แกะรอยเอกสาร 38 หน้า BRN อ้างขอ "ปกครองพิเศษใต้ รธน.ไทย"
แม้จะมีข่าวยืนยันชัดเจนว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ซึ่งร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย ได้ส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อมายังคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการเปิดรายละเอียดเอกสารดังกล่าวต่อสาธารณะ
จากการสอบถามหน่วยงานด้านความมั่นคงหลายหน่วย ส่วนใหญ่ให้คำตอบตรงกันว่ายังไม่เคยเห็นเอกสารที่อ้างว่ามีความยาวกว่า 30 หน้าฉบับนี้...
ย้อนรอย 5 ข้อกับการขอคำอธิบายเพิ่ม
บีอาร์เอ็นน่าจะส่งเอกสารดังกล่าวมาถึงมือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย เมื่อราวๆ สัปดาห์แรกของเดือน ก.ย. เพราะ พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวอิศรา" เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ย.ว่าได้รับเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมมาจากบีอาร์เอ็นแล้ว มีความยาวประมาณ 30 หน้า กำลังให้เจ้าหน้าที่แปลเป็นภาษาไทย และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา
เอกสารฉบับนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นดั่งตัวชี้ขาดว่าการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ จะเดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่นหรือไม่ เนื่องจากเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.2556 ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต. แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่รับ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นที่นำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ มาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการแถลงผ่านเว็บไซต์ YouTube โซเชียลมีเดียชื่อก้อง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นผู้แถลงข่าวเรื่องนี้ด้วยตนเอง
สำหรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ประกอบด้วย
ข้อหนึ่ง เสนอให้การพูดคุยสันติภาพเป็นการพูดคุยระหว่างตัวแทนนักสู้เพื่อสันติภาพปาตานีนำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย
ข้อสอง เสนอให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยเจรจา
ข้อสาม เสนอให้ตัวแทนชาติอาเซียน โอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) และเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) เป็นสักขีพยานในการพูดคุยสันติภาพ
ข้อสี่ ให้ไทยยอมรับการมีอยู่และอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองของรัฐปาตานีมาเลย์บนผืนแผ่นดินปาตานี
ข้อห้า ให้ปล่อยตัวนักโทษที่ถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมือง และยกเลิกหมายจับทั้งหมด
ทั้งนี้ ประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคงไทยโดยเฉพาะกองทัพมองว่าอ่อนไหวที่สุด คือ ข้อ 4 ซึ่งในคลิปวีดีโอใช้คำที่แปลเป็นไทยว่า "สิทธิความเป็นเจ้าของ" แต่ในเอกสารภาษาอังกฤษที่มีการเผยแพร่ในเวลาต่อมา มีการใช้ถ้อยคำแทนดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "Patani Malay nation" และเรียกร้องให้ไทยยอมรับ "การมีอยู่" ตลอดจน "อธิปไตย" หรือ "อำนาจสูงสุด" ในการปกครอง
"ดาโต๊ะซัมซามิน"หอบคำชี้แจงส่งไทย
อย่างไรก็ดี แม้ ศปก.กปต.จะแสดงท่าทีไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อดังกล่าว แต่การประสานงานของคณะพูดคุยสันติภาพทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้หยุดชะงักลง เพราะยังคงมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายไทยขอให้บีอาร์เอ็นส่งคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อมาใหม่อย่างเป็นทางการ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากนั้นไม่นาน บีอาร์เอ็นก็ได้ส่งเอกสารคำชี้แจงกลับมา โดยข่าวบางกระแสระบุว่า ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตเลขาธิการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ เป็นผู้ถือมามอบให้ พล.ท.ภราดร ด้วยตนเองที่กรุงเทพฯ ช่วงต้นเดือน ก.ย.
แต่รายละเอียดในเอกสารก็ยังไม่ปรากฏสู่สาธารณะ แม้จะผ่านมากว่า 1 สัปดาห์ และมีการประชุม ศปก.กปต.ไปแล้ว 1 ครั้งก็ตาม
อ้าง BRN ขอ "เขตปกครองพิเศษ" ใต้ รธน.
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวส่งข้อมูลกันทางโซเชียลมีเดียบางแขนงของฝ่ายความมั่นคง มีเนื้อหาเป็นการสรุปเอกสารคำชี้แจง 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น ระบุว่า บีอาร์เอ็นส่งเอกสารคำชี้แจงเป็นภาษาอังกฤษมายังฝ่ายไทยผ่านทางประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2556 มีความยาว 38 หน้ากระดาษ
รายละเอียดบางส่วนสรุปว่า ในการพูดคุยครั้งใหม่(นัดหมายกันคร่าวๆ วันที่ 20 ต.ค.2556) บีอาร์เอ็นจะปรับโครงสร้างคณะพูดคุยเพื่อให้เกิดความเหมาะสม โดยมีตัวแทนทั้งสิ้น 15 คน ในจำนวนนี้มาจากขบวนการพูโล 2 คน และขบวนการบีไอพีพี 1 คน
สำหรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ได้มีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้
ข้อหนึ่ง เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับบีอาร์เอ็นเป็นผู้แทนของประชาชนปาตานี ในฐานะเป็นองค์กรปลดปล่อย ไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยอ้างตามรัฐธรรมนูญไทย และระบุคำว่า "ปลดปล่อย" หมายถึงสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจ วิถีชีวิตของชาวมลายูที่จะไม่ถูกกดขี่ และทำร้ายจากผู้มีอำนาจ มีเสรีภาพในการศึกษาและทำธุรกิจ
ข้อสอง ให้มาเลเซียเปลี่ยนสถานะจากผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จของการพูดคุยและเพื่อให้เกิดการยอมรับจากชุมชนนานาชาติ หากฝ่ายไทยตอบสนอง บีอาร์เอ็นจะยุติโจมตีหน่วยรักษาความปลอดภัยครู
ข้อสาม ให้มีตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ เป็นสักขีพยาน หากฝ่ายไทยตอบสนอง บีอาร์เอ็นจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการพูดคุยสันติภาพในอนาคต
ข้อสี่ ให้รัฐบาลรับรองปาตานีเป็นชาติบ้านเกิดและเป็นอธิปไตยของชาวมลายูปาตานี เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐสยามเข้ามาครอบครองปาตานีและละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมกันนี้ต้องให้โอกาสแก่ชุมชนมลายูได้บริหารพื้นที่ โดยการตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย ดังเช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยให้รัฐสภาพิจารณา
ข้อห้า ให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังและยกเลิกหมายจับผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยบีอาร์เอ็นจะเป็นฝ่ายแจ้งชื่อและให้ฝ่ายไทยช่วยตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง หากฝ่ายไทยตอบสนอง บีอาร์เอ็นจะวางอาวุธอย่างเป็นทางการ และสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในทุกมิติ
วางกำหนดการ "หยุดยิง" หากรัฐตอบสนอง
ในตอนท้ายของเอกสาร ยังระบุว่า หากฝ่ายไทยตอบสนองเงื่อนไขดังกล่าว บีอาร์เอ็นจะยุติปฏิบัติการทางทหารต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ถืออาวุธ โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ศาสนา และความเป็นอยู่ และจะยุติการปฏิบัติการต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจในตัวเมืองด้วย
เอกสารของบีอาร์เอ็นยังระบุด้วยว่า หากฝ่ายไทยตอบสนอง บีอาร์เอ็นจะยุติปฏิบัติการทั้งปวงในปี 2557 ตามระยะเวลาดังต่อไปนี้
พื้นที่ จ.สงขลา เริ่มเดือน ม.ค.
พื้นที่ จ.ยะลา เริ่มเดือน เม.ย.
พื้นที่ จ.นราธิวาส เริ่มเดือน ก.ค.
พื้นที่ จ.ปัตตานี เริ่มเดือน ต.ค.
อนึ่ง จากการสอบถามหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยเกี่ยวกับข้อสรุปดังกล่าวที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียของฝ่ายความมั่นคงว่าตรงกับเนื้อหาในเอกสารฉบับจริงของบีอาร์เอ็นที่ส่งถึงรัฐบาลไทยหรือไม่ ได้รับคำตอบว่ามีเนื้อหาใกล้เคียงกัน น่าจะเป็นข้อสรุปจากเอกสารของบีอาร์เอ็นฉบับจริง แต่ไม่ทราบว่าข้อมูลนี้หลุดออกมาได้อย่างไร
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เอกสารข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นฉบับแปลภาษาอังกฤษ ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำหลายจุดที่ฝ่ายความมั่นคงไทยไม่สบายใจ โดยเฉพาะในข้อ 4 จนต้องมีการประสานให้บีอาร์เอ็นส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม
อ่านประกอบ : เอกสารบีอาร์เอ็น...เป็นเรื่อง! http://bit.ly/1f1cyfb