ปลัดศธ.ชี้โภชนการที่ดีสร้างเด็กโตอย่างมีศักยภาพ
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แนะทุกฝ่ายร่วมเสริมสร้างโภชนาการเด็กชี้เป็นต้นทุนสำคัญสร้างศักยภาพ ด้านบุคคลากรครูขานรับเน้นโครงการแบบยั่งยืนลดทั้งทุพโภชนการและสร้างรายได้
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา จัดมหกรรม “น้องอิ่มท้อง สมองแจ่มใส” โดยหวังให้ความรู้ แนวทางในการสร้างเสริมให้นักเรียนได้รับอาหารอย่างเพียงพอและมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง โดยมีนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพคเมืองทองธานี
นางพนิตา กล่าวถึงประชากรในวัยเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประถมศึกษาอยู่ในช่วงที่กำลังเจริญเติบโตศึกษาหาความรู้ หากได้รับอาหารในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือได้รับอาหารที่ไม่ครบถ้วน ย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสติปัญญาของนักเรียนทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นหากทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและร่วมมือกันเสริมสร้างเด็กให้มีภาวะโภชนาการที่ดี ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเจริญเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพมีสมองแจ่มใสในการเรียนรู้และเป็นอนาคตของชาติในการพัฒนาประเทศต่อไป
นายพินิจ จันทร์กระจ่าง ที่ปรึกษาโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน กล่าวว่า โครงการอาหารกลางวันที่เราทำขึ้นไม่ใช่แค่เพียงการให้ทุนทางโรงเรียน แต่เป็นการเข้าไปแนะนำให้ความรู้เพื่อให้โรงเรียนรู้จักช่วยเหลือตัวเองในการที่จะสร้างโครงการอาหารกลางวัน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผัก การเลี้ยงไก่ เพื่อให้เกิดทุนหมุนเวียนนำมาใช้ได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ประเด็นสำคัญไม่ได้มุ่งหวังเพียงการลดทุพโภชนาการเท่านั้น แต่เรายังหวังว่าเด็กๆจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆจากกระบวนการที่เกิดขึ้น รู้จักการทำบัญชีรายรับรายจ่าย รู้ขั้นตอนของการผลิตว่ากว่าจะมาเป็นไข่ หรือผักให้เรารับประทานมาอย่างไร แต่ละอย่างมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
"หากเราสามารถสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับเด็กได้ ต่อไปเขาจะมีความรู้และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและเลือกทานอาหารที่มีคุณค่าได้"
ด้านนายทรงศักดิ์ สิริรัมย์ ผอ.โรงเรียนบ้านหนองหญ้าปล้อง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ได้เริ่มโครงการอาหารกลางวันตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งก่อนหน้านั้นเด็กจะห่อข้าวมาเอง นั่งทานตามพื้นซึ่งมองเห็นว่า เป็นการทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ จึงได้ชูนโยบายโครงการอาหารและสร้างเสริมสุขภาพนักเรียนขึ้นมา เริ่มจากการปลูกผักและประกอบอาหารกลางวันโดยที่นักเรียนไม่ต้องห่อข้าวมาอีก มีการพัฒนามาเรื่อยๆ
สำหรับต้นทุนอาหารกลางวันรายหัว 13 บาทต่อคนนั้น นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เพียงพอ เนื่องจากข้าวทุกวันนี้ตกจานละ 40-50 บาทแล้ว เราจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน โดยโรงเรียนเริ่มจากการปลูกผักเลี้ยงไก่ ปลา นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังดูแลเรื่องสุขภาพนักเรียนด้วยการควบคุมการทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น น้ำอัดลม ซึ่งไม่ได้ดูแลเฉพาะภายในโรงเรียนเท่านั้น ทางโรงเรียนยังขอความร่วมมือไปยังผู้ปกครองของเด็กเพื่อให้ช่วยดูแลเรื่องนี้ โดยจะมีการประชุมในทุกเดือน ให้ครูเข้าไปให้ความรู้
"หากเราควบคุมแค่สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนไม่มีทางที่จะได้ผล 100% ดังนั้นการขอความร่วมมือจากผู้ปกครองและชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ และนับว่าเป็นความโชคดีที่คนในชุมชนให้ความร่วมมือ ทำให้เด็กที่โรงเรียนห่างไกลจากน้ำอัดลม โดยเราจะมีการทำแบบประเมินทุกเดือนรวมถึงทุกเช้าจะมีการถามในชั้นเรียนว่าใครกินน้ำอัดลมบ้าง ถ้าเด็กไม่บอกเอง ก็จะมีนักเรียนคอยสอดส่องดูแลและรายงานตลอดครูก็จะอธิบายและตักเตือน"
ทั้งนี้ ผอ.โรงเรียนบ้านหนองหญ้าปล้องฯ กล่าวด้วยว่า ในโครงการอาหารกลางวันที่เกิดขึ้นเราจะให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่ก่อนเริ่มเพาะปลูก ดูแล เพื่อให้เด็กได้เกิดทักษะการเรียนรู้และความอดทน นอกจากนี้ผลผลิตที่เหลือเรายังนำมาแปรรูปขาย โดยจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ลดหวาน ลดเค็ม ทำให้เด็กมีรายได้ในระหว่างเรียนอีกด้วย จากโครงการที่เราเริ่มทำมาทำให้สุขภาพและพัฒนาการต่างๆของนักเรียนในโรงเรียนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับรางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ระดับเพชรของประเทศในปี 2555 และกลายมาเป็น1ใน30 โรงเรียนต้นแบบโครงการอาหารกลางวันน้องอิ่มท้อง สมองแจ่มใส และเชื่อว่าการเขาไปให้ความรู้เพื่อให้แต่ละโรงเรียนรู้จากสร้างทุนที่ได้ให้เกิดการหมุนเวียนจะเป็นวิธีการที่ลดการขาดแคลนอาหารในกลุ่มเด็กๆได้เป็นอย่างดี
ขณะที่นางศิริลักษณ์ บุญศรี ครูคศ.1 โรงเรียนบ้านโป่งสวอคีรีวรรณ์1ใน 30 โรงเรียนต้นแบบโครงการอาหารกลางวัน น้องอิ่มท้องสมองแจ่มใส กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการอาหารกลางวันน้องอิ่มท้อง สมองแจ่มใส ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมนี้มาก่อนแล้ว โดยมีการเพาะเห็ด เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ และกำลังจะเลี้ยงปลา ซึ่งเราได้รับความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ของจ.ลพบุรีเข้ามาช่วยเช่นการผสมอาหารให้ไก่ ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องการดูแล และโครงการที่เกิดขึ้นผู้ลงมือทำจะเป็นเด็ก นอกจากที่เราจะลดทุพโภชนาการแล้วยังเป็นการสร้างให้เด็กได้เรียนรู้กระบวนการของการผลิตอาหาร รู้ที่มาที่ไปว่าอาหารที่ทานมีความสะอาดและมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด