สุริยา หมะนุ๊ ศิษย์เก่า ม.21 รุ่น 2 "ผมไม่เคยคิดว่าจะมีวันนี้"
"ไม่คิดว่าตัวเองจะมีวันนี้ รู้สึกดีใจมาก ดีใจที่สุดที่ได้กลับมาอยู่กับภรรยา ได้กลับมาอยู่กับลูกชายวัย 2 ขวบ คิดว่าชีวิตของเขาจะดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาแน่นอน เพราะผมไม่ต้องหนีและอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ อีกแล้ว"
เป็นเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความดีใจของ สุริยา หมะนุ๊ หนุ่มมุสลิมวัย 31 ปี ผู้ที่ผ่านการอบรมแทนการฟ้องคดีตามหลักสูตรสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รายล่าสุด ซึ่งเป็นกระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อรองรับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่มีคดีติดตัว แต่กลับใจเข้ามอบตัวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกระทำไปเพราะหลงผิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์
ศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา ได้มีคำสั่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ก.ย.2556 ปล่อยตัว นายสุริยา หมะนุ๊ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงตามหมายจับของศาลลงวันที่ 24 ต.ค.2550 ในข้อหาร่วมกันลอบวางเพลิงบ้านพักของ นายศุภชัย สังขรัตน์ ปลัดอำเภอระโนด จ.สงขลา เหตุเกิดเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 18 ส.ค.2550 ที่ ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา
ทันทีที่ศาลมีคำสั่งปล่อยตัว สุริยาเดินออกจากศาลด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ผ่อนคลาย โดยมีคนในครอบครัวและญาติพี่น้องมารอรับเป็นจำนวนมาก จากนั้นเขาได้เดินทางกลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 8 ต.บ้านนา อ.จะนะ
สุริยา เล่าว่า ตลอด 5 ปีเขาต้องดำรงชีวิตอย่างเป็นทุกข์ทรมาน ไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้เหมือนคนอื่นๆ ต้องคอยหลบหนีและอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จากความผิดที่ได้กระทำ
จุดเปลี่ยนของชีวิต คือวันที่พี่ชายมีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการตามมาตรา 21 รุ่นแรก คือรุ่นของ รอยาลี บือราเฮง กับ ยาซะ เจะหมะ แล้วกลับมาเล่าให้ฟัง ซึ่งสุริยาบอกว่าตอนที่ได้ฟังครั้งแรกนั้น ไม่เชื่อเลยว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี
"พี่ชายได้ไปดูแล้วก็กลับมาบอกเรา ตอนแรกผมไม่เห็นด้วยเลย แต่พอทุกคนให้ความมั่นใจว่านี่คือทางออกสุดท้ายที่จะช่วยให้เรากลับมามีชีวิตเหมือนเดิมได้ ก็เลยยอมเข้าร่วม แรกๆ เข้าไปหลายคนบอกว่าจะต้องไปฝึกอบรม ฝึกอาชีพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเวลานานถึง 6 เดือน แต่พอเข้าไปฝึกจริงๆ แล้ว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมแค่ 4 เดือน เริ่มจากวันที่ 5 พ.ค.2556 ซึ่งเรื่องที่อบรมส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องศาสนา และยังได้ออกไปเผยแผ่ศาสนา หรือ ดะวะห์ รอบๆ มัรกัสที่สตูล (ที่รวมตัวของกลุ่มดะวะห์) จากนั้นก็ฝึกเรื่องอาชีพ และพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์"
สุริยา เล่าต่อว่า ช่วงที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจอะไรเลย ทุกคน (อาจารย์ที่เป็นผู้อบรม) มีท่าทีสบายๆ กับผู้เข้าอบรม
"เราไม่เข้าใจก็ถามได้ ถ้าสงสัยเขาก็บอก เขาจะช่วยเราทุกอย่าง ที่สำคัญการเข้าร่วมโครงการเราไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย เพียงแค่เราสมัครใจเข้าร่วมโครงการ ทุกอย่างก็จะเข้าสู่กระบวนการ และดำเนินไปเรื่อยๆ จนสิ้นสุดโครงการ"
สุริยา ตั้งความหวังว่า หลังจากนี้ชีวิตจะกลับคืนสู่ความสงบสุข และจะนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปเปิดร้านอลูมิเนียม ทำประตูหน้าต่างมุ้งลวดที่ อ.จะนะ และดูแลลูกช่วงที่ภรรยาไปสอนหนังสือที่โรงเรียน
"ผมอยากให้เพื่อนๆ ที่เจอทางตันเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะไม่มีโครงการดีๆ แบบนี้ที่ไหนอีกแล้วที่จะช่วยเราให้สามารถพ้นผิดได้ สามารถให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ ต่างจากที่เราต้องหนีต้องหลบซ่อนมาตลอด"
"หลายครั้งที่นั่งคิดเรื่องราวของตัวเองที่ต้องหนี ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ มาตลอดเกือบ 6 ปี แต่เราเข้าร่วมโครงการแค่ 4 เดือนทุกอย่างสามารถลบความผิดเราให้กลายเป็นปกติได้ จึงได้ข้อสรุปว่าไม่มีโครงการไหนดีเท่าโครงการนี้แล้ว จึงอยากชวนเพื่อนๆ ให้พิจารณาโครงการนี้ด้วย แต่ถ้าเพื่อนๆ คนไหนยังสบายใจที่จะอยู่แบบเดิมก็ไม่ว่าอะไร แต่ก็อยากให้นึกถึงพ่อแม่เราบ้าง เพราะคนที่เดือดร้อนที่สุดช่วงที่เราต้องหนี คือพ่อ แม่ กับลูกเมียของเรา ผมเจอมาแล้ว อย่าทำให้พวกเขาเดือดร้อนและเสียใจอีกเลย"
สุริยา บอกว่า ตัวเขานับเป็นรุ่นที่ 2 ของโครงการตามมาตรา 21 ถัดจากเขาแล้วยังมี นายอับดุลเลาะ สาเมาะดามัน จากบ้านทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา อีกคนหนึ่งที่กำลังเข้าร่วมโครงการ และอีกไม่นานก็จะออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้
"ตอนนี้เท่ากับว่าผมมีรุ่นพี่ 2 คนที่เข้าร่วมโครงการก่อน และมีเพื่อนรุ่นน้องกว่าผมที่กำลังเข้าโครงการ รวมผู้ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 4 คนแล้ว รู้สึกดีใจมากที่ได้มีโอกาสดีๆ ที่ตัวเองไม่เคยมี"
อนึ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ต.ค.2555 ศาลจังหวัดนาทวีได้มีคำสั่งระงับการฟ้องคดีและสั่งปล่อยตัวผู้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จำนวน 2 คน คือ นายรอยาลี บือราเฮง กับ นายยาซะ เจะหมะ ซึ่งนับเป็นผู้เข้ารับการอบรมรุ่นแรกที่ศาลมีคำสั่งระงับการฟ้องคดีอาญาทั้งหมด
สำหรับบทบัญญัติมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระบุเอาไว้ว่า "หากปรากฏว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้น พร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการ
ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้
การดำเนินการตามวรรคสอง ให้ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหานั้นยินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าวแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป"
จากเนื้อความตามมาตรา 21 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ถอดออกมาจัดทำเป็นกระบวนการปฏิบัติ 6 ขั้นตอน คือ
1.เมื่อผู้ต้องหากลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าบุคคลนั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
2.ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนรายงานการสอบสวนและความเห็นไปให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผอ.รมน. (เฉพาะกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้หมายถึง ผอ.รมน.ภาค 4 คือ แม่ทัพภาคที่ 4)
3.เมื่อ ผอ.รมน.เห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน และตรงกับเงื่อนไขข้างต้นครบถ้วน ให้ ผอ.รมน.ส่งบันทึกสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
4.พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรม
5.หากผู้ต้องหายินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ และศาลเห็นสมควร ศาลจะสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนด
และ 6.เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ารับการอบรม รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนดเสร็จสิ้น ผลคือสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหาเป็นอันระงับไป
ปัจจุบันกระบวนการตามมาตรา 21 ใช้อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี อันเป็นพื้นที่รอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกมาก่อน แต่ภายหลังได้ยกเลิกและประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สุริยา หมะนุ๊ ขณะรับประกาศนียบัตรหลักสูตรสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง
2 สุริยา ถ่ายภาพกับมารดา ภรรยา ลูกวัย 2 ขวบ และเจ้าหน้าที่
ขอบคุณ : กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เอื้อเฟื้อภาพประกอบ