ประชันนโยบายดับไฟใต้ ปชป.ชูถอนทหารบ้านไกล-เพื่อไทยให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง
ถือเป็นวาระแห่งชาติไปแล้วสำหรับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศในระยะ 7 ปีหลังมานี้ต้องบรรจุไว้ใน “นโยบายหลัก” อย่างชัดเจน ฉะนั้นพรรคการเมืองและนักการเมืองผู้ปวารณาตัวเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเลือกตั้งหนนี้ จึงต้องโชว์วิสัยทัศน์อันกว้างไกล เสนอแนะแนวทางที่เป็นไปได้เพื่อให้เข้าตากรรมการมากที่สุด
สนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แม้จะมีเก้าอี้ ส.ส.เพียง 11 ที่นั่ง แต่ก็เป็นสมรภูมิที่ทุกพรรคช่วงชิง ตั้งแต่พรรคขนาดใหญ่ พรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก รวมถึงพรรคน้องใหม่ พรรคใดจะคว้าเก้าอี้ ส.ส.หรือพรรคใดจะต้องสูญเสียที่นั่งที่เคยครอง วันที่ 3 ก.ค.นี้คือวันชี้ชะตา!
ในวงเสวนาย่อยเรื่อง “แนวทางการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคการเมือง” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อเร็วๆ นี้ มีตัวแทนหลายพรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์เอาไว้อย่างน่าสนใจ
ปชป.ชู “ถอนทหารบ้านไกล”
นายถาวร แสนเนียม ผู้สมัคร.ส.ส เขต 6 จ.สงขลา ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มอบหมายให้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า หากพรรคมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง จะสานต่อนโยบายเดิมที่ทำไว้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเน้นการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีควบคู่กับการใช้หลักนิติธรรมและนิติรัฐ
“พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี) ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติยอมรับว่าแก้ปัญหาภาคใต้ผิดพลาดเพราะคิดแบบตำรวจ ใช้กำปั้นเหล็ก ถุงมือกำมะหยี่ จึงทำให้เกิดปัญหารุนแรงต่อเนื่อง ถือเป็นนโยบายที่สร้างความผิดพลาดและทำให้ปัญหาบานปลายจนถึงทุกวันนี้ ผมอยากบอกว่าการแก้ปัญหาชายแดนใต้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา แม้ที่ผ่านมาจะยังมีเหตุร้ายรายวันรุนแรงมากขึ้น แต่เท่าที่ผมเข้ามารับผิดชอบดูแลตรงนี้ เห็นว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ประชาชนเข้าใจมากขึ้น และที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐคืนความยุติธรรมให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มากกว่าในอดีต”
นายถาวร กล่าวต่อว่า สิ่งที่พรรคอยากทำมากที่สุดคือการแก้ปัญหาเรื่องเอกภาพด้านนโยบาย โดยเฉพาะการปรับกำลังทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ที่ส่งเข้าไปในพื้นที่ โดยเฉพาะรองแม่ทัพภาค 1, 2, 3 ที่เข้าไปกำกับดูแลหน่วยเฉพาะกิจเลขตัวเดียว เนื่องจากพบว่าระบบอาวุโสของทหารทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อในการสั่งการบังคับบัญชา ดังนั้นจึงอยากเสนอให้กองทัพบกถอนกำลังทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ ให้คงเหลือเฉพาะกำลังหลักของกองทัพภาคที่ 4 เท่านั้น
“นี่คือสิ่งที่เราจะเสนอกองทัพหากพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาล เพราะผมเห็นว่าทหารในพื้นที่จะทำงานได้ดีที่สุด” รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุ
ซื้อใจตั้งศาลชารีอะฮ์-ลุยเจรจานอกรูปแบบ
ส่วนนโยบายด้านการศึกษานั้น นายถาวร บอกว่า รัฐบาลชุดนี้ได้แก้ไขแล้ว โดยการจัดให้มีการเรียนการสอนในระบบทวิภาษา คือเรียนภาษาไทยควบคู่กับภาษามลายูในโรงเรียนนำร่อง 37 แห่ง คาดว่าในอนาคตโรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดจะใช้ระบบนี้ทั้งหมด นอกจากนั้นจะเดินหน้าตั้งศาลชารีอะฮ์ (ศาลที่ใช้หลักการของศาสนาอิสลาม) เพื่อแก้ข้อพิพาทเรื่องครอบครัวและมรดกของพี่น้องมุสลิมด้วย
ขณะที่การแก้ไขปัญหาด้านอุดมคติและความเชื่อที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญนั้น นายถาวร กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องถอยคนละก้าวและใช้วิธีการเจรจานอกรูปแบบ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการพบปะพูดคุยกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทำไปแล้วในระดับหนึ่ง โดยทำคู่ขนานไปพร้อมกับการคืนความเป็นธรรมโดยใช้มาตรา 21 ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ที่เปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดเข้ารับการอบรมเพื่อส่งกลับคืนสู่สังคมร่วมสร้างสันติสุข
มาตุภูมิเสนอตั้ง “ทบวงดับไฟใต้”
นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ กล่าวว่า แม้พรรคมาตุภูมิจะเป็นพรรคน้องใหม่ในพื้นที่ และ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน หัวหน้าพรรค จะเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่เคยรัฐประหารล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม แต่สำหรับชาวมุสลิมในพื้นที่ต้องถือว่า พล.อ.สนธิ คือผู้ปลดปล่อยให้ชาวมุสลิมหลุดพ้นจากการคุกคามของรัฐตำรวจ
“นโยบายของเราจะดูที่ความเป็นไปได้ มีความจริงใจในการแก้ปัญหา และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่มีประวัติศาสตร์และรากเหง้ามาตั้งแต่อดีต วันนี้การแก้ไขจะต้องก้าวไปข้างหน้า มองย้อนหลังไม่ได้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือการมีอาชีพการงานมั่นคง ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีในวิถีอิสลาม มีความยุติธรรม มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความรุนแรงตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 1.45 แสนล้านบาท แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการด้วยนโยบายใหม่ ใช้คนและงบประมาณให้สอดคล้องต้องกันเพื่อคลี่คลายปัญหาให้ได้ในที่สุด”
นายอารีเพ็ญ บอกว่า เห็นด้วยกับการที่จะทำให้หน่วยงานรัฐมีความเป็นเอกภาพในการบังคับบัญชา จึงเสนอให้ตั้ง”ทบวง”ขึ้นมาให้เป็นหน่วยงานเฉพาะเพื่อดูแลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา และ จ.สตูล โดยรัฐบาลต้องจัดให้มีรัฐมนตรีเข้าไปประจำอยู่ในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะที่ผ่านมาการบริหารงานเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการในพื้นที่ ทำให้ไม่มีเอกภาพในการสั่งการอย่างแท้จริง
หนุนอุตฯ“ฮาลาล”ปลุกเศรษฐกิจพื้นที่คึก
สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น นายอารีเพ็ญ ระบุว่า พรรคมาตุภูมิเสนอให้บุกตลาดโลกมุสลิมด้วยการสร้างแบรนด์ “ฮาลาล” (ผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม) อาจจะใช้แบรนด์ “ฟาฏอนี” ซึ่งหมายถึงปัตตานี เพราะโลกมุสลิมจะรู้จักปัตตานีมากกว่าชื่อ “ไทยแลนด์”
ขณะเดียวกันก็ต้องฟื้นฟูการส่งแรงงานไปทำงานในประเทศตะวันออกกลาง รัฐบาลใหม่ต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบีย หลังจากมีปัญหาเรื่องเพชรซาอุฯ ทำให้บาดหมางกันมานานกว่า 20 ปี
ขณะที่การเปลี่ยนความคิดความเชื่อของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ นายอารีเพ็ญ บอกว่า การต่อสู้เพื่อให้ได้ความยุติธรรมของคนมุสลิมต้องใช้เวลาและอดทนมาก เหมือนกับตัวเขาและ นายนัจมุดดีน อูมา (อดีต ส.ส.นราธิวาส) ที่เคยถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน กว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้ก็ต้องใช้เวลานานเช่นกัน การลงสู่สนามเลือกตั้งเป็นแนวทางหนึ่งที่ควรเปิดให้ทุกฝ่ายได้ต่อสู้ด้วยวิถีประชาธิปไตย
ส่วนการปลดชนวนความคิดที่แตกต่างนั้น การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ปัญหาคือ สถานการณ์ ณ ขณะนี้ กลุ่มขบวนการอาจยังไม่ต้องการเจรจา
เพื่อไทยไม่เอา พ.ร.บ.มั่นคงฯ-ให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง
พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ของพรรคเพื่อไทยหลายประเด็นคล้ายกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมาตุภูมิ แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยเสนอเป็นพิเศษคือการแก้ปัญหาเรื่องแนวคิดแบ่งแยกดินแดน ซึ่งต้องยอมรับว่ายังมีคนกลุ่มนี้เคลื่อนไหวอยู่จริงโดยนำศาสนามาเป็นเครื่องมือ ทางแก้คือต้องแยกคนที่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนออกมา
“การต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐในอดีต กลุ่มก่อความไม่สงบจะกบดานอยู่บนเทือกเขาบูโด แต่ปัจจุบันกลุ่มก่อความไม่สงบไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐ เข้ามาวางระเบิดในพื้นที่เขตเมือง ซึ่งจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการแก้ไขเหตุร้ายรายวัน ระเบิดรายวัน การเสียชีวิตรายวันว่าในทางนิติรัฐจะทำอย่างไร ในทางนิติธรรมจะทำอย่างไร และในทางนิติวิทยาศาสตร์จะทำอย่างไร”
“พรรคเพี่อไทยไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯในพื้นที่ และไม่เห็นด้วยกับการที่ให้นายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน. (ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) และให้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นรองผอ.รมน. เพราะทำให้เกิดปัญหาในการสั่งการและการบริหารจัดการ เนื่องจากศูนย์กลางอำนาจในการตัดสินใจแก้ปัญหายังอยู่ที่รัฐบาลกลาง ไม่ใช่ให้อำนาจกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่แก้ปัญหาเอง ซึ่งเรื่องนี้ควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม”
“ที่สำคัญควรให้ท้องถิ่นได้มีโอกาสปกครองตนเอง และเห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารในพื้นที่เป็นกำลังหลักในการดูแลมากกว่าเอากองกำลังจากภาคอื่นๆ เข้าไป เราไม่ควรนำทหารจากยโสธรหรือเชียงใหม่ไปตายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ควรใช้กำลังหลักที่เป็นทหารประจำถิ่นซึ่งรู้ปัญหา เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมในการทำงาน” ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าว
ทั้งหมดนี้คือวิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 2 พรรค และพรรคน้องใหม่ที่คาดว่าจะเบียดชิงเก้าอี้ 11 ส.ส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใครดีแต่พูด หรือพูดแล้วทำได้จริง...เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์!