5 ข้อบีอาร์เอ็น...กับ 7 ข้อของฝ่ายความมั่นคงไทย
เริ่มหลุดออกมาบ้างแล้วสำหรับเนื้อหาในเอกสารคำชี้แจงข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่ส่งมาใหม่จำนวน 38 หน้าของ "บีอาร์เอ็น" กลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ
ฝ่ายความมั่นคงได้ลงมือแปลและสรุปเป็นประเด็นๆ ออกมา โดยข้อใหญ่ใจความอยู่ที่ข้อ 4 ว่าด้วย "สิทธิความเป็นเจ้าของ" ดินแดนมลายูปาตานี ซึ่งในเอกสารฉบับภาษาอังกฤษชุดแรกใช้คำว่า Patani Malay nation ให้ไทยยอมรับ "การมีอยู่" และ "อำนาจสูงสุดทางการปกครอง" ซึ่งครั้งนั้นผู้นำเหล่าทัพ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ตบโต๊ะเปรี้ยงว่า "ยอมรับไม่ได้"
ล่าสุดในเอกสารคำอธิบาย 38 หน้า มีการขยายความประมาณว่า "ให้รัฐบาลรับรองปาตานีเป็นชาติบ้านเกิดและเป็นอธิปไตยของชาวมลายูปาตานี เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐสยามเข้ามาครอบครองปาตานีและละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมกันนี้ต้องให้โอกาสแก่ชุมชนมลายูได้บริหารพื้นที่ โดยการตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย ดังเช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยให้รัฐสภาพิจารณา"
คำถามที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยต้องตอบก็คือ เนื้อหาของเอกสารที่หลุดออกมาเป็นข่าว คือข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นทั้งหมดจริงหรือไม่ มีเงื่อนไขอะไรซ่อนอยู่อีกหรือเปล่า เพราะดูจากสาระที่แปลสรุปออกมาแล้ว น่าจะเป็นการ "เจรจาต่อรอง" มากกว่าการ "พูดคุยสันติภาพ" เนื่องจากในตอนท้ายบีอาร์เอ็นตั้งเงื่อนไขการวางอาวุธและยุติการก่อเหตุรุนแรงเอาไว้อย่างชัดแจ้ง...
"หากฝ่ายไทยตอบสนอง บีอาร์เอ็นจะยุติปฏิบัติการทั้งปวงในปี 2557 ตามระยะเวลาดังต่อไปนี้ พื้นที่ จ.สงขลา เริ่มเดือน ม.ค. พื้นที่ จ.ยะลา เริ่มเดือน เม.ย. พื้นที่ จ.นราธิวาส เริ่มเดือน ก.ค. พื้นที่ จ.ปัตตานี เริ่มเดือน ต.ค."
คำว่า "ปฏิบัติการทั้งปวง" ไม่ชัดว่าครอบคลุมถึง "เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธ" ด้วยหรือไม่ เพราะเนื้อหาช่วงก่อนจะกำหนดกรอบเวลา ระบุว่าจะยุติปฏิบัติการทางทหารต่อประชาชนและ "เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ถืออาวุธ" กับจะยุติการปฏิบัติการต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจในตัวเมือง นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไข "วางอาวุธ" ต่อท้ายข้อเรียกร้องที่ให้ปล่อยตัวนักโทษและยกเลิกหมายจับในคดีความมั่นคง (ข้อ 5)
คำถามก็คือถ้าบีอาร์เอ็นต้องการแค่ "เขตปกครองพิเศษ" ในความหมายเดียวกับ กรุงเทพมหานคร หรือ เมืองพัทยา จริงๆ พวกเขาต้องก่อเหตุรุนแรงเพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลไทยตลอดมานับสิบปีเชียวหรือ?
นี่คือประเด็นที่หน่วยงานด้านความมั่นคงหลายๆ หน่วยกำลังจับตาว่ามีอะไรซ่อนอยู่อีกบ้าง ขณะที่ สมช.ก็ยังไม่ยอมเปิดเผยเอกสารฉบับเต็มต่อสาธารณะเพื่อให้สังคมช่วยกันพิจารณา หรือดึงผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงการต่างประเทศและคณะกรรมการกฤษฎีกามาร่วมตรวจสอบถ้อยคำให้เห็นเป็นรูปธรรม
ความอึมครึมเช่นนี้อาจบานปลายไปสู่ความขัดแย้งและกระทบต่อกระบวนการสันติภาพที่เปราะบางอยู่แล้วให้ล้มครืนลงได้ เพราะในที่ประชุม ศปก.กปต. (ศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฝ่ายทหารได้แสดงจุดยืนชัดเจน 7 ข้อต่อที่ประชุม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นต่อไป กล่าวคือ
1.ยึดรัฐธรรมนูญไทยเป็นหลัก 2.ไม่ยกสถานะของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง 3.เลี่ยงข้อความที่เข้าเงื่อนไขยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) และโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) 4.ไม่ตอบข้อเรียกร้องเป็นลายลักษณ์อักษรในประเด็นที่ส่อว่าจะผูกมัดในอนาคต 5.ไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถาม แต่ควรเรียกร้องกลับไปบ้าง 6.ตั้งคำถามเชิงรุกในเวทีการพูดคุย และ 7.ทุกคำตอบที่เป็นลายลักษณ์อักษรจะถึงมือยูเอ็นและโอไอซี
หลักการ 7 ข้อของฝ่ายทหารสวนทางกับ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นอย่างชัดแจ้ง...น่าคิดว่ากระบวนการสันติภาพจะเดินต่อไปในรูปใด?
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.2556
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "แกะรอย" ปกโฟกัส หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 17 ก.ย.2556 ด้วย
อ่านประกอบ : แกะรอยเอกสาร 38 หน้า BRN อ้างขอ "ปกครองพิเศษใต้ รธน.ไทย" http://bit.ly/19Zgts2