รู้ไหม สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยเคยเก็บ "ภาษีชายโสด" แต่แค่ปีกว่าก็ล้มเลิก!
จากปัญหาโครงสร้างประชากรที่ไม่สมดุล ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยขาดแคลนคนที่อยู่ในวัยแรงงาน หนึ่งในสาเหตุก็มาจากคนไทยมีลูกน้อย กอรปกับสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวแล้ว
ภาระหนักตกอยู่ที่รัฐที่จะต้องเสียงบประมาณมหาศาลเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ
พลันที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยชื่อดัง เปิดแนวคิดการเก็บภาษีคนโสด เก็บภาษีคนไม่มีลูก เพื่อหวังกระตุ้นให้คนไทยมีครอบครัวนั้น วันนี้ได้กลายเป็นประเด็นร้อนระอุ ถกเถียงกันว่าด้วยเรื่อง "ภาษีคนโสด" ไปเสียแล้ว
แต่ใครเคยรู้หรือไม่ว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเคยมีการเก็บ "ภาษีชายโสด"มาแล้วครั้งหนึ่ง ทั้งนี้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีชายโสด พ.ศ.2487 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2487
เฟชบุค นักกฎหมายไทย มีหลักฐานมายืนยัน
เนื้อหาการเก็บภาษีชายโสด ระบุว่า ภาษีชายโสดมีลักษณะเป็นภาษีที่จัดเก็บเสริมภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กล่าวคือ ชายโสดผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีชายโสด 5 บาท หรือในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งจะมากกว่า
แต่โชคดี !สำหรับชายโสด ที่การจัดเก็บภาษีนี้ กระทำเพียงเวลาปีเศษ ก็มีอันต้องเลิกจัดเก็บตั้งแต่ 9 มกราคม 2488 ....
6 เหตุผลไม่เห็นเด้วย เก็บภาษีคนโสด
สำหรับประเด็นนี้ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แสดงความเห็นในเฟชบุคส่วนตัว โดยเชื่อว่า นโยบายนี้เกิดได้ยากในบริบทของสังคมไทย อีกทั้งเชื่อว่า มีสิทธิผิดรัฐธรรมนูญเพราะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน
นโยบาย ลูกคนแรก - เก็บภาษีคนโสดนั้น ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ที่ "ไม่เห็นด้วย" มีสาเหตุหลายข้อ
เหตุผลข้อ 1
จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาสแรก ปี 2556 พบประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด (นับเฉพาะอายุ 15 ขึ้นมา) ภายใน 10 ปีข้างหน้า แรงงานกลุ่มนี้จะทยอยออกจากตลาดแรงงาน
หากเรานำนโยบายลูกคนแรก-ภาษีคนโสดมาใช้ ใน 2-3 ปี ข้างหน้า แสดงว่า อีก 7-8 ปี คนที่อยู่ในกำลังแรงงานที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี (กลุ่มที่มีแนวโน้มจะมีลูกมากที่สุด) จะต้องรับภาระสองด้านคือ
1) เลี้ยงดูลูกของตัวเองและลูกของคนอื่น 2) เลี้ยงดูประชากรสูงวัยของประเทศ ซึ่งจะมีทั้งค่าใช่จ่ายทางตรงสำหรับสมาชิกในครอบครัว (ค่าเทอมลูก ค่ายาของปู่) และค่าใช้จ่ายทางอ้อมในรูปของภาษี เพราะตามที่ผู้เสนอนโยบายนี้ออกแบบมารัฐจะต้องจ่ายเงินสนับสนุน แสดงว่า เงินของคนจน ก็จะถูกใช้ไปเลี้ยงดูลูกของคนที่รวยกว่า และเงินของคนที่รวยกว่าก็จะใช้ในการเลี้ยงดูลูกของคนจนด้วย
จึงเป็นคำถามเชิงปริมาณว่า นโยบายนี้จะส่งผลต่อโครงสร้างแรงจูงใจอย่างไร
ผู้เสนอบอกเองว่า คนมีฐานะดีขึ้น จึงมีลูกน้อยลง เพราะมัวแต่ทำงาน ทำให้อนุมานได้ว่า นโยบายนี้ต้องการให้คนมีรายได้ปานกลางถึงสูงปั๊มลูกออกมาให้มากขึ้น แสดงว่า เงินของคนจนจะถูกนำไปใช้ในการเลี้ยงลูกของคนรวย นี่คือเหตุผลแรกที่ทำให้ไม่เห็นด้วยกันแนวคิด
เหตุผลข้อ 2
ผู้เสนอบอกว่า เราจำเป็นจะต้องเพิ่มคนเพื่อทดแทนกับประชากรเดิม นั่นคือ เราจะต้องมีประชากรราว 65-67 ล้านคนต่อไป ต้องมองย้อนกับไปก่อนว่า การที่ประชากรราว 1 ใน 3 ของเรามีอายุเกิน 50 ปี (นับเฉพาะกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป) แสดงว่า ช่วงที่ประชากรเพิ่มขึ้นมากๆ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังส่งเสริมภาคเกษตรเพื่อการส่งออก แต่ตอนนี้สถานการณ์ของเราเปลี่ยนไปแล้ว
ข้อมูลชุดเดียวกันกับที่ใช้ในข้อ 1 บอกว่า แรงงานไทยจำนวน 38.5 ล้านคน มีประมาณ 15% ที่ทำงานไม่เต็มเวลา
ตีความอ้อมๆ ก็คือ ตอนนี้เราจ้างคนมากเกินกว่าจุดที่มีประสิทธิภาพ แสดงว่า เราจะสามารถสร้างผลผลิตรวมของประเทศ (GDP) โดยใช้คนให้น้อยกว่านี้ได้
"ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาจำนวนประชากรไว้ที่ 65-67 ล้านคน ถ้าเอา 15% ที่กล่าวไปมาคิด แสดงว่า จริงๆ แล้วเราต้องการคนแค่ 85% ของที่มีอยู่ นั่นคือ จำนวนประชากรไทยสามารถลดลงไปเหลือ 55 ล้านคนได้โดย GDP ไม่ได้รับผลกระทบ ถ้าเรารู้จักพัฒนาคนให้ทำงานได้เต็มศักยภาพ คุณภาพการศึกษาจึงสำคัญกว่าการเพิ่มจำนวนหัวของประชากร นี่คือเหตุผลที่ 2 ที่ทำให้ผมไม่เห็นด้วยกันแนวคิด"
เหตุผลข้อ 3
ผู้เสนอห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย (ผมตีความว่าค่าใช้จ่ายต่อหัว) ซึ่งจะกลายเป็นกำลังซื้อรวมของประเทศ ว่าถ้ามีคนไม่พอ กำลังซื้อรวมจะลดลง และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ
คณิตศาสตร์เบื้องต้นบอกเราว่า ถ้าตัวตั้งเท่าเดิมแต่ตัวหารลดลง แต่ละคนจะได้มากขึ้น จากข้อ 2 เมื่อ GDP เราไม่ลด แต่คนเราน้อยลง รายได้ต่อหัวของเราจะมากขึ้น ผลทางด้านกำลังซื้อจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วง แถมการที่คนมีรายได้เพิ่มขึ้น จะทำให้มีการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้น จึงไปเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย
นี่คือเหตุผลข้อที่ 3 ที่ทำให้ไม่เห็นด้วยกันแนวคิดนี้
เหตุผลข้อ 4
กรณีส่วนใหญ่ การมีลูก (ถ้าไม่หน้ามืด) เป็นการตัดสินใจบนเหตุผล คนจะเป็นพ่อเป็นแม่ต้องคิดสะระตะว่าจะมีปัญญาเลี้ยงลูกได้หรือไม่ การที่เขาเลือกยังไม่มีลูก เพราะเขายังไม่พร้อม ไม่ใ้่่ช่เป็นการก่ออาชญากรรมขนาดจะต้องมีมาตรการออกมาให้เขามีลูกก่อนเวลาอันควร
"ลองนึกดูว่า ถ้าเราอยู่คอนโดขนาด 30 ตารางเมตร เราอยากจะให้ลูกเกิดมาและโตในพื้นที่แค่นี้หรือ พื้นที่และสภาพแวดล้อมส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก การเติบโตมาในที่ที่ไม่เหมาะสมย่อมส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของเด็ก แสดงว่าถึงเขาโตขึ้น เขาก็ไม่สามารถใช้ความสามารถของตนเองได้ 100% นอกจากนี้แล้ว การเลี้ยงลูกยังมีภาระทางจิตใจต่อพ่อกับแม่ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถเ้ข้ามาช่วยแบกรับได้เลย การคิดเชิงคณิตศาสตร์โดยไม่คิดถึงมิติความเป็นมนุษย์ของพ่อแม่ประกอบไปด้วย ผมยังเชื่อว่า "มีลูกเมื่อพร้อม" คือนโยบายที่ดีที่สุด นี่คือเหตุผลข้อที่ 4 ที่ทำให้ผมไม่เห็นด้วยกันแนวคิด"
เหตุผลข้อ 5
ขนาดรถคันแรกยังผ่อนกันไม่ค่อยไหว ลูกคนแรกดูแลยากกว่า
เหตุผลข้่อ 6
ความโสดไม่ใช่ความผิด แค่โสดก็เหงาจะแย่แล้ว ไม่ควรซ้ำเติมกันอีก...
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/chatpol.charimobhas?hc_location=stream