"สันติธานี" กับ 3 พื้นที่นำร่องดับไฟใต้ด้วยวิถีวัฒนธรรม
เมื่อยุทธศาสตร์ทั้งการเมืองและการทหารยังไม่อาจพลิกฟื้นสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ให้สันติสุขขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ร้ายรายวันได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานร่วม 10 ปีแล้วก็ตาม วันนี้ยุทธศาสตร์ "วิถีวัฒนธรรมนำการเมืองและการทหาร" จึงเป็นอีกหนึ่งรูปธรรมที่กำลังถูกนำไปทดลองใช้เพื่อคลี่คลายปัญหาในพื้นที่
หลักคิดก็คือ การปรับเปลี่ยนการให้บริการขั้นพื้นฐานของรัฐให้สอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่ ความเชื่อ หลักการทางศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนมีความพึงพอใจ ลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ซึ่งผลจากความรู้สึกตรงนั้นจะแปรเป็นพลังเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้ปลอดจากความรุนแรง มีแต่ความเข้าอกเข้าใจ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือ...ความสงบสุข
โครงการนำร่องที่ว่านี้ชื่อ "สันติธานี พื้นที่วิถีวัฒนธรรมสู่สันติสุขชายแดนใต้" เป็นโครงการที่นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 (หรือ 4ส2) แห่งสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ช่วยกันผลักดันและสร้าง "เมืองจำลอง" ขึ้นในพื้นที่จริงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักการของ "สันติธานี"
กิจกรรมที่มุ่งปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ เป็นเรื่องพื้นฐาน 3 เรื่องหลักที่เกี่ยวข้องกับทุกคน นั่นก็คือ การศึกษา การสาธารณสุข และการอำนวยความยุติธรรมลำดับต้น
อุปสรรคทางภาษา...ความละเอียดอ่อนที่ปลายขวาน
"ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับด้านสาธารณสุขในพื้นที่ คือ อุปสรรคด้านภาษา เพราะประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร แต่หน่วยงานรัฐด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล สถานีอนามัย รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์เกือบทั้งหมดกลับใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร เช่น ป้ายชื่อโรงพยาบาล หรือฉลากยา" พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา หนึ่งในแกนนำนักศึกษา 4ส2 ที่ขับเคลื่อนโครงการสันติธานีในพื้นที่ชายแดนใต้ เริ่มต้นเล่าถึงสภาพปัญหา
เธอเล่าต่อว่า เมื่อชาวบ้านป่วยไข้ ส่วนใหญ่จึงรู้สึกขยาดที่ต้องไปโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาอย่างที่บอกคือสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เมื่อไม่ไปโรงพยาบาล แม้กระทั่งคลอดบุตรก็ยังไม่ยอมไป จึงส่งผลต่อเนื่องถึงอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กสูง หรือแม้กระทั่งโรคบางโรคที่เคยหมดไปจากประเทศไทยไปแล้ว ก็กลับพบในพื้นที่ชายแดนใต้
"หญิงสาวมุสลิมที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ต้องการฝากครรภ์กับหมอที่เป็นผู้หญิง ทั้งยังบอกว่ายินดีที่จะให้โต๊ะบิแด (หมอตำแย) ทำคลอดที่บ้าน หรือดูแลจนกว่าจะคลอดเองมากกว่าที่จะไปโรงพยาบาล ทางออกของปัญหานี้จึงต้องพยายามให้คงเรื่องโต๊ะบิแดเอาไว้ แต่ต้องให้โต๊ะบิแดมาอบรม และใช้เขาในการบีบนวดให้กำลังใจแก่หญิงมุสลิมใกล้คลอด เพราะคุณแม่มือใหม่จะรู้สึกอุ่นใจกว่า เนื่องจากได้อยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องและได้รับการดูแลรักษาจากผู้ที่ใช้ภาษาเดียวกันซึ่งสื่อสารกันเข้าใจมากกว่า ชาวบ้านต้องการสื่อสารด้วยภาษามลายูจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่หน้าตายิ้มแย้ม การพูดดีๆ แม้ต้องรอนานเขาก็เต็มใจรอได้เป็นชั่วโมง"
นี่คือตัวอย่างของความละเอียดอ่อนในดินแดนปลายด้ามขวาน และ "สันติธานี" เป็นทางออกเพื่อรองรับประเด็นเหล่านี้ โดยโครงการนำร่องที่กำลังดำเนินการอยู่ในระยะเริ่มแรกนั้น จัดให้มี 3 บริบท คือ โรงพยาบาล ซึ่งเป็นบริการด้านสาธารณสุขที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้ใช้ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต, โรงเรียน เป็นบริการที่ประชาชนทุกคนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งเด็กที่ต้องใฝ่หาความรู้ และผู้ใหญ่ในฐานะผู้ปกครอง สุดท้ายคือ สถานีตำรวจ เพราะเป็นบริการที่ใกล้ชิดกับประชาชนในด้านอำนวยความยุติธรรม
กำหนดพื้นที่นำร่องกระจาย 3 จังหวัดชายแดน
"เราไม่ได้ทำในภาพกว้างทั้ง 3 จังหวัด แต่เลือกพื้นที่นำร่องในระดับตำบลและอำเภอก่อน โดยให้กระจายไปทั้งสามจังหวัด คือ จ.ยะลา เราเลือก อ.กาบัง ทั้งอำเภอ จ.ปัตตานี เราเลือก อ.ยะหริ่ง ขณะนี้กำลังคัดเลือกตำบล ส่วน จ.นราธิวาส เราเลือกพื้นที่ ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง และ ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี พื้นที่ไหนพร้อมก็ทำก่อน โดยดูท่าทีและความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านกับหน่วยงานราชการในพื้นที่นั้นๆ ก่อน หากทุกฝ่ายให้ความสนใจและเห็นพ้องกับแนวคิดสันติธานี เราจึงจะเริ่มทำ"
หมอเพชรดาว บอกต่อว่า การเลือกพื้นที่นำร่องของโครงการสันติธานีในแต่ละจังหวัดนั้น ล้วนมีเหตุผลประกอบการตัดสินใจ อย่างของ จ.ยะลา เลือก อ.กาบัง ทั้งอำเภอเพราะเป็นอำเภอที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงน้อยมาก และความสัมพันธ์ของผู้คนอยู่ในระดับดี ส่วน จ.ปัตตานี เลือก อ.ยะหริ่ง เพราะเป็นอำเภอขนาดกลาง แต่ยังไม่ได้เลือกตำบล ขณะที่นราธิวาส เข้าพื้นที่ ต.โต๊ะเด็ง กับ ต.จวบ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงไปเลย
"เราเข้าไปพุดคุยกับทุกภาคส่วน ทั้งหัวหน้าส่วนราชการ สถานีตำรวจ โรงพยาบาล โรงเรียน รวมทั้งปอเนาะ แทบทุกกลุ่มเขาก็ยินดี อย่างในโรงพยาบาลที่ อ.กาบัง มีบริบทที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่แล้ว เช่น มีมุมอาซานตอนคลอดบุตร (สำหรับกล่าวเรียกขวัญเด็กตามหลักศาสนาอิสลาม) มีป้ายสองภาษา มีห้องสำหรับคนใกล้เสียชีวิตไว้อ่านยาซีน (บทหนึ่งในอัลกุรอาน) แต่ของศาสนิกอื่นซึ่งยังใช้ห้องเดียวกัน ก็แนะนำให้เขาแยกห้องจะดีกว่า เนื่องจากไทยพุทธต้องมีหิ้งพระเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ"
"ส่วนโรงพักกาบัง ผู้บังคับบัญชาก็สนับสนุนเต็มที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ค่อยมีปัญหา ที่น่าสังเกตคือบุคลากรตำรวจทั้งโรงพัก 60 คน แต่พูดมลายูได้เพียง 2 คน อีก 5 คนเป็นมูอัลลัฟ (คนศาสนาอื่นที่เข้ารับอิสลาม) ที่เหลือเป็นตำรวจที่มาจากภาคอีสาน มีล่าม 1 คนเป็นลูกจ้างชั่วคราวแต่ทำงานคล่องมาก ที่นั่นเป็นโรงพักขนาดเล็ก โต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ต้องซื้อเอง ใครย้ายไปก็หิ้วของกลับไป ขณะที่โรงเรียนก็ได้คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนบ้างแล้ว"
ช่วยคิด-หางบ-ศอ.บต.ยื่นมือช่วย
หมอเพชรดาว เล่าถึงประสบการณ์จากที่ได้ลงพื้นที่นำร่องทุกแห่งว่า เมื่อลงไปก็จะทราบความต้องการ ส่วนใหญ่อยากได้งบประมาณในการจัดซื้อข้าวของต่างๆ แต่ทางสันติธานีไม่มีงบประมาณให้ จึงทำหน้าที่เป็นตัวประสานและช่วยคิด รวมทั้งขอรับบริจาคจากผู้ที่มีกำลังมากพอ
"ตอนนี้ในพื้นที่ชายแดนใต้มีโรงพยาบาลอีก 3-4 แห่งที่ยังไม่มีครัวฮาลาล เช่น โรงพยาบาลกะพ้อ จ.ปัตตานี มีทุกอย่างครบตามที่สันติธานีอยากให้มี แต่ยังไม่มีครัวฮาลาล ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ของบประมาณไป คาดว่าจะได้รับในปีหน้า หรือการพูดคุยกับครูหลายโรงเรียน ทราบว่าอยากให้มีวิชาที่เป็นประโยชน์กับเด็กและชุมชน มีโครงการที่สามารถให้เด็กเล็กและเด็กโตทำกิจกรรมด้วยกันได้"
"ช่วงหลัง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ได้อนุมัติงบประมาณให้จำนวนหนึ่ง โดย ศอ.บต.อยากให้มีพื้นที่สีแดงนำร่องสัก 1 พื้นที่ และให้ช่วยคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐด้วย เพราะผู้เห็นต่างจากรัฐบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นานๆ อาจจะยังติดภาพเก่าๆ ไม่ทราบว่ารัฐแก้ไขปัญหาไปมากแล้ว และเมื่อสันติธานีคือการริเริ่มทำในสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ ถ้าผู้เห็นต่างจากรัฐทราบ ก็คงยินดี"
สำหรับการแก้ปัญหาด้านภาษานั้น หมอเพชรดาว บอกว่า ปีที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้เริ่มจัดทำฉลากยา 2 ภาษา คือภาษาไทยกับภาษามลายู ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี และมีการเสนอว่าควรจัดให้มีล่ามที่เข้าใจทั้ง 2 ภาษาและมีความรู้ทางการแพทย์เพื่อเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย ส่วนป้ายบอกทางก็อาจทำในลักษณะให้คนพื้นที่คิดกันเอง ทำกันเอง เรื่องแบบนี้ ศอ.บต.ไฟเขียวเยอะ เพราะที่ผ่านมามองกันแต่มิติความมั่นคงของทางราชการ แต่ไม่ใช่ความมั่นคงของชาวบ้าน
"ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้แนวทางสันติธานีประสบความสำเร็จ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันประเมินผล และถอดบทเรียน ขณะที่ภาครัฐควรปรับทัศนคติ และฝ่ายการเมืองก็ควรนำข้อเสนอจากพื้นที่ไปปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน" หมอเพชรดาว ระบุ
พลังเสริมกระบวนการพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้
โครงการ "สันติธานี" ได้รับเลือกให้เป็นไฮไลท์ในการนำเสนอผลงานของนักศึกษาทุกหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า บนเวทีและนิทรรศการที่จัดขึ้นในโอกาสครบ 15 ปีของการสถาปนาสถาบันฯ วันที่ 5 ก.ย.2556 ที่โรงแรมเซ็นทรา แจ้งวัฒนะ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล กล่าวว่า นักศึกษาทุกหลักสูตรมีพื้นที่ในการแสดงผลงาน เช่น 4ส1 (หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 1) นำเสนอเรื่องภาคประชาชนที่เชื่อมโยงกับกระบวนการสันติภาพ 4ส3 (รุ่นที่ 3) นำเสนอเรื่องสังคมและความหลากหลายที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขณะที่ 4ส4 (รุ่น 4) นำเสนอแนวทางและรูปแบบของการสร้างสันติภาพ หรือ Peace Model
"สถาบันพระปกเกล้าให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้และการแก้ไขความขัดแย้ง เน้นเปิดพื้นที่ให้ได้พูดคุยกัน ระยะหลังได้เปิดหลักสูตร '4สใต้' เน้นคนพื้นที่จริงๆ และยังมีหลักสูตรใหม่สำหรับเรื่องการพูดคุยสันติภาพเป็นการเฉพาะ รวมทั้งขับเคลื่อนกิจกรรมกับกลุ่มสตรีในประเด็นสันติภาพด้วย"
"ส่วนผลงานของ 4ส2 เรื่องสันติธานีนั้น สาเหตุที่ได้รับเลือกเป็นไฮไลท์ของงาน ก็เพราะได้ลงพื้นที่ทำงานกับภาคประชาชนและชุมชนในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ได้รับการตอบรับที่ดีมาก และกำลังขยายผลไปสู่การสร้างสภาประชาชนในพื้นที่ คล้ายๆ กับสภาซูรอ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของคนพื้นที่อยู่แล้ว"
พล.อ.เอกชัย บอกด้วยว่า การทำงานของสถาบันพระปกเกล้าจะช่วยเติมเต็มให้รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาฯ พ.ศ.2555-2557 นั้น มีระบุเอาไว้ 9 ข้อ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งทำแค่ข้อ 8 ข้อเดียว คือ ริเริ่มกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทั้งๆ ที่ข้ออื่นๆ ที่เหลือก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การทำงานของนักศึกษาหลักสูตร 42 ได้เข้าไปเสริมในจุดนี้ และเป็นการขับเคลื่อนโดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
"ถือเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการแก้ไขปัญหา และจะเป็นส่วนหนุนเสริมให้การพูดคุยสันติภาพประสบความสำเร็จด้วย เพราะถ้าอีก 8 ข้อไม่ยอมทำ ข้อ 8 (การพูดคุยสันติภาพ) ก็ไม่มีทางสำเร็จ" พล.อ.เอกชัย ระบุ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : โรงพักเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หนึ่งในหลายพื้นที่ที่ทีมสันติธานีลงไปทำงาน