ขมวดปมคืนภาษีฉาว 4 พันล.“จุดเริ่มต้น-เด้งอธิบดี”ก่อนถึงมืออัยการ-ป.ป.ช.
ประมวลภาพรวมในช่วง 3 เดือนกรณีคืนภาษีฉาว 4 พันล้านจากจุดเริ่มต้น-หมายจับ 5 เอกชน เชือด 18 ขรก.พัวพัน เด้งอธิบดีสังเวย จับตาทิศทางของดีเอสไอ กก.ชุดก.คลัง ก่อนถึงมืออัยการ-ป.ป.ช.
นับตั้งแต่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวกรณีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมีเงื่อนงำเป็นเวลา 3 เดือนต่อเนื่องกันจนถึงขณะนี้ (15 ก.ย.56) สรุปภาพรวมได้ดังนี้
@เริ่มต้น 30 บริษัทในบางรัก
วันที่ 9 มิ.ย.2556 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานข่าวกรณีกรมสรรพากรได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคม 2555 ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน ใช้ที่ตั้ง และเบอร์โทรศัพท์เดียวกัน ในรอบปี 2555-2556 รวม 30 บริษัทเป็นเงินกว่า 3,647 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2555 จำนวน 6 บริษัท
2.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2555 จำนวน 2 บริษัท
3.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2555 จำนวน 4 บริษัท
4.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2555 จำนวน 2 บริษัท
5.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2555 จำนวน 2 บริษัท
6.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2555 จำนวน 3 บริษัท
7.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2555 จำนวน 1 บริษัท
8.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2555 จำนวน 3 บริษัท
9.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2555 จำนวน 2 บริษัท
10.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2555 จำนวน 1 บริษัท
11.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2555 จำนวน 4 บริษัท
นิติบุคคลทั้ง 30 บริษัท ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท 6 บริษัท ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท 6 บริษัท และ ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท จำนวน 18 บริษัท โดยแจ้งประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันทั้งหมด คือ รับซื้อ จำหน่าย นำเข้าและส่งออกแร่โลหะทุกชนิด และใช้อาคารในพื้นที่สีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งสำนักงาน ในการจดทะเบียนจัดตั้งมีการใช้ชื่อบุคคล 1 คนเป็นกรรมการประมาณ 2 บริษัท โดยปรากฎหลักฐานว่าบุคคลที่ปรากฎชื่อเป็นกรรมการแต่ละบริษัททำหนังสือมอบอำนาจให้นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก หรือนายวิษณุ อสุนีย์ เป็นผู้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพฯ
@เช่าห้องโล่เป็นออฟฟิศ-เชิดคนพิจิตรเป็นกรรมการ
เมื่อตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนพบว่ากรรมการและผู้ถือหุ้นที่ปรากฏในเอกสารการจัดตั้ง และหนังสือบริคณห์ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาตามสำเนาบัตรประชาชนอยู่ในต่างจังหวัด ในจำนวนนี้มีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.เมือง จ.พิจิตร นับสิบราย (ต่อมาพบว่านิติบุคคล 58 บริษัทมีภูมิลำเนาตามเอกสารสำเนาบัตรประชาชนอยู่ใน จ.พิจิตรถึง 22 คน)
และเมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบบุคคลที่ปรากฏชื่อเป็นกรรมการตามภูมิลำเนาใน อ.เมือง จ.พิจิตร อย่างน้อย 5 รายได้ปฏิเสธว่าไม่ทราบว่ามีชื่อเป็นกรรมการและถือหุ้นในบริษัทได้อย่างไร
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบ “ที่ตั้ง”ของบริษัทตามที่ปรากฏในเอกสารการจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยตระเวนสำรวจที่ตั้งนับสิบแห่งพบเป็นห้องเช่าโล่งๆ ไม่ได้ตกแต่งหรือมีลักษณะเป็นสำนักงานประกอบธุรกิจแต่อย่างใด
นอกจาก 30 บริษัทปริศนาในพื้นที่บางรัก จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบนิติบุคคลที่จดทะเบียนในลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ เขตบางคอแหลม ทุ่งครุ กรุงเทพฯ อ.บางบัวทอง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี และ สมุทรปราการ อีก 28 บริษัท ทำให้ยอดรวมเพิ่มเป็น 58 บริษัท ในจำนวนนี้เฉพาะ 35 บริษัทมีการอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 4,298,564,817 บาท กระทั่งล่าสุดพบข้อมูลเพิ่มเติมอีก 5 บริษัท ทำให้ยอดเครือข่ายกลุ่มนี้มีทั้งสิ้นประมาณ 63 บริษัท
@เปิดเครือข่ายตัวละคร 2 กลุ่ม
จากการประมวลข้อมูลทั้งหมดพบบุคคลที่เกี่ยวข้อง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
1.กลุ่มนายวีรยุทธ แซ่หลก เจ้าของ บริษัท ซีเอ็นบีซี เมทัล เทรด จำกัด ได้แก่ น.ส.สายธาร แซ่หลก นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก นายประสิทธิ์ อัญญโชติ นายกิติศักดิ์ อัญญโชติ
2. กลุ่มนายสุรพล เมฆะอำนวยชัย เจ้าของสำนักงานบัญชีเมฆพลชัยซึ่งมีเครือญาติเป็นผู้สอบบัญชีให้ธุรกิจชิปปิ้ง และนายสุรพลยังปรากฏชื่อเป็นผู้สอบบัญชีให้บริษัทกลุ่มนายวีรยุทธทั้งหมด ได้แก่ นายสุเทพ วุฒิพาณิชย์กุล นายวิษณุ อสุนีย์ นายบูชา คงพะเนา นายธนัช ปฏิมาวดี นายธวัชชัย ตั้งเลิศธนาทรัพย์ น.ส.สุชาดา เมฆอัคคี จากการตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับสำนักงานบัญชีของนายสุรพล
@คอนเนกชั่น ผู้สอบบัญชี-ขรก.สรรพากร
จากการตรวจสอบความสัมพันธ์พบว่านายสุรพลมีความเชื่อมโยงกับนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ข้าราชการระดับ 8 หัวหน้าทีมกำกับตรวจสอบภาษี สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 โดยนายสุรพลทำธุรกิจร่วมกับนายสุวัฒน์ และนายอุกฤษฏ์ จารุมณีโรจน์ข้าราชการกรมสรรพากร สำนักงานพื้นที่ 22 บางรัก ในบริษัท ดี.โอ.แฟคตอรี จำกัด มาตั้งแต่ปี 2544 ต่อมาทั้งสองคนร่วมทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2554 ในชื่อบริษัท ดีร้อย แวลูเออร์ จำกัด อีกทั้งยังพบชื่อนายสุวัฒน์เป็นคนจองชื่อจัดตั้งนิติบุคคลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและถือหุ้นบริษัท เค.เอ็น.พี.ซี. เทรดดิ้ง จำกัด ในกลุ่มนายวีรยุทธอย่างน้อย 1 แห่งด้วย
@ “วีรุยทธ”ใช้คนสำนักบัญชีจดตั้งบริษัท
ความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มนายวีรยุทธกับกลุ่มนายสุรพล พบว่า นายวีรยุทธ นางสาวสายธาร แซ่หลก จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 ชื่อ บริษัท ซีเอ็นบีซี เมทัล เทรด จำกัด
1 ต.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท บีบีรีไซเคิล จำกัด
14 ต.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท รินดีโลหะ จำกัด
18 ต.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เค.เอ็น.พี.ซี. เทรดดิ้ง จำกัด
21 ต.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ภูมากทรัพย์ จำกัด
17 ธ.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท อั่งเปาสยาม จำกัด(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซีเอ็นบีซีกรุ๊ป จำกัด)
20 ม.ค.2554 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ไอ.เอ็ม.พี.โอ. เทรดดิ้ง จำกัด
28 ก.พ.2554 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท บีบี บิ๊ก จำกัด
28 ก.พ.2554 จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท บีบีกรุ๊ป วัน จำกัด
28 ก.พ.2554 จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ซีเอ็นบีซี โกลบอล จำกัด
บุคคลที่ปรากฏชื่อในเอกสารการจดทะเบียน อาทิ นายสุเทพ วุฒิพาณิชย์กุล นายวิษณุ อสุนีย์ นายบูชา คงพะเนา นายธนัช ปฏิมาวดี ล้วนเป็นบุคคลในสำนักงานบัญชีหรือมีความเกี่ยวโยงกับนายสุรพลทั้งสิ้น
จากนั้นกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันจดทะเบียน 6 บริษัทพร้อมกันเมื่อ 21 พ.ค.2555 ในพื้นที่บางรัก ได้แก่ บริษัท เกิดทรัพย์มั่งมี จำกัด บริษัท เคเคพีโอไอ จำกัด บริษัท หอกิตติทรัพย์ จำกัด บริษัท จีจีพีเอสไอ จำกัด บริษัท โอเอโอพี จำกัด และบริษัท พีเอส สำราญ จำกัด ต่อมาได้จดทะเบียนเพิ่มอีกหลายสิบแห่ง โดยปรากฎชื่อนายสุรพล เมฆะอำนวยชัยเป็นผู้สอบบัญชีทั้งหมด
@ พบชื่อ 4 ทนายความเอี่ยว
มีทนายความอย่างน้อย 4 คนปรากฏชื่อในเอกสารในการยื่นต่อนายทะเบียนจัดตั้งบริษัท คือ นายจารุวัตร ชีววัฒนรัตน์ นายระพี รายณสุข นายปิยะพงษ์ เนียมเอี่ยม และนายศักดิ์โกศล ปังเซ็น กรณีนายจารุวัตรนั้นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ดี.โอ.แฟคตอรี จำกัด ของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ตั้งแต่จัดตั้งบริษัท ปี 2534 ส่วนนายศักดิ์โกศล เป็นเจ้าของสำงานทนายความแห่งหนึ่งและเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับนายสุรพลด้วย
@อี-เมลลับมัดทำเป็นเครือข่าย
สำนักข่าวอิศราได้ตรวจสอบข้อมูลพบบุคคลที่คาดว่าเกี่ยวข้องกรณีการคืนภาษี ได้ส่งจดหมายอิเลคทรอนิกส์ (อีเมล์) อย่างน้อย 3 ฉบับถึงบุคคลในเครือข่ายเพื่อขอให้เตรียมการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในการขอคืนภาษี ก่อนมีการจัดตั้งบริษัทจำนวนมากในห้วงถัดมา
จดหมายอิเลคทรอนิกส์ดังกล่าวได้ส่งจากบุคคลที่ชื่อ “[email protected]” ถึงบุคคลที่ใช้อีเมล์ แอดเดรสส “[email protected]” Date: Fri, 17 Sep 2010 21:36:17 +0700 (วันที่ศุกร์ที่ 17 กันยายน 2553 เวลา 21.36 น.+0700)โดยใช้หัวเรื่อง(Subject:)ว่า “สรุปงานของบอล” และพิมพ์ข้อความว่า “ส่งให้บอลเพื่อตรวจสอบตัวเลขอีกที”
กล่าวถึงการคิดคำนวณต้นทุนการนำเข้า ต้นทุนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผลตอบแทนที่ “บอลจะได้รับ กรณีมีตั้งบริษัทกลาง 5 แห่ง กับกรณีการมีบริษัทกลาง 7 แห่ง และระบุว่าภาษีนิติบุคคล จะเสียบริษัทละประมาณ 150,000 บาท แต่บริษัทจริงจะเสียประมาณ 2,000,000 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายจะมีค่าเช่าสำนักงาน ค่าจ้างเด็กเฝ้าสำนักงาน ค่าใช้จ่ายทางบัญชี ประมาณ 300,000 บาท/บริษัท
และยังพบอี-เมลในลักษณะโต้ตอบกันอีก 2 ฉบับ ระบุรายละเอียด การจองชื่อจัดตั้งบริษัทจำนวน 7 บริษัท ระบุ ลำดับ วันที่รับจอง ผู้ขอจอง ชื่อ และสถานที่ (ตั้งบริษัท)
จากการตรวจสอบรายชื่อบุคคลเป็นกรรมการบริษัทที่ปรากฏชื่อในอี-เมลล้วนมีความเชื่อมโยงกับบริษัทที่จดทะเบียนในพื้นที่บางรัก อีกทั้งพบว่า “บอล”ซึ่งปรากฏชื่อในอี-เมลเป็นชื่อเล่นของนายวีรยุทธ แซ่หลก เจ้าของบริษัท ซีเอ็นบีซี เมทัล เทรด
@ก.คลังตั้งผู้ตรวจฯสอบปมคืน 4 พันล.
ในห้วงการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศรา มีความเคลื่อนไหวเชิงตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรรมาธิการของสมาชิกวุฒิสภา
วันที่ 28 มิ.ย.2556นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลังเป็นประธาน ทำงานควบคู่ไปกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ
@ย้ายซี 9 บางรัก-สมุทรปราการช่วยราชการ
ส่วนของกรมสรรพากรนั้น นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีได้ลงนามข้าราชการที่เกี่ยวข้อง คือนายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 และนายพายุ สุขสดเขียน สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 2 มาช่วยราชการที่กรมสรรพากร
@ เข้ากมธ.สภาสูง
คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งมีน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบรับกรณีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 โดยคณะอนุกรรมาธิการป้องกันการทุจริต และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานรับผิดชอบ
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภาที่มีรองศาสตราจารย์ วิชุดา รัตนเพียร ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ก็ให้ความสำคัญกับกรณีนี้ได้เรียกนายสาธิต รังคสิริ และผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลต่อ กมธ. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556
@ดีเอสไอหมายจับ 5 ผู้ต้องหา
ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนหน้านี้วันที่ 13 มิถุนายน 2556 นางศิวาพร ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิบดีในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการแจ้งเลิกและเสร็จการชำระบัญชีนิติบุคคลจำนวน 49 ราย ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้องตามข้อเสนอของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย
1.นายวีรยุทธ แซ่หลก หรือ นายธนยุทธ ดลธนโกเศศ 2.นางสาวสายธาร แซ่หลก 3.นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก 4.นายประสิทธิ์ อัญญโชติ 5.นายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ
ในข้อหาเดียวกัน กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใดๆโดยความเท็จโดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(6) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
@กก.สอบฯชุดกระทรวงคลังเชือด 18 ขรก.
ส่วนผลสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2556 สรุปผลในเบื้องต้นว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง จำนวน 18 ราย แบ่งเป็นข้าราชการอำนวยการระดับสูง ซี 9 จำนวน 4 ราย และข้าราชการระดับปฏิบัติงานอีกจำนวน 14 ราย แต่ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลดังกล่าว
@ผลสอบฯชุดอธิบดีกรมฯสรุปมีแค่ 10
ผลสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่อธิบดีกรมสรรพากรแต่งตั้ง ซึ่งนายสาธิต แถลงข่าวในวันเดียวกัน (แต่แถลงข่าวกระทรวงการคลังประมาณ 2 ชั่วโมง) ระบุกว้างๆว่ามีเจ้าหน้าที่สรรพากรเกี่ยวข้องจำนวน 10 ราย แต่ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าทั้ง 10 รายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วยหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าต้องรอข้อมูลการสอบสวนของดีเอสไออีกครั้ง
@สอบภาษีบริษัทครอบครัวสุวัฒน์-สุรพล
อย่างไรก็ตาม วันที่ 16 กรกฎาคม 2556 บริษัท เค.เอ็น.พี.ซี.เทรดดิ้งจำกัด บริษัท ดี.โอ.แฟคตอรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ข้าราชการระดับ 8 กรมสรรพากรและนายสุรพล เมฆะอำนวยชัย เจ้าของสำนักงานบัญชี ผู้สอบสวนบัญชีบริษัทเครือข่ายนายวีรยุทธ ได้ถูกสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 28 เข้าตรวจสอบการเสียภาษี และมีคำสั่งระงับการยกเลิกจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีไว้ก่อนเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2556 และวันที่ 22 ส.ค.2556 ตามลำดับ คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากสำนักข่าวอิศรานำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้
@ครม.เด้ง “สาธิต”เข้ากรุผู้ตรวจฯ
ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการชุดกระทรวงการคลังแต่งตั้งระบุมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 18 ราย ไม่ปรากฏว่ามีชื่อนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เป็น 1 ใน 18 รายชื่อถูกสอบสวนวินัยด้วยนั้น ทว่าวันที่ 27 สิงหาคม 2556 ครม.ได้เห็นชอบให้ย้ายนายสาธิต ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง พร้อมแต่งตั้งให้นายสุทธิชัย สังขมณี ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่แทน นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบแต่งตั้งให้นายราฆพ ศรีศุภอรรถผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นอธิบดีกรมศุลกากรคนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป
@อธิบดีทิ้งทวนย้าย 3 ลูกน้องพัวพัน
ก่อนนายสาธิตจะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ได้ลงนามในคำสั่งฐานะอธิบดี ย้ายข้าราชการระดับสูง จำนวน 3 ราย ในพื้นที่ที่เกิดปัญหาคดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้แก่
1. นายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 22 (บางรัก) ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรม งานตรวจราชการ 1
2. นายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรม งานตรวจราชการ 2
3. นายกู้ศักดิ์ จันทราช สรรพากรพื้นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นนทบุรี ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรม งานตรวจราชการ 6
ทั้งหมดคือภาพรวมความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกิดขึ้นในรอบ 3 เดือน
นับจากนี้ ต้องรอดูว่าหน่วยงานตรวจสอบโดยเฉพาะดีเอสไอมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการขยายผลเอาผิดผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากเดิม 5 คนหรือไม่? จะสรุปสำนวนส่งให้อัยการเมื่อไหร่ ผู้เข้าข่ายกระทำความผิดที่ดีเอสไอได้รับรายชื่อจากกระทรวงการคลังเป็นข้าราชการระดับ 8 ขึ้นไปนั้นจะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนต่อกี่ราย ?
ขณะเดียวกันคณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการของกระทรวงการคลังจะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศราจะติดตามมาเสนอต่อไป
……
ลำดับการนำเสนอข่าวเชิงตรวจสอบกรณีคืนภาษีฉาว 4 พันล้าน (โดยสังเขป)
9 มิ.ย.2556 |
สำนักข่าวอิศรารายข่าวกรณีกรมสรรพากรได้อนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ 30 บริษัทปริศนาเป็นเงินกว่า 3,647 ล้านบาท |
11 มิ.ย. 2556 |
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ บ้านนายกิติศักดิ์ อัญญโชติ กรรมการบริษัทเครือข่ายคืนภาษีใน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ พบเป็นบ้านญาติ ภูมิลำเนาเดิม จ.ตาก ก่อนหน้านี้ 6 มิ.ย. 2556 ผู้สื่อข่าวลงพื้นตรวจสอบที่ตั้งบริษัทหลายแห่งในพื้นที่ สีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ อาทิ บริษัท หอกิตติทรัพย์ จำกัด บริษัท จีจีพีเอสไอ จำกัด พบเป็นห้องเช่าว่างเปล่าบางแห่งปิดล็อคประตู |
13 มิ.ย. 2556 |
ดีเอสไอมีคำสั่งระงับการแจ้งเลิกและเสร็จการชำระบัญชีนิติบุคคลจำนวน 49 ราย ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้องตามข้อเสนอของดีเอสไอ จำนวน 5 ราย |
13 มิ.ย.2556 |
นายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่ 22 ทำหนังสือ ขอให้ระงับการรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีบริษัทที่ถูกตรวจภาษีอากรอย่างน้อย 5 บริษัท |
14 มิ.ย. 2556 |
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบที่ตั้ง บริษัทเครือข่ายคืนภาษี บริษัท บีบีบิ๊ก จำกัด ใน จ.สมุทรปราการ พบเป็นห้องเช่าโล่งๆ |
15 มิ.ย.2556 |
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลบริษัททั้งสองแห่งในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พบเป็นห้องเช่าโล่งๆ |
16 มิ.ย.2556 |
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ จ.พิจิตร สอบถามข้อเท็จจริงพบบุคคลเป็นกรรมการบริษัท มีภูมิลำเนาใน อ.เมือง จ.พิจิตร พบว่าเป็นชาวบ้านและไม่ทราบเรื่องธุรกิจ |
18 มิ.ย.2556 |
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ เลขที่ 25/59 หมู่ที่ 8 ถนนรัตนาธิเบศร์ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ที่ตั้ง บริษัท เอสเอ็ม รีไซเคิล จำกัด และ บริษัท เคเค เมทัล เทรด จำกัด ไม่ปรากฏป้ายชื่อบริษัท ผู้เช่าไม่เคยเข้ามาอยู่ |
19 มิ.ย.2556 |
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ เลขที่ 78/14 หมู่ที่ 2 ตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่ตั้ง บริษัท บาลานซ์สตีล จำกัด และ บริษัท รีเวอร์สตีลเมทัล เทรดดิ้ง จำกัด ไม่มีคนอยู่อาศัยมานานแล้ว |
21 มิ.ย.2556 |
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ เลขที่ 19/141 อาคารสุขุมวิท สวีท ชั้น 14 ซอยสุขุมวิท13(แสงจันทร์) แขวงคลองเตยเหนือ บริษัท บริษัท โอเพ่น เทรดดิ้ง จำกัด พบเป็นห้องสำนักงานโล่ง ไม่มีผู้อาศัย และตรวจสอบ บริษัท ฟรี สตีล จำกัดพบอยู่ใกล้กับซอยคาวบอยย่านอโศก เป็นอาคารสำนักงานให้เช่าเช่นกัน แต่ไม่พบป้ายชื่อบริษัทฯ |
26 มิ.ย.2556 |
นายมานิตย์ พลรัตน์นักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติราชการแทนสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ อายัดนิติบุคคล จำนวน 30 ราย |
28 มิ.ย.2556 |
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการเป็นประธาน |
30 มิ.ย.2556 |
พบ“วีรยุทธ แซ่หลก”เจ้าของเครือข่าย 58 บริษัทคืนภาษีนั่งที่ปรึกษาประธาน กมธ.การเงิน สภาผู้แทนฯ ร่วมคณะดูงานประเทศจีนช่วงปลายปี 2555 |
4 ก.ค.2556 |
คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา มีมติเห็นชอบรับกรณีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการ |
31 ก.ค.2556 |
ศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้องตามข้อเสนอของดีเอสไอ จำนวน 5 ราย เป็นเอกชนทั้งหมด |
22 ส.ค. 2556 |
-คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง สรุปผลมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 18 ราย เป็นข้าราชการระดับสูง ซี 9 จำนวน 4 ราย และระดับปฏิบัติงานอีก 14 ราย -คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่อธิบดีกรมสรรพากรแต่งตั้ง แถลงข่าวมีเจ้าหน้าที่สรรพากรเกี่ยวข้องจำนวน 10 ราย |
27 ส.ค.2556 |
คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภาเรียกนายสาธิต รังคสิริ และผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูล |
27 ส.ค. 2556 |
ครม.เห็นชอบย้ายนายสาธิตรังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งนายสุทธิชัย สังขมณีผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ |
5 ก.ย. 2556 |
นายสาธิต รังคสิริ ในฐานะอธิบดีย้ายข้าราชการระดับสูง จำนวน 3 ราย นายศุภกิจ ริยะการ นายพายุ สุขสดเขียว และนายกู้ศักดิ์ จันทราช เป็นผู้ตรวจราชการกรม |
ที่มา:ศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา รวบรวม