยิงถาวรนั้น ในการพิจารณาต้องระมัดระวังและใช้ความรอบคอบอย่างที่สุด เนื่องจากหลายข้อความยังคงกำกวมและน่าจะมีการซ่อนเงื่อนปมเอาไว้
เช่นเดียวกับการปรับทีมพูดคุยใหม่ของฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งมีการเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามา โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ สะท้อนว่าจะต้องมีการพูดคุยถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์กันต่อไปอีกหรือ ขณะที่องค์ประกอบของทีมพูดคุยชุดใหม่ของบีอาร์เอ็น แสดงให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นส่งสัญญาณให้ยกระดับ "การพูดคุย" เป็น "การเจรจา" สอดรับกับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียเป็น "คนกลาง" ในขณะที่รัฐบาลไทยยังเชื่อว่านี่คือ "การพูดคุย" และอยู่ในขั้นตอนของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันเท่านั้น
เตือนเงื่อนไขซ่อมปม-เคลือบยาพิษ
"หากพิจารณาเพียงภาพรวมของเอกสารและข้อเสนอต่างๆ ของบีอาร์เอ็นจะพบว่าดูดีและฝ่ายรัฐบาลไทยน่าจะยอมรับได้ โดยเฉพาะการให้คำมั่นเรื่องไม่แบ่งแยกดินแดน และมีการกำหนดกรอบเวลาในการหยุดยิงหรือยุติปฏิบัติการทางทหารอย่างชัดเจน แต่หากพิจารณาลงลึกในรายละเอียดแล้วจะพบว่าอาจเป็นข้อเสนอเคลือบยาพิษ เนื่องจากมีการซ่อนเงื่อนไขปลีกย่อยเอาไว้มากมาย เช่น จะหยุดโจมตีชุดคุ้มครองครูหากรัฐบาลยอมรับข้อเรียกร้องข้อ 2 (ให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา) แต่ฝ่ายไทยต้องสับเปลี่ยนกำลังทหารที่ทำหน้าที่คุ้มครองครูออกไปก่อน แล้วใช้อาสาสมัครแทน"
"หรือการกำหนดพื้นที่ยุติปฏิบัติการทางทหาร ก็ต้องสัมพันธ์กับความคืบหน้าการดำเนินการของฝ่ายไทยในการปล่อยตัวนักโทษและยกเลิกหมายจับนักรบปาตานีด้วย อย่างนี้เป็นต้น" แหล่งข่าวระบุ
มีรายงานว่า หน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยได้นัดหารือนอกรอบเกี่ยวกับคำอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ในวันศุกร์ที่ 20 ก.ค.นี้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สัญลักษณ์ของบีอาร์เอ็น
ที่มา : ภาพจากอินเทอร์เน็ต