ก.เกษตรฯ เคาะเอกสารสิทธิ์ที่ดินรับเงินช่วยปัจจัยผลิตชาวสวนยาง
ก.เกษตรฯ เคาะเกณฑ์รับเงินช่วยเหลือปัจจัยผลิตชาวสวนยาง ระบุยึดตามประเภทเอกสารสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่ยอมรับของกรมป่าไม้ 46 รายการ ส่วนพื้นที่ป่า-เขตอุทยาน จี้กรมส่งเสริมการเกษตรส่งข้อมูลให้กรมป่าไม้ตรวจสอบตามกม.
วันที่ 13 ก.ย. 2556 นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ปลูกยางพารา ว่า เป็นที่ชัดเจนประเภทเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่เข้าหลักเกณฑ์เพื่อใช้ยื่นรับสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางในอัตราไร่ละ 2,520 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ กรมส่งเสริมการเกษตรจะยึดตามประเภทเอกสารสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่ยอมรับของกรมป่าไม้ทั้งหมด 46 รายการ แบ่งเป็น ประเภทที่ดินซึ่งได้มาตามเอกสารเกี่ยวกับที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามประมวลกฎหมายที่ดิน 17 รายการ เช่น โฉนดที่ดิน,ตราจอง,น.ส.4, น.ส.4ข, และประเภทที่ดินที่มีสิทธิครอบครองหรือทางราชการให้ใช้ประโยชน์ 29 รายการ เช่น ที่ดินส.ป.ก. หนังสือรับรองของนิคมสหกรณ์, ก.ส.น.3, ก.ส.น.4,หนังสือรับรองของหน่วยราชการทหาร รวมถึงใช้ใบรับรองภาษีที่ดิน หรือ ภ.บ.ท.ก็สามารถใช้เป็นเอกสารเข้าร่วมโครงการได้ แต่จะต้องมีคำรับรองของกรมป่าไม้หรือส่วนราชการที่ที่ดินตั้งอยู่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้มาประกอบเป็นหลักฐาน
สำหรับกรณีเกษตรกรทำสวนยางในพื้นที่ในเขตป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีเกษตรกรเข้าไปทำสวนยางในพื้นที่ป่าสงวนประมาณ 3.3 ล้านไร่ และเขตอุทยานแห่งชาติอีกประมาณ 1 ล้านไร่ ก็จะเป็นอีกขั้นตอนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องเข้าไปตรวจสอบและพิสูจน์สิทธิ์การถือครองที่ดินว่าเป็นไปตามกฎหมายของกรมป่าไม้และกฎหมายของอุทยานแห่งชาติ รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 2 ครั้งที่กำหนดให้ใช้พื้นที่ได้ และมีการใช้สิทธิ์ที่ดินอยู่ก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ป่าหรืออุทยานหรือไม่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะส่งรายชื่อและข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้แก่กรมป่าไม้ เพื่อตรวจสอบตามกฎหมายว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างไรต่อไป
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนของความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราตั้งแต่วันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้ได้มีเกษตรกรมาแจ้งขึ้นทะเบียนแล้ว 1 แสนราย ซึ่งคาดว่าจะมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจพื้นที่ปลูกยางทุกแปลงที่จะเกิดความชัดเจนของพื้นที่การรับการช่วยเหลือรายละไม่เกิน 25 ไร่ เกษตรกรมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง และไม่เปิดกรีดยางมาแล้วเกิน 25 ปี ส่วนเกษตรกรบางรายที่ได้มีการแบ่งที่ดินให้ลูกหลานเพื่อประกอบอาชีพ ก็ต้องมีเอกสารทางราชการ และโฉนดที่ดินที่จัดสรรแล้วอย่างถูกต้องยืนยันถึงจะเข้าร่วมโครงการได้ .