ร้านอาหาร ศูนย์ราชการ โวย ผู้ดูแล ส่อ เบี้ยว “เงินประกัน” นับแสน
ผู้ประกอบการร้านอาหาร ศูนย์ราชการ ร่อนหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรม โวย "ผู้ดูแล" ส่อ เบี้ยว “เงินประกัน” นับแสน จะเอาคืนหมดสิทธิ์ขายของ ต้องย้ายออกสิ้นเดือนกันยายนนี้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการศูนย์อาหารโซน 4 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทธนารักษ์ พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ว่า ไม่ได้รับเป็นธรรมจากการบริหารงานของผู้ดูแลศูนย์อาหารหรือผู้ประสานงานที่ ธพส. แต่งตั้ง ในเรื่องเงินประกัน จำนวน 15,000 บาท ที่ผู้ประกอบการร้านค้าทั้ง 16 ร้านค้า มอบให้ผู้ดูแลเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤติน้ำท่วม
ผู้ประกอบการร้านอาหารรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบร้านอาหาร และผู้ดูแล ตกลงกันว่า จะนำเงินประกัน 15,000 บาท จาก 16 ร้านค้า รวม 240,000 บาท เป็นเงินกองกลางที่ร้านค้าทั้ง 16 ร้าน และผู้ดูแล เคยรับปากว่าจะนำมาลงทุนร่วมกันเพื่อใช้ซื้อจาน ชาม ช้อน และภาชนะต่างๆ ของศูนย์อาหาร จนกระทั่งศูนย์อาหารกลับคืนสู่ภาวะปกติ มีสภาพคล่องดังเดิม ผู้ดูแลจะคืนเงินดังกล่าวให้
แต่ปรากฏว่าเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านอาหาร จำนวนหนึ่ง ทวงถามผู้ดูแล ถึงเงินประกันดังกล่าว ได้รับคำตอบจากผู้ดูแลศูนย์อาหาร ว่าร้านอาหารที่ต้องการเงินคืน ให้มาแจ้งความจำนงแก่ผู้ดูแล จะคืนเงิน 15,000 บาทให้
แต่จะไม่มีสิทธิ์ขายอาหารในศูนย์อาหารแห่งนี้อีกต่อไป จะต้องย้ายออกไปภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้
ส่วนผู้ประกอบการรายใด ที่ต้องการขายอาหารในศูนย์อาหารต่อไป ให้นำใบเสร็จซึ่งเป็นหลักฐานการจ่ายเงิน 15,000 บาท มาคืน จะมีสิทธิ์ขายอาหารต่อไป
แต่จะไม่ได้เงินประกันคืน ทำให้ ผู้ประกอบการทำหนังสือร้องเรียนไปยัง ธพส. ให้ดำเนินการชี้แจงและมอบความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น
" เขาพูดในที่ประชุมว่า เงินหมื่นห้าจะไม่คืน เพราะถือว่าได้กำไรแล้ว เขาบอกว่าเป็นมติของ ธพส. ถ้าเรา ไม่ปฏิบัติตาม หรือผู้ประกอบการรายใดอยากได้เงินคืนก็ต้องย้ายออกภายในวันที่ 30 กันยายน นี้ ผู้ดูแลเขาบอกเราแบบนี้ เราก็งงเราก็ถามเขาว่า ธพส. มาเกี่ยวอะไรด้วย ธพส. มีสิทธิ์อะไรมาสั่ง เขาก็บอกเราว่า ธพส. เขาเป็นเจ้าของพื้นที่ เราก็เถียงว่า ธพส. เขาอนุญาตให้เราขาย ให้เราดูแลกันเอง แล้วจู่ๆ ธพส. จะมาตั้งกฎที่เอื้อประโยชน์ให้คุณคนเดียวไม่ได้ คือเงินเรา 240,000 บาท หายไปเลย”
สำหรับการร้องเรียนทวงถามเรื่องเงินประกัน 15,000 บาท ที่ร้านอาหาร 16 ร้าน มอบให้แก่ผู้ดูแลนั้น ผู้ประกอบการรายนี้เล่าว่า วิธีการร้องเรียนมีทั้งโทรศัพท์ไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ และมีทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนโดยรวมตัวกันไปยื่นที่ ธพส. หลายครั้งแล้ว
“จนถึงตอนนี้ ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร เมื่อก่อนเราขึ้นไปที่ ธพส.บ่อย จนพักหลังๆ ไม่ค่อยได้ขึ้นไปแล้ว เพราะไม่มีอะไรคืบหน้า และที่เราหลายคนสงสัยก็คือ เมื่อมีข้อตกลงใดๆ ทำไม ทาง ธพส. จึงเรียกเฉพาะผู้ดูแลที่เป็นเจ้าของร้านขายข้าวแกงคนนี้ไปคุยเพียงคนเดียว ทำไมไม่เรียกเจ้าของร้านอาหารทุกร้านไปร่วมรับฟังด้วยกัน แล้ว ธพส. มาเกี่ยวอะไรกับเงิน 15,000 บาท ของเรา จนถึงวันนี้ เราถาม ธพส.ไป ก็ไม่มีความคืบหน้า เขาบอกจะตามเรื่องให้ก็ยังเงียบหาย"
"ตอนนี้ พวกเราเหมือนถูกมัดมือชก ถ้าอยากได้เงิน 15,000 บาทคืน ก็ต้องย้ายออกไปตอนสิ้นเดือนกันยายน แต่ถ้าอยากอยู่ต่อ ก็จะไม่ได้เงินคืน และต้องเอาใบเสร็จที่มีลายเซ็นต์ว่าผู้ดูแลคนนี้รับเงินของเราไป 15,000 บาท เอาไปคืนให้เขาด้วยจึงจะมีสิทธิ์ได้ขายอาหารที่นี่ต่อไป ตอนนี้ หลายร้านก็ยอมรับสภาพแล้ว เหนื่อยและท้อกันแล้ว ทำใจว่าไม่ได้เงินคืนแน่ แต่ก็จำเป็นต้องขายอาหารต่อไป หลายคนก็ยอมเอาใบเสร็จไปให้เขาแล้ว เพื่อที่จะไม่ต้องถูกย้ายออกไป” ผู้ประกอบร้านอาหารรายนี้ ระบุ
ผู้ประกอบการรายนี้ ยังอธิบายถึงความเป็นมาของการมีผู้ดูแลที่ ธพส. แต่งตั้งขึ้น รวมถึงที่มาของการตัดสินใจร่วมกันลงทุนซื้อภาชนะในศูนย์อาหารว่า สืบเนื่องมาจากวิกฤติน้ำท่วมในปี 2554 และเป็นช่วงที่ เดอะ มอลล์ ซึ่งเคยเช่าพื้นที่ศูนย์อาหาร โซน 1 และ โซน 2 ของธพส. ประสบปัญหาเรื่องการจ่ายค่าเช่า ทำให้ ธพส.ตัดสินใจล็อคกุญแจ ปิดการให้บริการศูนย์อาหารโซน 1และ 2
ในที่สุดเมื่อ เดอะ มอลล์ ตัดสินใจถอนตัวออกจากการเช่าพื้นที่ศูนย์อาหารของ ธพส. ผู้ประกอบการทั้ง 16 ร้านค้า จึงต้องย้ายมาเปิดบริการในโซน 4 โดยที่ธพส.เองก็อนุญาตให้ขายอาหารได้โดยไม่เสียค่าเช่า ในช่วง 3 เดือนแรก นอกจากนี้ ผู้ดูแลคนดังกล่าวก็มิใช่ผู้ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งหมดโหวตเลือกขึ้นมา แต่เป็นผู้ที่ล้มผลโหวตของผู้ประกอบการทั้ง 7 ร้าน โดยไปเจรจากับ บุคคลคนหนึ่ง ตัวย่อว่า "อ" ที่เคยรับผิดชอบศูนย์อาหารนี้เป็นการส่วนตัว
แล้วในที่สุด คุณ "อ" ก็เห็นคล้อยตามให้ผู้ดูแลคนนี้คอยประสานงานและเก็บเงินค่าเช่ารายวันให้ ธพส. โดยไม่แต่งตั้งคนที่ผู้ประกอบการโหวตขึ้นมาแต่อย่างใด
ส่วน คุณ "อ" นั้น ปัจจุบันเลื่อนตำแหน่งไปแล้ว และปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวยังไม่มีเจ้าหน้าที่ ธพส. ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แก้ไข หรือให้คำชี้แจงใดๆ
“ เดิมทีศูนย์อาหารโซน 1 โซน 2 เดอะมอลล์ เป็นผู้ประมูลพื้นที่ได้ แต่ตอนนี้เราไม่มีเดอะมอลล์ปกครองแล้ว เราปกครองกันเอง ดังนั้น ทุกคนน่าจะได้ประโยชน์ตรงนี้ร่วมกัน จริงๆ แล้ว เราชอบการดูแลของเดอะมอลล์นะ แต่ตอนนี้ เราไม่มีใครดูแลแล้ว เราก็ต้องดูแลกันเอง การตกลงกันครั้งนั้น ตกลงกันด้วยวาจา แต่ต่อมาเราก็มีหนังสือทวงถามไปว่าเงินตรงนี้มันหายไปไหน เพราะเราก็กลัวว่าไม่มีหลักฐาน เราจึงทำเอกสาร ขึ้นไปทวงถาม ธพส. แล้วผู้ประกอบการทั้ง 16 ร้าน ทุกคนก็รับรู้หมด ตอนนั้นเราก็คิดว่าคงไม่มีใครโกงใคร แต่เราก็กลัวเงินจะไม่ได้คืน เพราะ ธพส. เปลี่ยนคนมาดูแลเรื่องนี้เรื่อยๆ แต่ปัจจุบันเขาตั้งผู้ดูแลคนนี้มาดูแล”
ผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง เล่าว่า หลังจากเดอะมอลล์ไม่ได้ดูแลศูนย์อาหารโซน 1 และ 2 แล้วนับแต่ภายหลังวิกฤติน้ำท่วม พ่อค้า แม่ค้า จึงหารือกันและนำความเดือดร้อนไปปรึกษา ธพส.
“คือหลังจากน้ำท่วมแล้ว เดอะมอลล์ก็ไม่ได้ดูแลต่อ พวกเรา พ่อค้าแม่ค้าเดือดร้อน เราก็เลยจับมือกันขึ้นไปคุยกับ ธพส. ว่าผู้ประกอบการ 10 กว่าราย เดือดร้อน เราไม่มีพื้นที่ขายของ ธพส. เขาก็บอกเราว่าเขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน เพราะในศูนย์ราชการมีหน่วยงานเยอะ แต่ไม่มีใครมีร้านอาหาร ธพส. เขาก็บอกว่าเขามีพื้นที่ให้เรา แต่ไม่มีอะไรให้ ทาง ธพส. เขาให้เราดูแลกันเอง ซึ่งเรื่องเงินประกัน 15,000 บาทนี้ เราตกลงกันเอง ส่วนฟู้ด 4 ก็เป็นเจ้าของร้านค้าเก่า จาก โซน 1-2 มารวมกันอยู่ในโซนนี้คือโซน 4 เพราะโซน 1-2 ปิดอยู่ ธพส. เห็นใจเรา เขาก็ให้ขายฟรี 3 เดือน ไม่เก็บค่าเช่า เก็บแค่ค่า แก๊ส น้ำไฟ ไม่เก็บค่าเช่า แต่จากนั้นก็เริ่มมีปัญหาแล้ว เพราะผู้ดูแลคนปัจจุบันที่ ธพส. แต่งตั้งขึ้นมา เขาบอกว่า เขาจะเก็บค่าเช่าทุกร้าน เท่ากัน ทำให้มีปัญหา เพราะเราเห็นว่า ไม่เป็นธรรมกับร้านค้าเล็กๆ”
ผู้ประกอบการรายนี้ ยังเล่าว่า แต่ละร้านจะยึดถือวิธีของเดอะมอลล์ที่จะมีกฎโดนหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายคูปองขายได้น้อยก็โดนหักน้อย ขายได้มากก็โดนหักมาก ซึ่งวิธีของเดอะมอลล์ ทำให้ร้านเล็กอยู่ได้ โดยเฉพาะร้านอาหารจานเดียว เพื่อให้คนได้ทานอาหารหลากหลาย ขณะที่ผู้ดูแลคนปัจจุบัน ไม่ยอมรับวิธีดังกล่าว
“เพราะร้านเขาขายดีที่สุด เขาขายข้าวแกง เขาก็จะโดนเดอะมอลล์หักเยอะที่สุด เขาก็ไม่ยอมรับกฎเช็คจานชามว่าใครขายดีต้องจ่ายค่าเช่าเยอะ พวกเราก็ไม่ยอม เราก็ทำเรื่องร้องเรียนขึ้นไป ยัง ผอ.ด้านการตลาดของธพส.ที่ดูแลเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันเขาเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปแล้ว ตอนนั้น เราก็บอกเรื่องให้ผู้รับผิดชอบนะ เขาก็บอกว่า ทนไม่ได้ก็ออกไป ถ้าถามว่ากรณีนี้ ใครได้ประโยชน์ที่สุด เราก็มองว่าร้านที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือร้านข้าวแกงของผู้ดูแลคนนี้ เพราะข้าวแกงเขาขายดีที่สุด จากที่ก่อนนี้ เราจะใช้วิธีจดจานชามว่าใครใช้เท่าไหร่ แต่การจดจำนวนจานชามไม่มีประโยชน์อีกแล้ว ผู้ดูแลและ ผอ.คนนี้ เขาก็ล้มกระดาน เก็บทุกร้านเท่ากันคือค่าเช่าวันละ 600 บาท ส่งให้ ธพส. และอีก 250 บาท เป็นค่าบริการเก็บจานชาม รวมแล้วเราต้องจ่ายค่าเช่าวันละ 850 บาท ก็เป็นจำนวนเงินที่หนักสำหรับเรา ส่วนเรื่องเงินประกัน 15,000 บาทนั้น จนถึงวันนี้ ธพส. ก็ยังไม่ดำเนินการอะไรให้เราเลย ทั้งที่ใกล้จะครบกำหนดที่ผู้ดูแลเขาแจ้งกับเราแล้วว่าภายใน 30 กันยายนนี้ ถ้าอยากขายต่อ ให้เอาหลักฐานใบเสร็จมาคืนเขา แต่จะไม่ได้เงินคืน และถ้าอยากได้เงินคืนก็จะต้องย้ายออกไป” ผู้ประกอบการรายนี้ ระบุ