"บิ๊กจิ๋ว-บิ๊กฉิ่ง" รำลึกอดีต "จีน เป็ง" ในวันลาลับ กับการเจรจาสันติภาพ จคม.
"จีน เป็งเป็นคนกล้าหาญ เขาฉลาดหลักแหลมมาก ตอนที่เขามาคุยด้วยก็อายุ 60 ปีแล้ว แต่ความคิดความอ่านยังเร็วอยู่มาก และที่สำคัญ จีน เป็งเป็นคนรักษาสัญญา"
เป็นคำกล่าวสดุดี "จีน เป็ง" อดีตเลขาธิการ หรือผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา จาก พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ของไทย หลังจากมีข่าวหลายกระแสยืนยันตรงกันว่า จีน เป็งได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยโรคชราที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ก.ย.2556 สิริรวมอายุได้ 90 ปี
พิธีสวดพระอภิธรรมศพจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย.ที่ศาลา 11 วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร
พคม.กับเส้นทางการต่อสู้
การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ พคม.ซึ่งมีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ และฝ่ายไทยเรียกสั้นๆ ว่า "จคม." หรือโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายานั้น เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และการจับมือกันระหว่างไทยกับมาเลเซียเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง โดยครั้งนั้นไทยมีสถานะเป็น "เจ้าภาพ" หรือ "คนกลาง"
ข้อมูลจาก ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือ จคม. เป็นชื่อเรียกกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ พคม. (The Communist Party of Malaya - CPM) ที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลมาเลเซียเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการและเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย–มาเลเซีย
อุดมการณ์ของ พคม.คือปลดแอกจากลัทธิอาณานิคมภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นธรรมของอังกฤษ ซึ่งแผ่อิทธิพลอย่างกว้างขวางในคาบสมุทรมลายูทั้งช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยวิธีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ เดิมเคยมีกองกำลังติดอาวุธถึง 12 กรม แต่ภายหลังถูกกวาดล้างจนต้องถอยร่นเข้ามายังฝั่งไทย และลดขนาดลงเหลือเพียง 3 กรม คือ กรม 8 กรม 10 และ กรม 12
สมาชิก จคม.ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน แต่ก็มีจำนวนหนึ่งนับถือศาสนาอิสลาม...
การสู้รบของ จคม.ยุติได้ด้วยการเจรจา มีการลงนามในข้อตกลงยุติการต่อสู้เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2532 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยครั้งนั้นฝ่ายไทยเป็นคนกลางและพยานในการทำความตกลงร่วมกัน ทำให้การต่อสู้ในเส้นทางของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง ทั้งหมดได้ยอมวางอาวุธ และส่วนใหญ่เข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย กระทั่งปัจจุบันพวกเขาได้รับสัญชาติไทยหมดแล้ว โดยรัฐบาลไทยได้มอบที่ดินทำกินและตั้งหมู่บ้านให้ ซึ่งก็คือหมู่บ้านปิยะมิตร ในพื้นที่ อ.เบตง อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ อ.นาทวี จ.สงขลา ขณะที่บางส่วนที่เป็น จคม.มุสลิม ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
"บิ๊กจิ๋ว" รำลึกอดีต "จีน เป็ง"
สำนักข่าวเนชั่นเผยแพร่บทสัมภาษณ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเอา "จีน เป็ง" เป็นเพื่อนรักคนหนึ่งว่า รู้สึกเสียใจกับการจากไป และถ้าเป็นไปได้จะไปร่วมงานศพของ จีน เป็ง
"เขาเป็นเพื่อนที่ดีคนหนึ่งที่ได้รู้จักกันมา เป็นคนตรงไปตรงมา คุยกันเข้าใจง่าย เขาช่วยเหลือบ้านเมือง ช่วยปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ให้เกิดความสงบสุข ถ้าไม่ได้เขาก็ไม่รู้ว่าปัญหาในพื้นที่ภาคใต้เรื่องโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) จะเป็นอย่างไร"
"ผมรู้จักกับ จีน เป็ง เพราะ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นคนติดต่อประสานงานให้ ตอนแรกผมไม่คิดว่าจะคุย และไม่คิดว่าการคุยจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา จคม.ได้สำเร็จ แต่เป็นเพราะ จีน เป็ง เป็นลูกผู้ชาย คุยคำไหนเป็นคำนั้น ตกลงกันง่าย ทำให้ทุกอย่างราบรื่นและเกิดสันติสุขขึ้นในที่สุด"
"ที่ผ่านมาผมก็ดูแล จีน เป็ง มาตลอด ทั้งตัวของเขาเอง ลูกหลาน และคนสนิทของเขา มีการจัดที่อยู่อาศัยให้ จนถึงวันนี้ลูกหลานของเขาที่พักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านปิยะมิตร อ.เบตง จ.ยะลา ก็สุขสบายดี มีเงินใช้ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ผมเจอกับ จีน เป็ง ครั้งสุดท้ายก็ตอนที่เขาป่วยและได้ไปเยี่ยมเขา" พล.อ.ชวลิต กล่าว
ประวัติศาสตร์ จคม.ในมุมของ "บิ๊กฉิ่ง"
พล.อ.กิตติ รัตนฉายา หรือ "บิ๊กฉิ่ง" อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงประวัติความเป็นมาของ พคม.และจุดพลิกผันที่ทำให้ จคม.วางปืนร่วมพัฒนาชาติไทยว่า พคม.มีจุดเริ่มต้นที่คนจีนในมาเลเซียช่วยอังกฤษสู้รบกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนฝ่ายอังกฤษได้รับชัยชนะ ซึ่ง จีน เป็ง ก็เป็นคนหนึ่งที่ช่วยรบด้วย จนได้รับเหรียญกล้าหาญจากอังกฤษ ได้รับเชิญให้ไปรับเหรียญกล้าหาญที่กรุงลอนดอน แต่ จีน เป็ง ไม่ได้ไปรับเหรียญด้วยตนเอง
ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง จคม.ซึ่งนำโดย จีน เป็ง ต้องการให้มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ จึงตั้งกองกำลังสู้รบกับอังกฤษ มีการต่อสู้กันหลายปี จน จคม.ไม่อาจสู้กับอังกฤษได้ ต้องถอยร่นมาตั้งถิ่นฐานทางภาคเหนือของมาเลเซีย และในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ประกอบด้วย จ.สงขลา ยะลา และนราธิวาส
"ขณะนั้นประเทศไทยเห็นว่า จคม.เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จึงช่วยทางการมาเลเซียในการปราบปราม จคม. ซึ่งก็สู้รบกันนานมาก เกิดความสูญเสียขึ้นมาก สู้กันมากกว่า 40 ปี สถานการณ์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ จนในช่วงที่ผมเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 มีการเจรจาลับๆกับ จคม.ในพื้นที่ (หมายถึงที่มีการตั้งฐานอยู่ในประเทศไทย) เพื่อหาทางยุติความรุนแรง ทาง จคม.ในพื้นที่ก็บอกให้ติดต่อไปยัง จีน เป็ง ซึ่งกลับไปอาศัยอยู่ที่ประเทศจีนแล้วในตอนนั้น ผมก็ส่ง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ (ยศในปัจจุบัน) ไปติดต่อนำ จีน เป็ง มาพูดคุยในปี 2532"
พล.อ.กิตติ เล่าต่อว่า ครั้งที่เชิญจีนเป็งมาคุยนั้น ได้คุยกันที่ จ.ภูเก็ต ปรากฏว่า จีน เป็ง ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายไทย และไทยก็ยอมรับข้อเสนอของ จีน เป็ง ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค.2532 จึงมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่โรงแรมลีการ์เดน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยทางการไทยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้ลงนาม ส่วนทางมาเลเซียมีอดีตรัฐมนตรีกลาโหมเป็นผู้ลงนาม ทุกอย่างจึงจบ
"เท่าที่ผมจำได้ ตอนนั้นเราตกลงกันว่าทาง จคม.ต้องปลดอาวุธทั้งหมด ใครต้องการกลับมาเลเซียก็ให้กลับ ใครต้องการอยู่ในไทยก็จะตั้งถิ่นฐานให้อยู่ ทั้งสองฝ่ายก็เลยปลดอาวุธกัน แต่ไม่ได้หมายถึงยกเลิกพรรคคอมมิวนิสต์นะ ใช้คำว่าสลายอาวุธกันมากกว่า เราจึงตกลงกันได้"
"การที่ จคม.ยอมสลายอาวุธเป็นผลดีกับทั้งไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะมาเลเซียที่เขาไม่ต้องสูญเสียงบประมาณปีละ 2-3 พันล้านบาทในการจัดการปัญหานี้ เขาก็นำงบมาพัฒนาเศรษฐกิจทางตอนเหนือของเขา โดยเฉพาะลังกาวีที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้"
พล.อ.กิตติ ยังกล่าวถึงตัวตนของ จีน เป็ง ว่า เป็นคนกล้าหาญ ฉลาดหลักแหลมมาก ตอนที่มาคุยด้วยก็อายุ 60 ปีแล้ว แต่ความคิดความอ่านยังเร็วอยู่มาก และที่สำคัญ จีน เป็ง เป็นคนรักษาสัญญา
เจรจา จคม.ไร้การเมืองแทรก
เมื่อให้เปรียบเทียบการเจรจากับ จคม.ในอดีต กับการเจรจากับขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ ในปัจจุบัน พล.อ.กิตติ กล่าวว่า มีความแตกต่างกันมาก เพราะการพูดคุยกับ จคม.ไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง และคุยกันในทางลับ ไม่มีการเปิดเผย ทุกอย่างจึงง่ายกว่า
"แต่การพูดคุยกับบีอาร์เอ็นที่ทำกันอยู่นี้ ต่างฝ่ายต่างมีนัยยะแฝงอยู่ มาเลเซียเขาก็คุมเกมได้เกือบหมด ไทยเราก็เดินตามเกมที่เขาคุมไว้ การจะประสบความสำเร็จในการพูดคุยจึงค่อนข้างยาก" อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวทิ้งท้าย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : จีน เป็ง (คนขวา) เมื่อครั้งเปิดแถลงข่าวที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เรียกร้องขอกลับเข้ามาเลเซียเพื่อไปเคารพศพบิดา มารดา และบรรพบุรุษ
ขอบคุณ : ภาพจากเนชั่นทีวี