พรรคการเมืองตีฆ้องยกระดับสาธารณสุขชุมชน : ยาหอมขายฝัน?
หนึ่งในนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองจำเป็นต้องมีคือ สาธารณสุข โดยเฉพาะการลงลึกให้ถึงรากหญ้า เพราะหากสามารถทำนโยบายที่เข็นออกมาขายฝันได้ แน่นอนว่าความพึงพอใจจะถูกสะท้อนกลับมารูปของคะแนนเสียงอันล้นหลาม
...............................
ทว่าแม้ทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายที่สวยหรู แต่จากประสบการณ์ของสังคมที่ผ่านมาบรรดานโยบายหาเสียงเลืองตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าล้วนเสมือนเป็น “ยาหอมชั่วคราว” หรือการซื้อฝันที่เกิดขึ้นจริงนับครั้งได้หรือน้อยมาก!!
หากพิเคราะห์นโยบายพรรคใหญ่ จะพบว่ามีลักษณะไม่หนีจากกันเท่าไรนัก อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด และส่วนใหญ่เป็น “การผลิตซ้ำทางนโยบาย” จากอดีตเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าสุขภาพประชาชน
ประชาธิปัตย์ : ยกระดับรักษาฟรีด้วยบัตรประชาชนใบเดียว\
พรรคประชาธิปัตย์ ชู 3 แนวทางสาธารณสุขชุมชน 1.ดำเนินมาตรการยกระดับคุณภาพการรักษาฟรี มีคุณภาพ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ทุ่มงบประมาณร่วม 1.3 แสนล้านบาทต่อปี ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดคือประชาชนในชุมชนหรือห่างไกลจากเขตเมือง และเตรียมเพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัวให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขยายสิทธิประโยชน์ให้หลากหลายขึ้น
2.จัดค่าตอบแทนแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ปฏิบัติงานเชิงรุกในงานส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่นและชุมชน เพื่อลดการเจ็บป่วยและลดจำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ในอัตราคนละ 600 บาท/เดือน ครอบคลุมอสม.ทั้ง 1 ล้านคน 3.ขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน โดยจ่ายสมทบ 70 หรือ 100 บาท ได้สิทธิประโยชน์ 3 และ 5 ประการ
เพื่อไทย: ปัดฝุ่น เพิ่มสิทธิประโยชน์ 30 บาทรักษาทุกโรค
พรรคเพื่อไทย บลัฟกลับพรรคประชาธิปัตย์ด้วยการปัดฝุ่นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมเชื่อมต่อโรงพยาบาลเอกชน 240 แห่งเป็นเครือข่ายเดียวกันเพื่อให้บริการผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมซึ่ง อยู่ในพื้นที่ชุมชนสามารถใช้บริการได้สะดวกขึ้น พร้อมจะอุดหนุนงบประมาณเพื่อกระตุ้นให้หน่วยพยาบาลให้บริการและส่งเสริมการ จัดกิจกรรมป้องกันโรคในทุกชุมชน ขณะเดียวกันจะเร่งผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขและเพิ่มสวัสดิการเพื่อให้อยู่ใน ระบบเพียงพอต่อการให้บริการในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ
ภูมิใจไทย: หนึ่งชุมชน 1 ทุนเรียนแพทย์
พรรคภูมิใจไทย ออก 5 นโยบายสาธารณสุข เน้นลงพื้นที่ชุมชนอย่างถึงลูกถึงคน 1.สนับสนุนการรักษาฟรีและประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้โดยสะดวก 2.จัดตั้งโครงการ “หนึ่งตำบลหนึ่งทุนเรียนแพทย์”เพื่อสนับสนุนให้มีการผลิตแพทย์ซึ่งเป็นลูกหลานของประชาชนในชุมชนนั้นๆ 3.จัดตั้งโครงการ “1 สถานีอนามัย 1 รถพยาบาล 1 ทีมแพทย์” 4.จัดตั้งโครงการ”1หมู่บ้าน 1 ลานกีฬา” เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน 5.เพิ่มบทบาทและค่าตอบแทนให้อสม.รายละ 600 บาทต่อเดือน
เพื่อแผ่นดิน: รพ.ชนบทไม่ขาดหมอ
นโยบายพรรคเพื่อแผ่นดิน เพิ่มระดับควบคุมโฆษณาสินค้าที่ให้โทษต่อสุขภาพให้เข้มงวดขึ้น สนับสนุนให้สถานีอนามัยในชุมชน ตำบล อำเภอ และโรงพยาบาลประจำจังหวัดให้บริการดีและทั่วถึง พร้อมออกมาตรการควบคุมการคิดค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนให้เป็นธรรม เพิ่มการบริการของโรงพยาบาลของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดแพทย์พยาบาลให้เพียงพอกับโรงพยาบาลชนบท
ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน: เพิ่มเบี้ย อสม. หมอดินอาสา
พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ตั้งเป้าให้เกิดสุขภาพดีทั่วไทยและขยายระบบสวัสดิการ โดยมองว่าระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขและคุณภาพชีวิต จึงเสนอนโยบายอุดหนุนงบประมาณเพิ่มขึ้น 3% ทั่วประเทศในทุกปี จนครบ 35% พร้อมการปรับอัตราค่าจ้างค่าตอบแทนให้ผู้บริหารและสมาชิกเพิ่มไม่น้อยกว่า 20% แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งองค์การบริหาร ส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และให้เบี้ยสวัสดิการให้กลุ่มคนทำงานอาสามัคร อาทิ อสม. อปพร. และหมอดินอาสา อีกเดือนละ 1,000 บาท
ชำแระ “ยาหอมขายฝัน” กับภาพความจริงที่ยังห่างไกล
ว่ากันตามเนื้อผ้า หลักการขยายระบบประกันสังคมของพรรคประชาธิปัตย์เป็นสิ่งที่ดี ทำให้แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในชุมชนมีหลักประกันชีวิตยิ่งขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดพรรคประชาธิปัตย์ต้องตอบให้ได้ว่าระบบประกันสังคมภายใต้การควบคุมของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้บริการอย่างมีคุณภาพจริงหรือไม่ เพราะมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดเทกระจาดที่อนุมัติงบประมาณเฉียด 100 ล้าน สำหรับประชาสัมพันธ์เกณฑ์คนเข้าระบบ สะท้อนให้เห็นนัยยะสำคัญ
โครงการรักษาฟรี 48 ล้านคนใช้บัตรประชาชนใบเดียวที่ออกมาในยุคนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ชัดเจนว่าต้องการ “ลบภาพ” โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคไทยรักไทย คำถามคือการยกเลิกเก็บเงิน 30 บาท เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเข้ารับการรักษาเกินความจำเป็นจนกระทบต่อภาระงานของแพทย์พยาบาลหรือไม่ ส่วนการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ใช้สิทธิถือเป็นเรื่องสมควร
ขณะเดียวกันการรื้อฟื้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคเพื่อไทย สังคมเชื่อว่ามีเป้าประสงค์สร้างการจดจำใหม่อีกครั้งเท่านั้น ดังนั้นเพื่อลบคำปรามาสนี้ พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เหนือกว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพัฒนาสิทธิประโยชน์จนระบบประกันสังคมวิ่งตามไม่ทัน
สำหรับการเชื่อมต่อโรงพยาบาลเอกชนยังมีความเคลือบแคลงถึงความเป็นไปได้ เพราะสภาพความจริงคือโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีการแข่งขันอย่างดุเดือด ต่างแย่งผู้ประกันตนเข้าสู่สังกัดเพื่อผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ จึงแน่นอนว่าคงไม่มีใครยอมสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปมากกว่านี้ แต่หากพรรคเพื่อไทยทำได้จริงจะยิ่งสร้างความเคลือบแคลงต่อสังคมอีกว่า โรงพยาบาลเอกชนเกี้ยเซี๊ยะผลประโยชน์ที่จะเสวยสุขในกองทุนประกันสังคมอย่างลงตัวแล้วใช่หรือไม่ ส่วนการผลิตบุคลากรเป็นเรื่องที่พูดกันทุกรัฐบาลแต่ไม่สามารถทำได้จริงปัญหา อยู่ที่ไม่เปิดให้บรรจุตำแหน่งข้าราชการ
ส่วนนโยบายอื่นๆ ของแต่ละพรรคการเมืองล้วนแต่เป็นไปในลักษณะโยนงบประมาณลงพื้นที่เพื่อการพัฒนา ปรากฏเป็นช่องโหว่และไม่สามารถหาดัชนีชี้วัดผลเลิศที่วางไว้ได้
“แก้โครงสร้างระบบสาธารณสุข” ประเด็นที่พรรคการเมืองไม่กล้าแตะ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มองว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมืองยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถึงรากฐาน แม้ว่าหลายนโยบายจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ยังน้อยจนเกินไป สิ่งสำคัญที่สุดของการยกระดับระบบสาธารณสุขชุมชนให้สูงขึ้นคือการแก้เชิงโครงสร้าง แต่ที่ผ่านมาและคาดว่าในอนาคตก็อาจไม่มีพรรคการเมืองใดกล้าทำ
นพ.วิชัย อธิบายเพิ่มว่า ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นขณะนี้คือช่องว่างระหว่างชุมชนกับเมืองใหญ่ ในลักษณะ “ไหใหญ่ล้น ไหน้อยบ่เต็ม” คือทิศทางสังคมกลับเน้นพัฒนาเขตเมืองมากจนเกินความจำเป็น ขณะที่ชุมชนยังขาดแคลน โรงพยาบาลระดับตำบลไม่มีแพทย์ ระดับอำเภออาจมีบ้างแต่ก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นแนวทางเดียวในการแก้ไขคือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ลดบทบาทรัฐบาลกลางและเพิ่มอำนาจรัฐบาลท้องถิ่น ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วงบประมาณก็จะกระจายสู่ท้องถิ่นมากขึ้น
“ตอนนี้ชนบทกำลังถูกทอดทิ้ง ขึ้นอยู่กับว่าพรรคหรือรัฐบาลใหม่จะกล้าทำหรือไม่ คณะกรรมการปฏิรูปได้จัดทำข้อเสนอไปแล้วแต่ก็ไม่มีพรรคการเมืองใดขานรับ เพราะการเมืองปัจจุบันมันอยู่ในวังวนเดิมๆ ถ้าไม่คิดจะแตะตัวโครงสร้างก็ต้องชัดเจนว่าจะชะลอการเติบโตของเมือง และไปเร่งชุมชน แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือคะแนนเสียงส่วนใหญ่คือเมือง ดังนั้นพรรคการเมืองใดจะกล้าสวนกระแส” หมอวิชัย ขยายความ
“ประกันสุขภาพระบบเดียวทั่วประเทศ” ลดเหลื่อมล้ำคนทุกกลุ่ม
ขณะที่ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ เห็นว่าทุกพรรคการเมืองควรเน้นนโยบายด้านระบบประกันสุขภาพให้กับประชาชนทั่วประเทศ มากกว่าการทำนโยบายแบบแก้ปัญหาปลายเหตุ โดยต้องส่งเสริมระบบประกันสุขภาพระบบเดียวและมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนในชุมชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าเขตเมือง ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพก็จะหมดไป
“ประชาชนในพื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่จะใช้สิทธิบัตรทอง ดังนั้นรัฐบาลควรนำงบประมาณที่ใช้สนับสนุนทั้งสวัสดิการข้าราชการ ร่วมสมทบกับระบบประกันสังคม รวมถึงงบประมาณด้านสุขภาพที่อุดหนุนให้หน่วยงานอื่นๆมารวมกันไว้ที่กองทุนบัตรทอง จากนั้นก็ขยายกองทุนนี้ให้ครอบคลุมการบริการแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ความเท่าเทียมก็จะเกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง โดยเฉพาะกับชุมชนชนบทและชุมชนเมือง” ผู้แทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการฯ เสนอ
ถามพรรคการเมือง เอาอย่างไรกับ“เมดิคัล ฮับ” ตัวทำลายระบบสุขภาพชุมชน
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย วิพากษ์ว่าที่ผ่านมา ส.ส. นักการเมือง พรรคการเมืองไม่เคยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน เห็นได้ชัดว่าประชาชนพยายามรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายหลายฉบับแต่ก็ไม่ถูก หยิบยกขึ้นมาพิจารณา ดังนั้นฝ่ายการเมืองจำเป็นต้องจริงใจและเห็นหัวประชาชน นอกจากนี้ยังต้องพูดให้ชัดในเรื่องนโยบายสาธารณสุขที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยตรง เช่น เมดิคัล ฮับ ที่จะสร้างปัญหาเรื่องแพทย์สมองไหลจากชุมชนเข้าเมือง ค่าบริการทางการแพทย์สูงขึ้น และประชาชนในพื้นที่ห่างไกลจะเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานได้ยากขึ้น
“นโยบาย เมดิคัลฮับจะทำลายระบบสาธารณสุขชุมชน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ แต่เชื่อได้เลยว่าพอคนเหล่านี้เข้าไปเป็นรัฐบาลก็จะสานต่อนโยบาย สุขภาพชุมชนก็จะเกิดปัญหา”เอ็นจีโอด้านเอดส์ตั้งข้อสังเกต และว่ารัฐบาลต้องทำนโยบายเพื่อวางรากฐานสวัสดิการชุมชน ไม่ใช่ทำแค่การสงเคราะห์ชุมชน
………………………
นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจที่จะยกระดับ สาธารณสุขชุมชนว่ามีมากน้อยเพียงใด บางพรรคการเมืองออกนโยบายให้ดูดีโดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ หรือบางพรรคการเมืองนโยบายมีความเป็นไปได้แต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการ ท้ายที่สุดแล้วนโยบายเหล่านั้นจัดทำขึ้นเพื่อหวังคะแนนเสียงเท่านั้นหรือไม่??
คำตอบทั้งหมดอยู่หลังเลือกตั้ง ด้วยความหวังอันน้อยนิดยังอยากเห็นนโยบายเหล่านี้เป็นจริงสักประการหนึ่ง!!