ค้นที่มา บ.ทุ่งคำ ทำประชามติเปิดเหมืองทองคำใหม่ ทำไมเจอแรงต้าน
ภาพนักศึกษาในเครื่องแบบคุกเข่าขอร้องตำรวจ เพียงขอเข้าไปวัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping ) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำรายงาน EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำแปลงที่ 76/2539 ของบริษัททุ่งคำ จำกัด นั้น เป็นอีกภาพที่ต้องถูกบันทึกไว้
หลังนักศึกษาอีสานลงพื้นที่คลุกคลีเรียนรู้จากชาวบ้านมาอย่างยาวนานหลายปี นักศึกษาในนามกลุ่มดาวดินเข้าใจ และมุ่งมั่นจะร่วมกับชาวบ้านปกป้องคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ที่ จ.พิจิตร เนื่องจากชาวบ้านไม่เชื่อถือข้อมูลและผลการวิเคราะห์ต่างๆ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ หรือผู้ประกอบการเหมือง ซึ่งดำเนินการทำเหมืองแร่มานานกว่าสิบปี ก่อให้เกิดปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ตามมา จนบางคนไม่กล้ารองน้ำฝนดื่ม บ้างก็ไม่อาจจะใช้น้ำในบ่อข้างบ้านได้
ขณะที่อาณาจักรเหมืองทอง จ.เลย มีมติครม. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ยืนยัน ต้นเหตุ ทำไมคนเมืองเลยถึงไม่ไว้ใจ ธุรกิจสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแห่งนี้...
สืบเนื่องมาจากชาวบ้านร้องทุกข์กรณีได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
ครม.สมัย ได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม ชะลอการขอประทานบัตรของบริษัททุ่งคำ แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่นๆ ไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน พร้อมสั่งให้กระทรวงต่างๆ และ หน่วยงานในสังกัดให้ความร่วมมือกับ จ.เลย ในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณเหมืองดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ และห้มีความถี่มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการตรวจและกำกับการทำเหมืองของบริษัทฯ ให้ครอบคลุมถึงเสียงและกลิ่นที่รบกวนในช่วงเวลากลางคืน และการตรวจกระบวนการทำเหมืองให้สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันการซึมของ “สารไซยาไนด์”
นอกจากนี้ มติครม.ยังระบุถึงการเพิ่มความถี่ในการเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำ เน้นย้ำ ให้เปลี่ยนจุดตรวจคุณภาพของน้ำอยู่เสมอ เนื่องจากมีการพบว่า มีปริมาณสารปรอทสูงมากเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่นในสภาพปกติ
จากนั้นให้นำไปชี้แจงกับประชาชนเข้าใจถึงขั้นตอนในการเกิดสารปนเปื้อนในพื้นที่ดังกล่าว
ที่สำคัญ... ฐานคิด ครม.ยุคนั้นได่ให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและร่วมรับฟังความคิดเห็น ระบุให้หน่วยงานราชการจัดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยรู้กันดีว่า การเปิดทำการเหมืองของบริษัทฯ แห่งนี้ เมื่อปี 2549 นั้น ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเลย
แถมมติครม.ดังกล่าวยังทิ้งท้าย สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปประเมินความคุ้มค่าของภาคหลวงแร่ที่ได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและเร่งรัดการดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 (เรื่อง นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ)
พูดง่ายๆ ...ให้พิจารณา กลไกการจัดเก็บรายได้ใหม่ การกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่ทองคำ ว่า ควรพิจารณากำหนดให้ผันแปรตามศักยภาพและผลกระทบจากการทำเหมือง และกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าตามระดับราคาทองคำ
ไม่ถึงปีถัดจากนั้น วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 สำนักข่าวอิศรา พบว่า กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ส่งรายงานครม. ถึงผลการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำ โดยสรุปรวมตรวจพบ ปริมาณสารไซยาไนด์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด มีปริมาณสารหนูเกินมาตรฐานน้ำผิวดิน แต่ไม่พบว่า มีสารปรอทในตัวอย่างน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด
ขณะที่ตัวอย่างดิน ก็มีปริมาณธาตุปรอท ก็ไม่เกินมาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม
ที่น่าสังเกต คือกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รายงานบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่สูง จึงอาจพบการปนเปื้อนของสารหนูหรือไซยาไนด์ในธรรมชาติอยู่แล้ว ขณะที่ไซยาไนด์สามารถย่อยสลายได้ง่ายเมื่อสัมผัสแสงแดด
ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐแห่งนี้ เชื่ออย่างยิ่งยวดว่า โอกาสที่ไซยาไนด์ปนเปื้อนในน้ำบาดาลจึงเป็นไปได้น้อยมาก พร้อมให้คำแนะนำ ไม่ควรเปลี่ยนจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำอยู่เสมอ อ้างว่า จะไม่สามารถเปรียบเทียบผลได้
อย่างที่รับรู้กัน... การดำเนินกิจกรรมของเหมืองแร่ทองคำ ตั้งแต่การระเบิดหิน การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม มีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณมาก “ ไซยาไนด์” กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ เรียกได้ว่า เป็นของคู่กัน ฉะนั้นย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล
ขณะที่ฐานคิดที่คำนึงถึงแต่ทุนทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ประเมินหรือนับเอาต้นทุนทางธรรมชาติบวกรวมอยู่ด้วย วันนี้เราจึงเห็น ชุมชนลุกขึ้นมาเรียกร้อง เดินเท้าขอเข้าไปแสดงสิทธิที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมผ่านอำนาจที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้ความหวังจะพึ่งพาอำนาจรัฐและการบังคับใช้กฎหมายของส่วนกลาง จะเหลือน้อยแล้วก็ตาม...
|