ครม. มีมติรับข้อเสนอของ กสม. เรื่อง สิทธิในการรับบริการสาธารณสุข
ครม. มีมติรับข้อเสนอของ กสม. เรื่อง สิทธิในการรับบริการสาธารณสุข
ตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ
นายชาติชาย สุทธิกลม เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ได้มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายของ กสม. เรื่อง สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขตามระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงาน ก.พ. รับข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายของ กสม. ไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย หากเห็นว่าจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายเรื่องใดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกันศึกษารายละเอียดและแนวทางดำเนินการก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
นายชาติชายฯ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอแนะด้านนโยบายและกฎหมาย เรื่อง สิทธิในการรับบริการสาธารณสุข มีสาระสำคัญโดยย่อ ดังนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ประกอบด้วย ๑) ทบทวนแนวคิดและวิธีจัดบริการและระบบบริการสาธารณสุขบนฐานหลักความเสมอภาค โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพื้นฐานและแยกบทบาทระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ ๒) ให้ทบทวนนโยบายและแนวคิดว่าด้วยสวัสดิการข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทให้สอดคล้องกับแนวทางตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ข้อ ๑๒ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตร ๕๑ และมาตรา ๘๐ (๒) ๓) ทบทวนการจ่ายเงินให้หน่วยบริการหรือเครือข่ายหน่วยงานบริการและสนับสนุนให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการเมื่อได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล
สำหรับข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย ประกอบด้วย ๑) เร่งรัดการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙ และ ๑๐ แห่ง พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือแก้ไขมาตราดังกล่าว รวมทั้งมาตราอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงหรือการจัดสรรบริการฯ อย่างได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ๒) เร่งรัดผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และ ๓) แก้ไขพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๕๓ ว่าด้วยกลไกบริหารจัดการระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และเพิ่มประเภทบุคคลไม่ต้องร่วมจ่ายในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องบุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕