"ธรรมศาสตร์ & กลุ่มดาวดิน"การต่อสู้ในชุด"นศ."ที่แตกต่างราว"ฟ้า"กับ"เหว" ?
"..ต้องยอมรับว่า แม้ภาพการออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ของ นศ.ธรรมศาสตร์ และนศ.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่ม “ดาวดิน” จะมีบริบท ที่แตกต่างกัน ...แต่เป้าหมายของนักศึกษาทั้งสอง กลุ่ม มีเหมือนกัน คือ ความกล้าที่จะลุกขึ้น มาใช้สิทธิทำหน้าที่ความเป็น นักศึกษา เรียกร้องความถูกต้องและเป็นธรรม จากผู้มีอำนาจ.."
ในขณะที่นักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง กำลังออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์การถูกบังคับให้แต่งกายชุด นักศึกษา เข้าเรียน โดยใช้ภาพโปสเตอร์ร่วมเพศ "แบบโจ๋งครึ่ม" เป็นสื่อสัญลักษณ์ จนกระทั่งได้รับชัยชนะในเวลาอันรวดเร็ว ผู้บริหารระดับสูง ออกคำสั่งตรงไปยังคณะเรียนและอาจารย์ผู้เกี่ยวข้อง สั่งยกเลิกกฎข้อบังคับเรื่องการแต่งชุดนศ. เข้าห้องเรียนดังกล่าวทันที
ในช่วงระยะเวลาไล่เลียกัน สถานที่ก็ห่างกันไกลแสนไกล
ภาพนักศึกษากลุ่มหนึ่งอยู่ในท่าคุกเข่ายกมือขึ้นไหว้วิงวอนเจ้าหน้าที่ตำรวจและล้มตัวลงนอนหงายกับพื้นท่ามกลางสายฝนที่ตกหนัก และภาพอื่น ๆ อีกมากมายที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของการเรียกร้องครั้งนี้ กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชนเช่นกัน
"ภาสกร จําลองราช" นักสื่อสารมวลชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า Paskorn Jumlongrach แสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับภาพนักศึกษากลุ่มหนึ่งอยู่ในท่าคุกเข่ายกมือขึ้นไหว้วิงวอนเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ ภาพกลุ่มนักศึกษาเปียกปอนคุกเข่าเป็นรั้วขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ปะทะชาวบ้าน ระหว่างการจัดเวที public scoping เพื่อการขอประทานบัตรเหมืองทองคำแปลงที 76/2539 ของบริษัททุ่งคำจำกัด เหตุเกิดขึ้นบริเวณหน้าวัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ. เลย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ทำให้หลายคนทึ่งและรู้สึกปิติอย่างบอกไม่ถูกที่ได้เห็นเสื้อขาวๆของหนุ่มสาวกลุ่มนี้อยู่เคียงข้างชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนและต้องต่อสู้กับนายทุนใหญ่อันทรงอิทธิพล
นักศึกษากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามของกลุ่ม “ดาวดิน” ซึ่งเป็นกลุ่มที่เผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม โดยมีกิจกรรมหลักคือการออกค่ายเรียนรู้สังคม มีเพียงบางคนที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
“การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่มีความเป็นธรรม และเป็นความพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย เพราะเขาไม่เปิดให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยได้ร่วมแสดงความเห็นในเวที เขาบอกแต่ข้อดีแต่ไม่เคยพูดถึงข้อเสีย” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ 1ในกลุ่มดาวดิน บอกถึงสาเหตุที่ยืนอยู่ข้างชาวบ้าน
กลุ่มดาวดินมีสมาชิกราว 20 คน และออกค่ายเรียนรู้สังคมที่หมู่บ้านรอบๆเหมืองทองมาตั้งแต่ปี 2550 โดยมีรุ่นพี่เบิกทางลงชุมชนแห่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น
“พวกเราไปค้างและเรียนรู้จากชาวบ้านมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งทำตอนนี้ เราเก็บข้อมูลตั้งแต่ตอนเขายังทำเหมืองทอง จนหมดอายุสัมปทาน และขอประทานบัตรใหม่ในอีกพื้นที่หนึ่ง แต่มีแผนตกแต่งแร่ในพื้นที่เดิม พวกเราเห็นผลของสารพิษที่พบในน้ำปะปา ในนาข้าวและพืชต่างๆที่ชาวบ้านปลูก แต่ต้องกินใช้เพราะไม่มีทางเลือก แม้แต่สาธารณะสุขเองก็ยังเตือน” ไผ่และกลุ่มดาวดินเก็บข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านอยู่เรื่อยๆ พวกเขาพยายามนำมาสะท้อนให้สังคมได้รับทราบสถานการณ์ของชุมชน เช่น ทำเป็นวารสาร หรือตั้งวงแลกเปลี่ยนกัน
"ไผ่" บอกว่า ก่อนที่บริษัทจะจัดเวทีเมื่อวันที่ 8 ชาวบ้านได้จัดงานบุญภูทับฟ้าระหว่างวันที่ 4-7 กันยายน พวกเขาจึงเดินทางไปร่วมงาน และทราบดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านเพราะมีการส่งคนมาป่วนอยู่เรื่อยๆระหว่างที่ชาวบ้านจัดงานพร้อมกับมีการปล่อยข่าวว่าชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านเป็นพวกหัวรุนแรง
“พวกเราศึกษาจากคริปข่าวต่างๆถึงแนวทางการต่อสู้แบบสันติไว้ก่อนแล้ว เพราะเห็นว่าความรุนแรงอาจไม่ใช่ทางออก เรารู้ว่าในวันที่ 8 เขามีแผนสลายชาวบ้าน มีทั้งกองกำลังตำรวจและอส.กว่า 600 คน พร้อมทั้งรถห้องขังและอุปกรณ์ต่างๆครบครัน พวกเราจึงทำหน้าที่เป็นแนวหน้าเหมือนกับเป็นรั้วให้ชาวบ้าน เพราะจริงๆแล้วชาวบ้านก็ยึดแนวทางอหิงสา มีแค่ขวดน้ำและการปราศรัยเท่านั้น”
แม้เวทีรับฟังความคิดเห็นของบริษัททุ่งคำจบลงในห้องประชุม พร้อมกับบทสรุปตามสไตล์ของผู้ขอสัมปทาน แต่บทสรุปนอกห้องประชุม ยังคงต้องแสวงหากันอีกหลายยก ขณะที่กลุ่มดาวดินก็ยังคงเดินมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านต่อไป
"ในยุคที่ทุกซอกมุมของสังคมมีแต่ความขัดแย้งและการเลือกข้างแบ่งสีซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเมืองระดับยอดปิรามิด กระบวนการแสวงหาความหมายและคำตอบจากหมู่บ้านแทบไม่หลงเหลืออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย อย่างมากก็แค่ชื่นชมสายลมแสงแดด"
"ภาพของนักศึกษากกลุ่มดาวดินที่ยืนเคียงข้างชุมชน จึงทำช่วยจรรโลงใจได้ดีทีเดียว" ภาสกรระบุ
ย้อนกลับมาที่ล่าสุดความเคลื่อนไหว ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเรื่องการถูกบังคับใส่ชุดนศ. ดูเหมือนจะยังไม่จบสิ้น
เพราะแม้ว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะออกมายืนยันว่า มธ.ไม่มีกฎข้อบังคับให้นักศึกษาแต่งกายชุดนักศึกษาเข้าเรียน และได้แจ้งให้คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และอาจารย์ผู้สอน วิชา tu 130 (สหวิทยาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ยกเลิกข้อห้ามการกำหนดให้นักเรียนชั้นปี 1 ที่ไม่ได้แต่งกายชุดนักศึกษา เข้าเรียนจะไม่สามารถทำข้อสอบเก็บคะแนนเรียนในห้องเรียน ไปแล้ว
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ยังมีปัญหาเรื่องการไม่ให้บริการแก่นักศึกษาที่ไม่แต่งชุดนักศึกษาอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่นักศึกษาธรรมศาสตร์เท่านั้นที่รู้สึกไม่เห็นด้วย เพราะกลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ ที่เข้าไปติดต่องานในคณะฯ เมื่อทราบกฎข้อบังคับนี้ ก็มีท่าทีไม่เห็นด้วยเช่นกัน
“ ในช่วงสัปดาห์หน้านี้ ทางกลุ่มนักศึกษาจะออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อีกครั้ง ในรูปแบบการจัดทำโปสเตอร์เสียดสีการให้บริการของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีออกมา ภายใต้คอนเซ็ปต์ "No Uniform, No Service" แต่จะลดระดับความรุนแรงในโปสเตอร์ลง ไม่เหมือนกรณีโปสเตอร์แสดงท่าทางการร่วมเพศ ที่ออกมาก่อนหน้านี้”
นศ.ธรรมศาสตร์ ยังคงประกาศที่จะต้่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเองต่อไป
ต้องยอมรับว่า แม้ภาพรวมการออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ของ นศ.ธรรมศาสตร์ และนศ.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น “ดาวดิน” จะมีบริบท ที่แตกต่างกัน
กลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เพื่อปกป้องเรียกร้องสิทธิของตนเอง
อีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิของ "ผู้อื่น"
และกลุ่มหนึ่ง ใช้แนวทางการต่อสู้ตามแบบยุคสมัยใหม่ ใช้สื่อเป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ชัยชนะที่ได้รับ นำมาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า เป็นการกระทำไม่เหมาะสมเป็นเรื่องขัดศีลธรรม ผู้บริหารเตรียมเรียกตัวคนทำเข้าไปตักเตือน
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ยืนหยัดการต่อสู้ โดยใช้ พลังกายและพลังใจ เป็นเครื่องมือ สิ่งที่ได้รับคือ เสียงชื่นชม ในการทำหน้าที่ของนักศึกษา ที่ยืนเคียงข้างชุมชน พร้อมความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ความแตกต่างที่เกิดขึ้น อาจเหมือน "ฟ้า" กับ "เหว"
แต่เป้าหมายของนักศึกษาทั้งสองกลุ่ม มีเหมือนกัน คือ ความกล้าที่จะลุกขึ้น มาทำหน้าที่ความเป็น นักศึกษา เรียกร้องความถูกต้อง และความชอบธรรม จาก "ผู้มีอำนาจ"
จึงไม่ใช่เรื่อง่นาแปลกใจอะไร ที่สังคมไทย ยามนี้ ดูเหมือนเหมือนจะเริ่มมีความหวังขึ้นว่า กลิ่นอายแห่งอุดมการณ์ต่อสู้ ของ นศ. ที่เป็นกำลังหลัก ในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของสังคม กำลังจะหวนคืนกลับมาอีกครั้ง
หลังจากที่อุดมการณ์แบบนี้ มัน "ตาย" และ "จ่างหาย" ไปจากสังคมไทย มาช้านานแล้ว!!