คุณหญิงกษมาแนะศธ.ปรับเกณฑ์ประเมิน รร. เอื้อหลักสูตรสร้างทักษะสู่การมีงานทำ
อดีตปลัดศธ.หนุนหลักสูตรสร้างทักษะชีวิตสู่การมีงานทำ จี้ศธ.ผ่อนคลายกติกา กฎ ระเบียบ เรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างโรงเรียน ผู้ประกอบการ ชุมชน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่ เขต 2 ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้สัญจรในหัวข้อ “ทักษะชีวิตสู่โลกของงาน” โดยมี ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการเสวนา พร้อมเปิดศูนย์แสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นักเรียน ณ ห้องประชุม 1 สพป.เชียงใหม่เขต 2
ดร.คุณหญิงกษมา กล่าวถึงการทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ ในอดีตเป้าหมายในการทำงานเรามักจะเน้นการฝึกทักษะความอดทน แต่วันนี้ความจำเป็นในการให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจถึงภูมิปัญญาของตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันการฝึกทักษะยังสามารถช่วยแก้ปัญหาการออกเรียนกลางคัน รวมถึงยังเป็นช่องทางในการตัดสินใจเรียนต่อได้อีก
สำหรับกระบวนการเรียนการสอนหลักของสูตรที่เอื้ออำนวยมีการสอนจากการบูรณาการกลุ่มสาระ เปิดโอกาสให้เด็กปฏิบัติจริงทั้งในโรงเรียนและนอกสถานที่ตามบริษัทต่างๆ นั้น อดีตปลัดศธ. กล่าวว่า ยังมีสิ่งที่น่ากังวล คือการประเมิน หากเราประเมินชิ้นงานของเด็กจากคุณภาพโดยมองว่า หากไม่ได้คุณภาพแล้วถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์นั้น คงไม่ใช่ เนื่องจากเราต้องดูด้วยว่า ไม่มีอาชีพใดที่ทำแล้วไม่เคยขาดทุนหรือล้มเหลว แต่ควรประเมินว่า สิ่งนั้นเกิดขึ้นและเด็กสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ เพื่อเปิดให้เด็กได้เรียรู้สิ่งใหม่ๆ ต่อไปจะต้องไม่ประเมินว่า ทำดีแล้วต้องได้คะแนนสูง เพราะเด็กจะไม่กล้าคิดสิ่งใหม่ๆ และอาจจะเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กด้วย
อดีตปลัดศธ. กล่าวถึงโครงการหลักสูตรสร้างทักษะชีวิตสู่การมีงานทำ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการผ่อนคลายกติกาบางอย่าง เกณฑ์การประเมิน หรือระเบียบบางข้อ เพราะหากโรงเรียนจะจัดตั้งพื้นที่เป็นแหล่งประกอบการจะถูกมองว่า นำสถานที่ราชการมาใช้ถ้ามีรายได้ต้องส่งคืนให้หลวง ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงต้องทบทวน และควรจะยอมรับแล้วเรียนรู้ร่วมกันกับทางโรงเรียน ผู้ประกอบการ ชุมชน เพื่อเปิดช่องให้เกิดการพัฒนาและโอกาสดีๆก็จะเกิดขึ้นกับเด็ก
ด้านนายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ผู้อำนวยการสพป.เชียงใหม่ เขต 2 กล่าวถึงบทบาทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต้องปรับบทบาทในการหนุนและส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายร่วมเรียนรู้และร่วมสร้างการศึกษาที่แก้วิกฤตและสร้างโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ พร้อมขอร้องให้กระทรวงศึกษาธิการปรับรูปแบบการประเมินที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย
ขณะที่นางศิริพรรณ คำเป็ง ครูวิทยฐานะชำนาญพิเศษ โรงเรียนบ้านหนองไคร้ ผู้ดูแลหลักสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องหนังวัยทีน กล่าวถึงหลักสูตรของกิจกรรมนี้ ได้ดึงเอาวิชาคณิตศาสตร์ ศิลปะ ภาษาไทย และการงานพื้นฐานอาชีพมาใช้ เมื่อเด็กแต่ละคนออกแบบและตัดเย็บมาส่งสินค้าที่จะนำไปขายจะประเมินจากการตัดเย็บว่ามีความเรียบร้อยหรือไม่ แบบที่นักเรียนออกแบบมาจะขายได้หรือไม่ โดยในช่วงแรกยอมรับว่าประเมินผลงานเด็กจากความเห็นส่วนตัว
“ตอนแรกที่เด็กออกแบบรูปการ์ตูนประหลาดๆมา แล้วบอกว่าครูแบบนี้กำลังฮิต เรากลับมองว่า ไม่น่าจะขายได้คนไม่น่าจะซื้อ ถึงไม่ชอบแต่เมื่อเป็นความคิดของเด็กก็ยอมให้เด็กตัดเย็บ แต่พอเอาไปขายก็พยายามวางไว้ชั้นล่างๆแล้วเอาแบบที่คิดว่าน่าจะขายดีวางข้างบน ปรากฎว่า การ์ตูนประหลาดๆของเด็กที่เราวางไว้ข้างล่างคนกลับซื้อเยอะ และขายหมดภายในวันเดียว” ศิริพรรณ กล่าว และว่า จากเหตุการณ์ในวันนั้นทำให้กลับมามองตัวเองว่า บางทีความคิดของครูไม่ได้ถูกเสมอไป วันนี้เราอาจจะตามแฟชั่นไม่ทันเด็ก การยอมรับและเปิดโอกาสให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยไม่จำกัดนิยามคำว่า ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี จึงไม่น่าจะเป็นการประเมินที่ถูกต้องอีกต่อไป