แง้มสถิติกลุ่มป่วนใต้เน้นถล่มจนท. ชงนายกฯปรับยุทธวิธี-ที่ตั้งฐาน
แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกลุ่มที่ถืออาวุธ ทั้งตำรวจ ทหาร ทหารพราน และอาสารักษาดินแดน (อส.) คือเป้าหมายหลักของผู้ก่อเหตุรุนแรงในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หากพิจารณาจากข้อมูลสถิติที่เก็บรวบรวมโดยหลายหน่วยงานจะพบว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมายอดผู้สูญเสียจากเหตุรุนแรงกลับเป็นประชาชนและกลุ่มอาชีพอื่นๆ มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ถืออาวุธ
ด้วยเหตุนี้ทำให้การประเมินสถานการณ์และจัดวางกำลังพลของทหาร ตำรวจ และ อส. มุ่งเน้นไปที่การรักษาความปลอดภัยประชาชน ชุมชน ผู้นำศาสนา สถานที่ราชการ และระบบสาธารณูปโภคสำคัญเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ในปี 2556 โดยเฉพาะห้วงหลังจากที่มีการริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ เป้าหมายของการก่อเหตุรุนแรงได้เปลี่ยนไปยังเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นปีแรกที่สถิติความสูญเสียของประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ ต่ำกว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ถืออาวุธ
ตัวอย่างล่าสุดคือเหตุการณ์โจมตีเจ้าหน้าที่ 3 วันซ้อน ระหว่างวันที่ 10-12 ก.ย. ทำให้กำลังพลทั้งทหาร ตำรวจ และทหารพราน เสียชีวิตถึง 11 นาย เป็นภาพสะท้อนแนวโน้มดังกล่าวได้อย่างชัดเจน
เมื่อเร็วๆ นี้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้จัดทำรายงานพร้อมบทวิเคราะห์เสนอต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมเสนอแนวทางปรับเปลี่ยนทางยุทธวิธีเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ชาวบ้านตายน้อยกว่า จนท.เป็นปีแรก
รายงานดังกล่าวระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 ถึง 18 ส.ค.2556 มีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชาย แดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) รวมทั้่งสิ้น 1,069 ครั้ง ทั้งนี้ไม่รวมเหตุก่อกวนประเภทโปรยใบปลิวและติดป้ายผ้า มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 776 ราย
เฉพาะสถิติผู้สูญเสีย จำแนกเป็นผู้เสียชีวิต 226 ราย เป็นประชาชน 98 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 128 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 550 ราย เป็นประชาชน 197 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 353 ราย ชี้ให้เห็นว่าความสูญเสียของประชาชนน้อยกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนับเป็นปีแรกในรอบ 9 ปีไฟใต้ที่ปรากฏสถิติเช่นนี้
เปรียบเทียบข้อมูลความสูญเสียในปีอื่นๆ ในห้วง 9 ปีของความไม่สงบ พบว่านับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นประชาชนจะสูงกว่าเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธตลอด ดังนี้ (ดูกราฟฟิก 2 ประกอบ)
ปี 2547 ประชาชน 175 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 139 ราย รวม 314 ราย
ปี 2548 ประชาชน 263 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 126 ราย รวม 389 ราย
ปี 2549 ประชาชน 372 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 203 ราย รวม 575 ราย
ปี 2550 ประชาชน 606 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 236 ราย รวม 842 ราย
ปี 2551 ประชาชน 287 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 189 ราย รวม 476 ราย
ปี 2552 ประชาชน 297 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 196 ราย รวม 493 ราย
ปี 2553 ประชาชน 215 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 159 ราย รวม 374 ราย
ปี 2554 ประชาชน 258 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 168 ราย รวม 426 ราย
ปี 2555 ประชาชน 189 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 146 ราย รวม 335 ราย
ปี 2556 ประชาชน 89 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 124 ราย รวม 213 ราย (นับถึง 18 ส.ค.)
"เส้นทางลาดตระเวน-จุดพัก"เกิดเหตุถี่
รายงานที่นำเสนอนายกรัฐมนตรี ยังได้จำแนกข้อมูลเหตุรุนแรงและความสูญเสียในระดับจังหวัด ในปี 2556 (ห้วงตั้งแต่ 1 ม.ค.ถึง 18 ส.ค.2556) สรุปได้ดังนี้
จ.นราธิวาส มีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 431 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 82 ราย จำแนกเป็น ประชาชน 38 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 44 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 194 ราย เป็นประชาชน 77 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 117 ราย
จ.ปัตตานี มีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 335 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 89 ราย จำแนกเป็นประชาชน 39 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 50 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 168 ราย เป็นประชาชน 75 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 93 ราย
จ.ยะลา มีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 257 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 54 ราย จำแนกเป็นประชาชน 21 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 33 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 172 ราย เป็นประชาชน 37 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 135 ราย
จ.สงขลา (4 อำเภอ) มีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 46 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บาดเจ็บรวม 16 ราย เป็นประชาชน 8 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 8 ราย
จากข้อมูลแยกรายจังหวัด พบว่า จ.นราธิวาส มีสถิติการเกิดเหตุรุนแรงสูงที่สุด ตามด้วย จ.ปัตตานี ยะลา และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เมื่อวิเคราะห์ในระดับพื้นที่พบว่า พื้นที่ที่เกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้งเป็นเส้นทางสัญจรของหน่วยกำลังในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทั้งลาดตระเวนเส้นทาง เดินทางเข้า-ออกฐานปฏิบัติการ รวมไปถึงพื้นที่ที่หน่วยกำลังใช้เป็นประจำ เช่น พื้นที่รักษาความปลอดภัยหน้าโรงเรียน ศาลาที่พักริมทาง เป็นต้น
"กรงปินัง-รามัน"พื้นที่เสี่ยงของ จนท.
ข้อมูลดังกล่าวยังสอดรับกับข้อมูลเชิงลึกในระดับอำเภอ ซึ่งพบว่า จาก 37 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา อำเภอที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตมากที่สุด คือ อ.กรงปินัง จ.ยะลา รองลงมาคือ อ.รามัน จ.ยะลา (ดูกราฟฟิก 1 ประกอบ) สะท้อนว่าในพื้นที่เหล่านี้ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีขีดความสามารถในการเคลื่อนไหวและก่อเหตุได้อย่างเสรี ขณะเดียวกันก็มีหน่วยกำลังตั้งอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ (เช่น ค่ายวังพญา ซึ่งเป็นฐานบัญชาการสำคัญของทหารพราน ตั้งอยู่ที่ อ.รามัน เป็นต้น) ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นเป้าหมายอ่อนแอในการโจมตี จนก่อให้เกิดความสูญเสียสูงมาก
ส่วนการสูญเสียของประชาชนในห้วงเวลาเดียวกัน คือ 1 ม.ค.ถึง 18 ส.ค.2556 พบว่า อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีสถิติการสูญเสียสูงที่สุด ตามด้วย อ.เมืองปัตตานี วิเคราะห์ว่าในช่วงที่ผ่านมามีการปิดล้อมตรวจค้นและวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยหลายครั้งในพื้นที่ อ.รือเสาะ ทำให้มีการก่อเหตุรุนแรงเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ อ.เมืองปัตตานี ส่วนใหญ่เกิดเหตุกราดยิงประชาชนในเขตชุมชนหลายครั้ง เช่น ร้านน้ำชา ร้านขายของชำ ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก
รายงานที่นำเสนอนายกฯ สรุปในตอนท้ายว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เปลี่ยนเป้าหมายจากประชาชนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน คาดว่าเพื่อมุ่งขยายฐานมวลชนเพิ่มขึ้น และหวังสร้างความได้เปรียบในกระบวนการสันติภาพ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะยังคงติดตามความเคลื่อนไหวเพื่อกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์มิติเชิงพื้้นที่เกิดเหตุรุนแรง มีความสัมพันธ์กับสถานที่ปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กับการตอบโต้ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และเหตุปะทะของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน
แนะปรับยุทธวิธี-กำหนดพื้นที่รุนแรงใหม่
แหล่งข่าวจากหน่วยงานรัฐที่ทำงานกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าความรู้สึกของคนในพื้นที่กับคนนอกพื้นที่อาจจะแตกต่างกัน คนนอกพื้นที่มองว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรุนแรงอยู่แม้จะมีการพูดคุยสันติภาพ จึงมีกระแสกดดันให้ล้มเลิกการพูดคุย แต่คนในพื้นที่มองว่าการพูดคุยมีแนวโน้มที่ดี และประชาชนผู้บริสุทธิ์สูญเสียน้อยลง แม้แต่ชาวบ้านไทยพุทธก็ยังสนับสนุนให้พูดคุยต่อไป
ส่วนเจ้าหน้าที่ที่สูญเสียซึ่งมีจำนวนมากขึ้นนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเห็นว่าการตกเป็นเป้าโจมตีมีส่วนสัมพันธ์กับเงื่อนไขการปฏิบัติเชิงรุกของฝ่ายความมั่นคงเอง ถ้ามีการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม โดยเฉพาะวิสามัญฆาตกรรม ก็จะมีการตอบโต้กลับมา นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาภัยแทรกซ้อนต่างๆ ผสมโรงอยู่ด้วย (ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี)
"ผมอยากให้รัฐบาลนำความเชื่อมโยงเหล่านี้ไปวิเคราะห์และกำหนดยุทธวิธีใหม่เพื่อลดความสูญเสีย และอีกด้านหนึ่งก็จะได้สอดรับกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพด้วย เชื่อว่าน่าจะทำให้ความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ลดลงได้" แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงซึ่งอยู่ในหน่วยงานด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การกำหนดพื้นที่ของฝ่ายความมั่นคงเป็นพื้นที่สีแดงตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือที่กำหนดสีหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านแดง เหลือง เขียวนั้น อาจจะต้องปัดฝุ่นกันใหม่ เพราะหากดูตามพื้นที่เกิดเหตุจริงจะไปสัมพันธ์กับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และพื้นที่ที่มีการตั้งฐานปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงมากกว่า จึงน่าจะมีการปรับยุทธวิธีเพื่อลดความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติลง
ขณะเดียวกัน การเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชนหมู่บ้าน เน้นการให้ความสำคัญกับบทบาทผู้นำท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะมีส่วนเอื้อและสนับสนุนในการป้องกันเหตุรุนแรงและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งหลักคิดนี้สอดรับแนวทางการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ส่งงบประมาณตรงถึงหมู่บ้าน ตำบล เพื่อดูแลความปลอดภัยกันเอง สอดคล้องกับกระแสเรียกร้องการปกครองดูแลกันเองของประชาชน ให้ประชาชนสรรค์สร้างความสงบในหมู่บ้านและชุมชนของตนเองในรูปอาสาสมัครพิทักษ์เมือง (อส.พม.) อันจะเป็นการเสริมการทำงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงในอีกทางหนึ่งด้วย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟฟิกแสดงอัตราการสูญเสียของเจ้าหน้าที่รัฐ แยกเป็นพื้นที่ระดับอำเภอ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ถึง 18 ส.ค.2556
2 กราฟฟิกแสดงอัตราการสูญเสียของประชาชนเปรียบเทียบกับเจ้าหน้าที่รัฐในห้วง 9 ปีไฟใต้
อ่านประกอบ : การอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดตั้งอาสาสมัครพิทักษ์เมือง "เทงบกลาง 453 ล้านแก้ใต้" http://bit.ly/185z5TQ