3 วัน 11 ศพที่ชายแดนใต้ จับสัญญาณ "วุ่น" ก่อนเจรจารอบ4
แค่ 3 วันมีกำลังพลต้องสังเวยชีวิตไปกับสถานการณ์ไฟใต้แล้วถึง 11 นาย...
10 ก.ย. ระเบิดในโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 2 อ.เมือง จ.ยะลา ทหารเสียชีวิต 2 นาย, ยิงทหารพรานที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เสียชีวิตอีก 1 นาย
11 ก.ย. คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มตำรวจชุดปราบน้ำมันเถื่อนที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เสียชีวิต 5 นาย
12 ก.ย. คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มทหารพรานที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เสียชีวิตอีก 3 นาย
เป็นการก่อเหตุที่พุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดแจ้ง และเป็นการก่อเหตุในสัปดาห์ที่มีความชัดเจนจากปากของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าทีมพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยว่า การพูดคุยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ จะยังคงเดินหน้าต่อไป โดยได้กำหนดนัดหมายพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 ราวกลางเดือน ต.ค.นี้
เป็นความชัดเจนหลังจากอึมครึมมานานว่า "โต๊ะพูดคุย" ล้มหรือไม่ โดยเฉพาะข่าวลือที่ออกมาทั้งจากสื่อกระแสหลักและกระแสรองมั่วไปหมดว่าโต๊ะพูดคุยล้มแล้ว บ้างก็ว่านายฮัสซันถูกปลด...
2 สัปดาห์ก่อนหน้าเกิดเหตุรุนแรง 3 วันซ้อนเที่ยวนี้ คือตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.จนถึงวันที่ 9 ก.ย. สถานการณ์ในพื้นที่เงียบสงบจนหลายคนตั้งข้อสงสัย
หากสังเคราะห์ข้อมูลและความเคลื่อนไหวทั้งจากฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และทีมพูดคุยสันติภาพ จะสามารถต่อจิ๊กซอว์ได้รางๆ ว่าเหตุใดสถานการณ์ในพื้นที่จึงขึ้นๆ ลงๆ จนผิดสังเกต ดังนี้
1.ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะทหารมองว่าสถานการณ์ที่เงียบสงบช่วงปลายเดือน ส.ค.ต่อเนื่องต้นเดือน ก.ย. เพราะมีกำลังพลเติมเข้าไปในพื้นที่เยอะ แบ่งเป็นกองร้อยทหารราบ (ร้อย ร.) จำนวน 8 กองร้อย และกองร้อยทหารพราน (ร้อย ทพ.) จำนวน 20 กองร้อย มีทั้งกำลังพลฝึกใหม่ และกำลังพลที่ถูกส่งเข้าไปผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน แต่ กอ.รมน.ใช้วิธีส่งกำลังเข้าไปฝึกปฏิบัติงานในพื้นที่จริงก่อนกำหนด ทำให้มีกำลังพลเพิ่มจากเดิมเกือบ 2 เท่า ยังไม่นับรวมตำรวจฝึกใหม่ และตำรวจจากส่วนกลางที่ลงไปช่วยสะสางคดีค้างเก่าตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลยังคงยืนยันเดินหน้าพูดคุยสันติภาพต่อ แม้ผู้นำกองทัพจะออกมาปฏิเสธ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นอย่างแข็งกร้าว ท่าทีดังกล่าวทำให้ฝ่ายขบวนการฯมั่นใจว่ารัฐบาลเอาจริงกับการพูดคุย ทำให้บีอาร์เอ็นกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มนายฮัสซันสนใจเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย รวมถึงกลุ่มพูโลและกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ด้วย ส่งผลให้การก่อเหตุรุนแรงชะงักไป
แต่เมื่อมีสัญญาณชัดเจนเรื่องการพูดคุยครั้งใหม่ ก็เริ่มมีปัญหาชิงการนำกันภายในของกลุ่มขบวนการฯ ประกอบกับกำลังพลที่ปฏิบัติงานครบวงรอบได้เริ่มถอนกำลังออกจากพื้นที่ ทำให้มีช่องว่างการก่อเหตุรุนแรงขึ้นมาอีกระลอก
2.ฝ่ายขบวนการฯ ชัดเจนว่ามีปัญหาขัดแย้งกันเองภายในจนแกว่งไปเหมือนกัน โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลไทยริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพแบบ "เปิดเผย" ต่อสาธารณะ เพราะกลุ่มที่มีโอกาสเข้าร่วมโต๊ะคือ บีอาร์เอ็นสายนายฮัสซัน ตอยิบ เท่านั้น ซึ่งเชื่อกันว่ามี นายสะแปอิง บาซอ แกนนำคนสำคัญเป็นเงาทาบอยู่เบื้องหลัง
ตลอดมามีข่าวต่อเนื่องว่า "ฝ่ายคุมกำลังในบีอาร์เอ็น" ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย มีการอ้างถึง ดุลเลาะ แวมะนอ แห่งปอเนาะญิฮาด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้นำฝ่ายทหารคนสำคัญ ว่าได้แสดงท่าทีคัดค้านอย่างแข็งขัน แถมยังมีข่าวชิงการนำกันภายในของกลุ่มนายฮัสซัน และผู้นำทางความคิดรายอื่นๆ ด้วย เพราะหากใครจะร่วมโต๊ะพูดคุยในช่วงที่ผ่านมา ต้องผ่านบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซันเท่านั้น
ส่วนความเคลื่อนไหวนอกบีอาร์เอ็นก็ยังมีอีกหลายกลุ่มหลายพวก หลักๆ คือ "องค์การพูโล" หรือพูโลเก่า ข่าวว่ามีตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยพร้อมกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน 2 ครั้งหลัง แต่ "พูโลใหม่" ที่แตกตัวออกไป ทั้ง "พูโลนก" (ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปนก) และ "พูโลกริช" (ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกริช) ไม่ได้ร่วมโต๊ะด้วย ทั้งๆ ที่แกนนำบางคนมีบทบาทพูดคุยอย่างลับๆ กับฝ่ายความมั่นคงไทยมาหลายปี บางรายถึงขนาดเคยทำข้อตกลงหยุดยิงบางพื้นที่มาแล้ว
เมื่อทำท่าจะตกขบวน (เพราะบีอาร์เอ็นเองก็แสดงท่าทีกีดกัน โดยเคยระบุในข้อเรียกร้องที่แถลงผ่านคลิปวีดีโอบางครั้งว่าห้ามรัฐบาลไทยพูดคุยกับกลุ่มอื่น) จึงเกิดความไม่พอใจ และได้นำมาสู่การจัดตั้ง "กองกำลังรุ่นใหม่" ที่ใช้ชื่อว่า PLA หรือ PULO Liberation Army โดยระดมกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่มีหมายจับไปฝึกอาวุธและลอบวางระเบิด ซึ่งเหตุรุนแรงจำนวนหนึ่งในช่วงหยุดยิงรอมฎอน 40 วัน (10 ก.ค.ถึง 18 ส.ค.) ก็มาจากฝีมือของกลุ่มนี้
ความสับสนอลหม่านของฝ่ายขบวนการฯ ยังสะท้อนผ่านคลิปวีดีโอปริศนาที่มีชายสวมไอ้โม่งปิดบังใบหน้า แถลงอ้างมติ "สภาซูรอ" ว่าไม่ให้มีการพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทยอีกต่อไปด้วย (คลิปถูกเผยแพร่ราววันที่ 7 ส.ค.)
มีข่าวจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐว่า ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.เป็นต้นมา ก่อนวันชาติมาเลเซียเพียง 2 วัน ซึ่งทางการไทยคาดว่าจะมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็ผ่านมาด้วยดีนั้น ได้มีคำสั่งจากแกนนำในขบวนการฯหลายระดับให้ฝ่ายกองกำลังยุติการก่อเหตุชั่วคราว และยังระบุด้วยว่าเดือน ก.ย.จะไม่มีการพูดคุยสันติภาพ หากจะมีก็เป็นเดือน ต.ค.
มีความเป็นไปได้ว่าช่วง 2 สัปดาห์ที่สถานการณ์เงียบสงบนั้น อาจมีการพูดคุยจัดขบวนกันภายในของฝ่ายขบวนการฯ หรือไม่ก็กำลังรอความชัดเจนจากทีมพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยอยู่ เพราะเป็นช่วงที่ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ เดินทางมาไทยถึง 2 ครั้ง 2 ครา
และเมื่อชัดเจนว่าไทยเดินหน้าพูดคุยต่อ จึงเริ่มก่อเหตุรุนแรงกดดันเพื่อชิงความได้เปรียบกันอีกรอบ
3.ทีมพูดคุยสันติภาพ พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์แบบไม่อ้อมค้อมว่าจะมีการพูดคุยรอบใหม่ในเดือน ต.ค.และจะมีการดึงกลุ่มใหม่เข้าร่วมพูดคุยด้วย คาดว่าจะเป็น "พูโลใหม่ 2 กลุ่ม" และ "บีไอพีพี" โดยข่าววงในระบุว่าน่าจะเกิดจากการประสานงานของมาเลเซีย และน่าจะเชื่อมโยงกับที่ ดาโต๊ะซัมซามิน เดินทางมาประเทศไทย
แต่ข่าวไม่ค่อยดีที่ปรากฏออกมาแทบจะทันทีก็คือ ไทยรับข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นไปแล้ว 4 ข้อ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะร่างคำตอบข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นยังอยู่ระหว่างการยกร่างโดยทีม กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพ
นี่คือยุทธการข่าวปล่อยที่ถูกหยิบมาใช้อีกครั้งของบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน เพราะมีการเปิดประเด็นข่าวในสื่อกระแสรองที่รายงานความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นได้อย่างใกล้ชิด และข่าวปล่อยนี้น่าจะเป็นไปเพื่อหาความชอบธรรมในการพูดคุยครั้งที่ 4 ของกลุ่มนายฮัสซัน เพราะตนเองเคยแถลงไว้ว่าหากไทยไม่รับข้อเรียกร้อง 5 ข้อก็จะไม่คุยต่อ ทั้งยังเคยมีคลิปอ้างมติสภาซูรอล้มโต๊ะพูดคุยด้วย
ทั้งหมดนี้ย่อมสะท้อนว่าภายในขบวนการฯยังคงมีหลายขั้วความคิด อาจถึงขั้นขัดแย้งกันในบางมิติ และความรุนแรงจะถูกหยิบมาใช้เพื่อ "ต่อรอง-กดดัน" ต่อไป
ปัญหาคือไทยจะพลิกจากฝ่ายรับเป็นฝ่ายรุกบ้างได้อย่างไร?
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานกำลังตรวจรถกระบะของตำรวจชุดปราบน้ำมันเถื่อนที่ถูกคนร้ายยิงถล่มจนตำรวจเสียชีวิต 5 นาย เมื่อวันพุธที่ 11 ก.ย. ที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)