ลุ้นปลด "กระท่อม" พ้นยาเสพติด ป.ป.ส.ดันเพิ่มโทษ "สี่คูณร้อย"
แม้ยังไม่มีข้อสรุปว่ารัฐบาลจะยกเลิกการจัด "พืชกระท่อม" เป็นสารเสพติดประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 (พ.ร.บ.ยาเสพติด) หรือไม่ แต่การประชุมคณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม เมื่อวันอังคารที่ 10 ก.ย.2556 ก็มีข้อเสนอเบื้องต้นให้เพิ่มโทษสำหรับผู้ที่นำใบกระท่อมไปต่อยอดเป็นสารเสพติดชนิดอื่น โดยเฉพาะเครื่องดื่มยอดฮิตของวัยรุ่นชายแดนใต้นาม "สี่คูณร้อย"
ข้อเสนอนี้ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) น่าจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองและฝ่ายความมั่นคงคลายความกังวลลงไปได้
การประชุมคณะทำงานฯ มีขึ้นที่สำนักงาน ป.ป.ส. โดยมี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นพ.วิโรจน์ วิรชัย รองเลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ
ภายหลังการประชุม พล.ต.อ.พงศพัศ เปิดเผยว่า คณะทำงานฯมีข้อสรุปเบื้องต้น 5 ข้อ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เพื่อนำไปพิจารณาต่อ คือ
1.ให้พิจารณายกเลิกพืชกระท่อมไม่ให้เป็นสารเสพติดประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด พร้อมทั้งให้ใช้พืชกระท่อมเป็นยาสมุนไพรที่จะมีการพัฒนาต่อไป
2.ให้พิจารณายกเลิกพืชกระท่อมไม่ให้เป็นสารเสพติดประเภทที่ 5 แต่ให้เป็นสารที่ถูกควบคุมในฐานะวัตถุออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท
3.ให้พิจารณาว่าไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน แต่ขอให้ปรับปรุงระเบียบหรือมีแนวทางควบคุมที่เอื้อต่อวิถีชีวิตของผู้ใช้พืชกระท่อมเป็นยา เช่น การเคี้ยวใบกระท่อมในชีวิตประจำวันสามารถกระทำได้ เป็นต้น
4.ให้พิจารณาว่าการนำใบกระท่อมซึ่งเป็นสารตั้งต้นไปต่อยอดหรือแปลงสภาพ เช่น ต้มเป็นน้ำแล้วนำไปผสมกับสารอื่นๆ จนเป็นสารเสพติด เช่น สูตรสี่คูณร้อย หรือนำไปแปรรูปอื่นๆ จนมีผลกระทบต่อสังคม จะดำเนินการอย่างไร
5.ถ้าไม่สามารถดำเนินการตาม 4 ข้อข้างต้นได้ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษจะมีวิธีการใดที่จะนำพืชกระท่อมมาก่อประโยชน์สูงสุด
ส่วนที่เยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมนำใบกระท่อมไปต้มและผสมสารอื่นเป็นสูตรสี่คูณร้อย หรือแปดคูณร้อย ในลักษณะเป็นสารเสพติด และดื่มกันอย่างแพร่หลาย โดยอาจโยงถึงปัญหาความมั่นคงด้วย จะแก้ไขอย่างไรนั้น พล.ต.อ.พงศ์พัศ กล่าวว่า ต้องรอดูว่าคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษจะพิจารณายกเลิกใบกระท่อมไม่ให้เป็นสารเสพติดหรือไม่ ถ้ายกเลิก ทาง ป.ป.ส.จะขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและบทลงโทษเกี่ยวกับการนำใบกระท่อมไปแปลงสภาพ เพราะถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดหลังมี พ.ร.บ.ยาเสพติด โดยจะเสนอเป็นร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อควบคุมอย่างเข้มงวด และกำหนดโทษให้ชัดเจนว่ามีการนำใบกระท่อมเป็นสารตั้งต้นไปทำอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้ปกครองของเยาวชนเกิดความสบายใจ
นักวิชาการกับนักกฎหมาย...เสียงยังแตก
ในการประชุมคณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายที่เห็นว่าพืชกระท่อมไม่ควรเป็นยาเสพติด กับฝ่ายที่มองว่าอย่างไรเสีย พืชชนิดนี้ก็เป็นยาเสพติดอยู่วันยังค่ำ
ผศ.สมสมร ชิตตระการ อาจารย์จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากการทดลองในสัตว์ระยะเวลา 30 วัน พบว่าหากให้พืชกระท่อมในปริมาณที่ต่ำจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อร่างกาย ในทางตรงกันข้ามหากให้ในปริมาณที่สูง ซึ่งหากเทียบกับคนเท่ากับต้องให้ 5 กิโลกรัมต่อวัน จะพบว่ามีพิษหลงเหลืออยู่ในร่างกาย
นอกจากนี้ยังพบว่าในใบกระท่อมมีสารอัลคาลอยด์ซึ่งช่วยบรรเทาอาการป่วย เช่น แก้ปวดเมื่อย แก้ไอ แก้ท้องเสีย จากการลงพื้นที่ตรวจสอบและพูดคุยกับชาวบ้านทำให้ทราบว่าคนที่ใช้ใบกระท่อมบ่อยๆ แล้วหยุดใช้จะมีอาการข้างเคียง อาทิ อ่อนเพลียง่าย น้ำตาไหล ง่วงนอน ไม่มีแรง ไม่อยากทำงาน หรืออาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าวถือว่าน้อยหากเทียบกับสารเสพติดประเภทอื่น สิ่งที่น่าจับตามองอีกเรื่องหนึ่งคือสังเกตได้ว่าผู้ที่ใช้ใบกระท่อมจะไม่ดื่มสุรา เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าสุรามีกลิ่นเหม็น
นายชาญชัย โชติเวทธำรง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดียาเสพติด กล่าวว่า หากถามในความเห็นของนักกฎหมายยังรู้สึกว่าใบกระท่อมเป็นสารเสพติดอย่างหนึ่ง เพราะถึงแม้ว่าในทางการแพทย์จะพบว่าใบกระท่อมมีสรรพคุณเป็นยา และให้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ แต่หากผู้ใดใช้ใบกระท่อมเป็นเวลานานก็จะมีอาการติด ซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกายแน่นอน การติดจึงถือว่าใบกระท่อมเป็นสารเสพติดอยู่ดี และมีผลข้างเคียงต่อร่างกายในแง่ลบ ทำให้ร่างกายทรุดโทรมลง สังเกตได้จากสถิติการเข้ารักษาตัวของผู้ที่ต้องการเลิกใบกระท่อม
"ชัยเกษม"จุดพลุพร้อมเสนอ 5 เหตุผล
แนวคิดปลดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 นั้น เคยมีการเสนอมาแล้วหลายครั้งในอดีต แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้งโดย นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนใหม่หมาดๆ จากการปรับคณะรัฐมนตรีเที่ยวล่าสุด
เหตุผลที่ นายชัยเกษม นำมาสนับสนุนแนวคิดของเขา คือ
1.ใบกระท่อมมีสารเสพติดอยู่ก็จริง แต่ออกฤทธิ์ในการเสพติดน้อยมาก กาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังที่มีคาเฟอีนผสมอยู่ยังออกฤทธิ์เป็นสารเสพติดมากกว่าใบกระท่อม
2.ปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหายาเสพติดและมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดยาเสพติดร้ายแรงเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากปัญหาครอบครัว ดังนั้นหากมีตัวเลือกอื่นที่สามารถเบี่ยงเบนจากยาบ้าหรือยาเสพติดที่รุนแรงกว่าได้ ครอบครัวและสังคมก็อาจยอมรับได้ โดยใบกระท่อมอาจใช้แก้ปัญหาหรือทดแทนการเสพยาเสพติดที่รุนแรงกว่า
3.กระท่อมเป็นพืชท้องถิ่น ประเทศต่างๆ ในโลกไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด
4.ใบกระท่อมมีราคาถูกเพียงใบละ 1-3 บาท ถือว่าถูกกว่ากาแฟและเครื่องดื่มชูกำลังทุกชนิด
5.ตำรับยาแผนโบราณมีการนำใบกระท่อมไปเป็นส่วนผสมของยาบางชนิด โดยจะต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน หากต้องการนำไปทำยา
พัฒนาต่อยอด-สร้างรายได้เข้าประเทศ
ขณะที่ พ.ท.นพ.เอนก ยมจินดา ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เหตุผลสนับสนุนดังนี้
1.เท่าที่ศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีเพียงประเทศไทยที่จัดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติด ขณะที่หลายประเทศทั่วโลก เช่น นิวซีแลนด์ นำใบกระท่อมไปสกัดเป็นยาแก้ปวด และยาปฏิชีวะอื่นๆ
2.ในเมืองไทยมีการนำใบกระท่อมไปผสมกับสารอื่นเพื่อเป็นยาเสพติด ทำให้มีฤทธิ์รุนแรง เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ
3.ข้อมูลจากคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อม วุฒิสภา ยังระบุว่า
- กระท่อมมีสรรพคุณทางยา ตำราแพทย์แผนโบราณใช้ใบกระท่อมปรุงเป็นยารักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยร่างกาย ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องร่วง ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท ใบกระท่อมมีฤทธิ์ระงับอาการปวดเช่นเดียวกับมอร์ฟีน แต่มีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า และมีข้อดีกว่ามอร์ฟีน คือ ไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- พัฒนาการในการติดยาของกระท่อมช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยา จึงไม่มีกรณีผู้ติดกระท่อมก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรมใดเลย
- การออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2486 น่าจะเป็นเหตุผลเรื่องภาษีมากกว่าการเป็นสารเสพติดจริงๆ เนื่องจากในอดีตรัฐผูกขาดการเก็บภาษีฝิ่น ทำให้ฝิ่นสุกและฝิ่นดิบมีราคาแพง คนที่สูบฝิ่น (สมัยก่อนไม่ผิดกฎหมาย) จึงหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น รัฐจึงออกกฎหมายเพื่อมุ่งเก็บภาษี ไม่ใช่เพราะกระท่อมเป็นพืชเสพติด
- หากนำพืชกระท่อมมาวิจัยต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ และลดการสูญเสียเงินตราจากการสั่งซื้อมอร์ฟีนจากต่างประเทศได้
นพ.เอนก ยังบอกด้วยว่า หากยกเลิกพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 จะช่วยลดปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจะไม่มีการปิดล้อมตรวจค้นโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อจับกุมผู้เสพกระท่อมซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอีก คาดว่าจะลดเงื่อนไขความขัดแย้งได้อีกทางหนึ่ง
คนชายแดนใต้รุมค้าน - วัยรุ่นลุ้นเสพถูกกฎหมาย
ด้านความเห็นของคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีปัญหาการนำใบกระท่อมไปต้มกับสารอื่นกลายเป็นสูตร "สี่คูณร้อย" ที่มีผลต่อจิตประสาท กลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงนั้น
นางมาซือนะ (สงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี ซึ่งลูกชายของนางเสพน้ำใบกระท่อม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะยกเลิกใบกระท่อมจากการเป็นยาเสพติด เพราะตอนนี้เด็กๆ และเยาวชนชายแดนใต้ต่างติดยาเสพติดประเภทนี้เยอะมาก
"จริงอยู่ที่ใบกระท่อมไม่ได้เป็นอันตราย แต่เด็กๆ ไม่ได้ต้มน้ำมาดื่มกันเพียวๆ พวกเขาผสมยาอะไรต่อมิอะไรจนอาจทำให้สุขภาพร่างกายมีปัญหา และยังเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว ปัญหาสังคม ตอนนี้ขนาดน้ำกระท่อมยังอยู่ใน พ.ร.บ.ยาเสพติด เด็กที่นี่ยังเสพติดกันหมด เดินไปทางไหนก็เจอพวกนี้ บางครั้งในบ้านฉันเองลูกยังเอาน้ำกระท่อมมาแช่ในตู้เย็นเป็นสิบๆ ลิตร ต่อว่าหน่อยก็ไปสร้างปัญหากับที่อื่น เลยต้องปล่อยให้กินในบ้าน เด็กเดี๋ยวนี้ห้ามไม่ได้ ต้องยอมให้กินถึงจะสามารถอยู่เป็นปกติได้"
นายแม เจ๊ะเงาะ อิหม่ามประจำมัสยิดแห่งหนึ่งใน จ.ยะลา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะถอนพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติด เพราะทุกคนก็รู้ดีว่าเด็กไม่ได้ต้มน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเฉยๆ แต่ยังผสมสารอื่นจนกลายเป็นสี่คูณร้อย แปดคูณร้อย ซึ่งแน่นอนว่าก่อผลเสียมากกว่าผลดี
"ปัญหาสังคมจะยิ่งเพิ่มขึ้น แล้วก็จะลามไปเรื่องครอบครัว เรื่องการศึกษา เรื่องชุมชน รวมทั้งศาสนา ทุกอย่างพัวพันกันหมด"
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่นายหนึ่ง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเลิกพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติด เพราะจะยิ่งเกิดปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้มั่วไปหมดแล้ว ถ้ามาเจอกับปัญหาน้ำกระท่อมระบาดหนักอีกจะยิ่งไปกันใหญ่
"ตอนนี้ในพื้นที่มีวัยรุ่นหรือเยาวชน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในหมู่บ้านติดน้ำกระท่อม 8 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กดี อยู่ในหลักศาสนา แต่ก็ถูกดึงไปร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน ส่วนอีก 2 เปอร์เซ็นต์เป็นเยาวชนที่อยู่ในกรอบของความถูกต้องจริงๆ จะเห็นได้ว่าปัญหาหนักอยู่แล้ว ฉะนั้นรัฐอย่ามาเพิ่มปัญหาอีกเลย"
ด้านวัยรุ่นอายุ 16 ปีรายหนึ่งที่เสพน้ำกระท่อมเป็นประจำ กล่าวว่า แนวคิดของรัฐบาลในเรื่องนี้ถือว่าดี เป็นการแก้ปัญหาที่เข้าใจวัยรุ่น เพราะคนที่ติดน้ำกระท่อม ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ส่วนใหญ่คนที่ติดยาบ้ามากกว่าที่สร้างปัญหาให้กับสังคม ส่วนคนที่ติดกระท่อมจะไม่ทำร้ายคน ไม่ติดอย่างงอมแงม ดื่มแล้วรู้สึกมึนๆ ง่วงนอนตลอดเวลา จะนอนเยอะและกินเยอะ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร
"อยากให้รัฐบาลยกเลิกพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติดเร็วๆ เด็กวัยรุ่นจะได้กินแบบปกติเหมือนน้ำชา เพราะไม่ผิดกฎหมาย และไม่เป็นอันตรายกับตัวเองหรือคนอื่น แค่เราเสียเงินเล็กๆ น้อยๆ จากที่ทำงานมา ซื้อใบกระท่อมมาต้มกินกับเพื่อนๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการสูบบุหรี่กินชาเท่านั้นเอง"
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การจับกุมใบกระท่อมในพื้นที่ชายแดนใต้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และยึดของกลางได้ครั้งละมากๆ (ภาพโดย จรูญ ทองนวล)
2 น้ำใบกระท่อมที่ถูกนำไปผสมกับสารชนิดอื่นจนกลายเป็น "สี่คูณร้อย"
ขอบคุณ : คุณจรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลจากเครือเนชั่น เอื้อเฟื้อภาพเจ้าหน้าที่จับใบกระท่อม