ดูชัดๆ มติครม.ปี 55 ให้กษ. โดยกรมชลประทาน เริ่มดำเนินการโครงการเขื่อนแม่วงก์ งบ 1.3 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบในหลักการการดำเนินงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ดังนี้
๑. เห็นชอบในหลักการการดำเนินงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้
๑.๑ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานเริ่มดำเนินการโครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ระยะเวลาดำเนินการโครงการทั้งสิ้น ๘ ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๖๒) วงเงินโครงการทั้งสิ้น ๑๓,๒๘๐.๔๔๕ ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นการดำเนินการสำรวจธรณี ปฐพีวิทยา สภาพภูมิประเทศ รังวัด ปักหลักเขต ซึ่งกรมชลประทานจะเจียดจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาใช้เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม
๑.๒ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
๑.๓ ให้สำนักงบประมาณรับไปพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายและระยะเวลาที่กำหนด
๒. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนครบถ้วน เช่น แผนปฏิบัติการของโครงการ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ การดำเนินการเกี่ยวกับมวลชน และแผนการเงินของโครงการ เป็นต้น แล้วนำเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พิจารณาตามขั้นตอนตามนัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ ต่อไป
ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน (กรมพัฒนาที่ดิน) เกี่ยวกับการดำเนินโครงการควรคำนึงถึงสภาพตามธรรมชาติและความเป็นจริงโดยรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนผู้ที่ได้รับประโยชน์และผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ การให้ความสำคัญกับการจัดทำและปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด การพิจารณาหาแนวทางให้มีการจ้างงานแรงงานในพื้นที่เพื่อให้แรงงานในพื้นที่มีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น การจัดหาและบริหารแหล่งน้ำขนาดเล็กในระดับชุมชนภายในพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการเพื่อรองรับน้ำหลากและเป็นแหล่งน้ำสำรอง การศึกษาสภาพทางธรณีวิทยาในพื้นที่โครงการโดยเฉพาะในเชิงลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาเพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบทางวิศวกรรมโยธา รวมทั้งการวางแผนป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ คุณภาพชีวิต และทุนทางสังคม การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการ (Sensitivity Analysis) อันเนื่องมาจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนและผลประโยชน์ของโครงการในระยะยาวเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความเหมาะสมโครงการ เป็นต้น ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการด้วย
๓. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมของโครงการคู่ขนานกันไปได้ เช่น การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการศึกษาสำรวจด้านวิศวกรรม เป็นต้น