เกิดน้อย ตายช้า:โครงสร้างประชากรไทย เสียสมดุล!
ในรายงานสรุปแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่จัดทำโดยคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 หน้า 267 หัวข้อ (ร่าง) ข้อเสนอการปฏิรูประบบแรงงาน โดยคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบแรงงาน ได้ระบุถึงสภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงประชากร และความสำเร็จในการคุมกำเนิด จนทำให้อัตราการเพิ่มประชากรถดถอยเร็วขึ้น ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานเพิ่มขึ้นช้าลง
สภาพปัญหาที่อัตราเกิดลดลงได้ทำให้กำลังแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานปีหนึ่งๆ มีเพียงประมาณ 7 แสนคนเท่านั้น
ขณะที่คนสูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2553 มีประมาณ 8 ล้านคน อีก 5 ปีข้างหน้า คือ 2558 จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 ล้านคน คิดเป็น 14% ของจำนวนประชากร (69 ล้านคน) ซึ่งตามมาตรฐานสากล นับว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมวัยชราแล้ว !!
ภาวะการณ์เช่นนี้ กำลังแรงงานหรือคนที่ทำงานได้ 1 คน จึงต้องเลี้ยงดูคนประมาณ 2 คน ขณะที่ลำพังจะเลี้ยงตัวเองก็ยากลำบากแล้ว ดังนั้น มีความจำเป็นตามโครงสร้างของประชากรที่กำลังแรงงาน 1 คน จะต้องมีรายได้สูงขึ้นนอกจากเพื่อให้เพียงพอที่จะดูแลคน 2 คนได้แล้ว คนทำงานและลูกจ้างมีรายได้สูงขึ้น ก็เพื่อจะได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมได้มากขึ้น แรงงานปลดเกษียณจะได้มีหลักประกันความมั่นคง
นี่คือหนึ่งในหลายๆ ข้อเสนอของ คปร. ที่เคยศึกษาไว้ และรายงานออกมาแล้วสู่สาธารณชน
ขณะที่ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เคยระบุถึงการปรับโครงสร้างประชากรว่า มิใช่ของง่าย การอยู่ๆ จะไปบอกให้คนมีลูกมาก ก็คงจะไม่เกิดผลอย่างแน่นอน หรือไปทำให้คนตายเร็วขึ้นก็คงไม่งามนัก แต่ต้องพยายามทำให้เห็นว่า มูลค่าที่จะได้ในเชิงเศรษฐกิจและความสุขทางจิตใจจากการมีบุตรนั้นสูงกว่าต้นทุนการเลี้ยงดูบุตร
ขณะที่เส้นทางลัดอีกทางในการสร้างความสมดุลของโครงสร้างประชากร ที่ดร.วรวรรณ เสนอ คือ การเปิดรับคนวัยทำงานจากต่างประเทศ
ดาวโหลดเอกสาร:แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้ที่ http://v-reform.org
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:เล่าเรื่องประชากรไทย นัยต่ออนาคต