ไต่หรือตกบัลลังก์ ‘ ไทย-มาเลย์’ ชิงเจ้ายางพาราอาเซียน
วิจัยม.หอการค้าฯ เผยตัวเลขไทยขยายพื้นที่ปลูกยางสำเร็จตามแผน 12.62 ล้านไร่ แต่เพิ่มผลผลิตยังเหลวต่ำกว่าเป้า เอกชนเชื่อไทยยังเป็นผู้นำอาเซียนทิ้งห่างมาเลย์ไม่เห็นฝุ่น เกษตรกรหวั่นวิจัยยางขึ้นหิ้ง เหตุไม่ตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการ-ชาวสวน
ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยเป็นประเทศที่มีผลผลิตยางพารามากที่สุดในอาเซียนและของโลก โดยมีคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียไล่หลังตามมาติด ๆ โดยเฉพาะมาเลเซีย ณ วันนี้ ลุกขึ้นประกาศยุทธศาสตร์จะช่วงชิงการเป็นผู้นำยางพาราแทนที่ไทย จนสร้างความหวั่นไหวให้ไทยไม่น้อย
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย จัดสัมมนา ‘อนาคตอุตสาหกรรมยางพาราไทยกับการเป็นศูนย์กลางยางพาราอาเซียน’ ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยางพาราของมาเลเซียและไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงนโยบายและผลกระทบจากยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก (World Rubber Center)
ผศ.ดร.อัทธ์ อธิบายให้เห็นพื้นที่ปลูกยางพาราปี 2555 ของอินโดนีเซียอยู่ 26 ล้านไร่ ไทย 19.27 ล้านไร่ จีน 6.7 ล้านไร่ เเละมาเลเซีย 6.5 ล้านไร่ แม้พื้นที่ปลูกยางของไทยจะน้อยกว่าอินโดนีเซีย แต่ปริมาณการผลิตไทยกลับมีมากกว่าถึง 3.8 ล้านตันต่อปี อินโดนีเซียอยู่ที่ 2.75 ล้านตันต่อปี และมาเลเซีย 9 แสนตันต่อปี
"96% พื้นที่ปลูกยางของไทยเมื่อปี 2550 ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ กระทั่งปี 2555 เหลืออยู่ที่ภาคใต้เพียง 63% สัดส่วนพื้นที่ปลูกยางไปเพิ่มในพื้นที่ภาคอีสาน กลาง และเหนือ ตามลำดับ"
ขณะที่ข้อจำกัดอยู่ที่ปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศมีเพียง 5 แสนตัน หรือ 13% ที่เหลือไทยผลิตเพื่อส่งออก จุดนี้เอง ผศ.ดร.อัทธ์ มองว่า ทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นทันที เพราะหากไทยถูกปฏิเสธการซื้อจากตลาดโลก จะส่งผลกระทบต่อราคายางพาราตกต่ำลง
ฉะนั้น ระยะยาวจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ จาก 13% เป็น 20% เพื่อลดการส่งออก เพิ่มปริมาณการใช้จาก 5 แสนตัน เป็น 8 แสนตันต่อปี
และแม้ข้อมูลอุตสาหกรรมยางพารา เทียบระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย จะเห็นว่าไทยยังเป็นอันดับ 1 มีการส่งออกน้ำยางข้นปริมาณ 9 แสนล้านตัน มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
เช่นเดียวกับยางแผ่นรมควันที่ไทยเป็นอันดับ 1 มีปริมาณการส่งออก 6.6 แสนตัน มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่วนอินโดนีเซียนั้นครองอันดับ 1 การส่งออกเฉพาะยางแท่ง เท่านั้น
ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา ต้องยอมรับว่า มาเลเซียเป็นอันดับ 1 จากการผลิตถุงมือยาง ซึ่งตั้งเป้าจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากเดิมร้อยละ 50 ของโลก ขึ้นเป็นร้อยละ 65 ของโลกในปี 2563
ส่วนผลิตภัณฑ์ยางล้อนั้นไทยยังครองอันดับ 1 อยู่
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ให้ข้อมูลด้วยว่า อินโดนีเซียตั้งเป้าจะเพิ่มผลผลิตยางพาราเป็น 3.5 ล้านตันในปี 2558 และคาดว่าในปี 2563 จะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก
ส่วนเป้าหมายของไทยนั้น ที่ผ่านมามีการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราถึง 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 ยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราอย่างครบวงจร (พ.ศ.2542-2546), ฉบับที่ 2 แผนการปรับโครงสร้างยางและผลิตภัณฑ์ยาง (พ.ศ.2549-2551) และฉบับที่ 3 ยุทธศาสตร์การพัฒนายางพารา (พ.ศ.2552-2556)
ผศ.ดร.อัทธ์ ประเมินว่า จากยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ฉบับ ข้อที่ไทยประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ การขยายพื้นที่ในการปลูกยางพารา จนทำให้ปัญหายางพาราไม่จำกัดเฉพาะเกษตรกรภาคใต้อีกต่อไปแล้ว แต่กลับเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ด้วยมีพื้นที่ปลูกยางพาราทุกภูมิภาค ซึ่งเพิ่มจาก 11.5 ล้านไร่ ในปี 2541 เป็น 12.62 ล้านไร่ ในปี 2546
ขณะที่การเพิ่มผลผลิตให้ตรงตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ล้มเหลว โดยอยู่ที่ 255 ก.ก./ไร่ จากเป้าหมาย 300 ก.ก./ไร่
ทั้งนี้ ผศ.ดร.อัทธ์ มองว่า เราไม่ควรขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นอีกแล้ว พร้อมเสนอควรมีการจัดทำพื้นที่เขตเศรษฐกิจเกษตร (โซนนิ่งเกษตร) ,สนับสนุนให้มีการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปขนาดกลางเพิ่มขึ้น โดยวิธีรวมตัวสหกรณ์ง่ายสุด,ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการลงทุนโรงงานแปรรูปยางพารา เช่น ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงการผลัดดันให้เกิด Rubber City
เกษตรกรชี้ไทยเป็นศูนย์กลางยางต้องวิจัยตอบโจทย์เพิ่มมูลค่า
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย ระบุถึงสาเหตุการลุกขึ้นเรียกร้องของเกษตรกรให้ปรับขึ้นยางพาราเกิดจากรัฐบาลให้สัญญาว่าจะยกระดับยางพารา 120 บาท/ก.ก. ประกอบกับเกษตรกรนำไปเปรียบเทียบกับนโยบายช่วยเหลือชาวนา ‘โครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาท/ตัน’ จึงเกิดความน้อยใจ
นอกจากนี้ เกษตรกรเองใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในช่วงที่ราคายางพาราทะยานสูง โดยนำไปซื้อบ้าน ซื้อรถ ทำให้เมื่อราคาตกต่ำจึงเกิดความเดือดร้อน ฉะนั้นหากจะมีการเรียกร้องต่อรัฐบาล ก็ควรมีการรวมตัวของเกษตรกรให้เป็นเอกภาพมากกว่านี้ เพื่อแสดงจุดยืนต่อรองกับรัฐบาลได้มากขึ้น
เมื่อถามว่าราคาต้นทุนยางพาราควรอยู่ที่เท่าไหร่ ประธานสภาการยางฯ ระบุว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คำนวณไว้ 64.19 บาท แต่เมื่อหลายพื้นที่มีบริบทไม่เหมือนกันจึงเห็นด้วยที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการคำนวณต้นทุนยางพาราที่เป็นกลางดูแล
นายอุทัย ยังเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราไทยสู่การเป็นศูนย์กลางจะต้องพัฒนางานวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรและภาคเอกชน เพื่อนำมาสู่การเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิต แต่หากวิจัยไม่ตอบโจทย์ความต้องการ งานวิจัยเหล่านั้นคงขึ้นหิ้งเหมือนที่หลายคนพูดกัน
เอกชนเชื่ออนาคตยางไม่ซบเซา เหตุประชากรโลกเพิ่ม
ขณะที่นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล กก.ผจก.ใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราอยู่แล้ว แต่จะต้องสร้างมูลค่าให้กับสินค้า เพื่อหวังกระตุ้นราคาให้เพิ่มสูงขึ้น ด้วยการสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภครู้ว่ายางพารามีสรรพคุณทางร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยต้องศึกษา เช่น วิจัยหมอนยางพารามีสรรพคุณไม่ทำให้ร่างกายปวดเมื่อย
ส่วนสถานการณ์ยางพาราในอนาคตยังคงดีอยู่ เนื่องจากมีปัจจัยเชิงบวกที่ประชากรทั่วโลกต้องใช้ทุกวันตั้งแต่เกิด ผิดกับข้าวที่มีการบริโภคกันบางประเทศเท่านั้น ยิ่งจำนวนประชากรทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคน ความต้องการยางพาราก็จะสูงตามไปด้วย ฉะนั้นสถานการณ์ตกต่ำคาดอยู่ในช่วง 5 ปีนี้เท่านั้น
นายวรเทพ กล่าวถึงความกังวลด้วยว่า มาเลเซียจะแซงหน้าไทยด้านยางพาราเป็นอันดับ 1 เป็นไปไม่ได้ เพราะด้วยตัวเลขการส่งออกที่ผ่านมาแล้วมาเลเซียยังนำเข้าน้ำยางพาราจากไทยปีละ 5 แสนตัน นอกจากนี้สภาพทางภูมิศาสตร์ของไทยก็เหนือชั้นกว่า สามารถเป็นทางเลือกให้กับคู่ค้าอย่างจีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่าได้
สุดท้ายไทยจะเป็นศูนย์กลางยางพาราได้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องบริหารงานตามแผนยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่องด้วย .
ที่มาภาพ: http://www.nachuakschool.org/index.php/2013-08-18-15-16-52/97-2013-08-20-03-42-31
http://aseancommunityinfo.com/tag/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2/
http://www.neoplast.biz/index.php?lay=show&ac=article&Id=154096&Ntype=1