ขีดเส้นที่ทรัพย์สิน ความทุกข์คนยากไร้ กับสิทธิไม่ได้รับการประกันตัว
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น…
คดีแรก..เป็นความทุกข์ของคนยากไร้ เกิดขึ้นที่จังหวัดอยุธยา ลูกจ้างคนหนึ่งมีรายได้วันละ 300 บาท เงินเก็บไม่ค่อยมี กินเหล้าเมากับเพื่อน แถมยังมีเรื่องทะเลาะกับนายจ้างอีกต่างหาก พอตกดึกเขาเมาจัดปรี่เข้าไปตีหัวนายจ้างบาดเจ็บ แม้อาการนายจ้างจะไม่สาหัส แต่ก็ถูกดำเนินคดี กระทั่งตกเป็นผู้ต้องหาทำร้ายร่างกายและบุกรุกในเวลากลางคืน
ผู้ต้องหาผู้นี้ไม่มีแม้แต่หลักทรัพย์เพื่อมาประกันตัว ซึ่งข้อหาทำร้ายร่างกายหลักประกันจะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาท ขณะที่ข้อหาที่แรง คือ ข้อหาบุกรุกในเวลากลางคืนหลักประกันอยู่ที่ 9 หมื่นบาท
ขณะช่วงเวลาที่ถูกหมายเรียกโดยพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนมีความเข้าใจให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาคนนี้ไป แต่กำหนดเงื่อนไขให้มารายงานตัวทุกครั้ง จากนั้นเมื่อมีการส่งเรื่องไปให้พนักงานอัยการ เขาคนนี้ก็มารายงานตัวทุกครั้งเช่นกัน
แต่เมื่อเรื่องส่งฟ้องศาล ศาลเรียกหลักประกัน 9 หมื่นบาท แม้จะมีการสารภาพทำผิดจริง สำนึกแล้ว และอยากกลับตัวเป็นคนดี ศาลบอกว่า เมื่อสารภาพและไม่อยากลงโทษจำคุก ศาลจะส่งให้พนักงานกรมคุมประพฤติไปสืบเสาะ ซึ่งการสืบเสาะเพื่อหาเหตุในการรอการลงโทษนั้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาอีก 1 เดือน
ทว่า...ระหว่าง 1 เดือนนี้ ผู้ต้องหาไม่มีเงิน 9 หมื่นบาทมาประกันตัว เขาจึงต้องติดคุกอยู่ช่วงหนึ่ง กระทั่งสุดท้ายศาลมีคำพิพากษาว่า ผิดจริง แต่ให้รอการลงโทษ และปล่อยกลับบ้านไป
1 เดือนที่ผ่านมา เขาจึงถูกขังฟรี และเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับลูกอันธพาลที่มีอิทธิพล และคนมีเงิน
คดีที่สอง ... คดีหมิ่นเบื้องสูงตามมาตรา 112 อากง หรือ นายอำพล ตั้งนพกุล ทนายความพยายามยื่นคำร้องประกันตัวถึง 8 ครั้ง เหตุใดถึงไม่ได้รับการประกันตัว
คดีที่สาม...คดีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีที่ดินรัชดา ที่หนีคดี หนีประกัน ไม่มารายงานตัวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งๆที่ศาลปราณี อนุญาตให้ประกันตัวแล้ว
หรือล่าสุด คดีทายาทเรดบูล ซิ่งเฟอร์รารี่ ชนตำรวจดับคาถนนเมื่อปี 2555 ตำรวจเล็งออกหมายจับฐานเจตนาหลบเลี่ยงไม่มาพบพนักงานอัยการ
ทั้งหมด เป็นคดีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคุยกันในวงเสวนาวิชาการเล็กๆ ถกเถียงกันเรื่อง “สิทธิและความเสมอภาคของผู้ต้องหาหรือจำเลย ในการขอปล่อยตัวชั่วคราว” ณ ห้อง 123 คณะนิติศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ จัดโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มธ. เมื่อเร็วๆ นี้
“ดล บุนนาค” ผู้พิพากษารองหัวหน้าศาล จังหวัดสมุทรสาคร เปิดประเด็นคนแรก โดยมองว่า การประกันตัวที่มีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายที่สูงนั้น โดยเฉพาะคนยากจนที่ต้องติดคุก สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากระบบกฎหมายไทยไปให้ความสำคัญกับ "มูลค่า ทรัพย์สิน" แม้จะเปิดช่องให้นำบุคคลมาประกันตัวได้ก็ตาม
“ในอดีตเป็นเรื่องปกติที่บางคดีมีการปล่อยชั่วคราว บางคดีไม่ปล่อยชั่วคราว แต่เมื่อสังคมไทยมี 2 สี ก็นำเรื่องสีมาอ้าง ซึ่งสร้างผลกระทบและสั่นสะเทือนไปทั้งวงการ”
ก่อนจะชี้ไปที่ คดีอากง ซึ่งมีการตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมไม่ให้ประกันตัว ทั้งๆ ที่มีการยื่นขอประกันตัวไปหลายครั้ง เขาไม่ฟันธง แต่แสดงความเห็นว่า
“จริงอยู่สิทธิเสรีภาพของคนสำคัญ แต่คนที่ถูกตั้งข้อสงสัย ผู้ต้องหา หรือจำเลย ซึ่งตกอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม มีสิทธิเสรีภาพจะแตกต่างจากคนธรรมดา สิทธิจะถูกจำกัด ฉะนั้น กฎหมายเพียงแต่รับรองว่า มีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่ได้ยืนยันว่า ต้องให้”
ตามหลักกระบวนยุติธรรมไทยต้องการตัวผู้ต้องหาในคดี จุดนี้เองทำให้พนักงานสอบสวน ศาล มีความห่วงใย หากไม่มีอะไรมาผูกมัด (หลักทรัพย์ค้ำประกัน) ทำให้กระบวนการพิจารณาเดินต่อไม่ได้
ประเด็นนี้ ศ.ดร.ณรงค์ ใจกล้าหาญ คณบดี คณะนิติศาสตร์ มธ. มีทรรศนะว่า การให้ผู้ต้องหาไปอยู่นอกการควบคุมของเจ้าพนักงาน อาจไปทำลายหลักฐานสำคัญๆ หรืออาจไปข่มขู่พยานได้
ดังนั้น การปล่อยชั่วคราว วัดกันระหว่างคำพูดของผู้ต้องหาที่จะกลับมา กับการมีหลักทรัพย์อะไรบางอย่างแม้อาจจะน้อยนิด พนักงานสอบสวนหรือศาลจะเลือกอันหลังมากกว่า...
“ผมคิดว่าพนักงานสอบสวน หรือศาลเข้าในเรื่องสิทธิดี แต่บางกรณีไม่แน่ใจว่า หากปล่อยไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น อีกทั้งต้องคิดให้หนักระหว่างคน 2 ฐานะ เช่น ข้าราชการ มีตำแหน่งสูง ก็เชื่อว่าไม่หนี
ขณะที่คนชายขอบ คนจน คนหาเช้ากินค่ำ คนไม่มีหลักทรัพย์ ทำความผิดคนกลุ่มนี้ ไม่เชื่อว่า ถ้าไม่ควบคุมไว้จะมีตัว (หนี)”
โดยเฉพาะคดียาเสพติด ศาลจะไม่ค่อยให้มีการประกันตัวเลย!! เพราะเชื่อกันว่า คนเหล่านี้ไม่เสียดายเงินแน่นอน
นี่คือความจริงที่สะท้อนในกลุ่มคนแบบนี้ ในความผิดร้ายแรงแบบนี้จะทำอย่างไร หากมีการหนีผลคดีจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ คณบดี คณะนิติศาสตร์ มธ. ยังเสนอทางออกของการปล่อยตัวชั่วคราว กระบวนการยุติจะดูเรื่องความปลอดภัยของชุมชน จำเป็นต้องมีหน่วยงานเข้ามาดูแลผู้ต้องหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วครา อาจมีชุมชน มีองค์กร ที่เข้มแข็งมาช่วยดูแล หรือมีเครื่องมือติดตามตัวเข้ามาช่วยระวังอีกทางหนึ่ง
ส่วนการปล่อยตัวชั่วคราว แบบไม่มีหลักทรัพย์ หากเรายังเน้นบุคคลเข้ามาเป็นนายประกัน นอกจากข้าราชการ ส.ส. ส.ท. และผู้มีชื่อเสียงแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ จะมีกลุ่มอื่นอีกๆ สามารถมาประกันได้ เช่น ให้ชุมชนมาเป็นนายประกัน เพื่อให้คนจนมีสิทธิตรงนี้
ถึงบรรทัดนี้ แม้เราพอจะได้คำตอบคร่าวๆ แล้วว่า แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ว่า “ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” แต่ทำไมจึงมีจำนวนผู้ติดคุกระหว่างการพิจารณาคดีถึงสูง ด้วยเพราะไม่ได้รับการประกันตัว
ปัญหานี้จะมีทางแก้ไขอย่างไร? จะมีการขับเคลื่อนหนึ่งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ประพฤติตนดีตามวิถีพลเมืองได้รับการปล่อยชั่วคราวตามสิทธิที่เขาได้รับการคุ้มครองไว้ใน ICCPR รัฐธรรมนูญ 2550 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 หรือไม่
ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) มีตัวเลขผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ 240,000 คน ที่ในจำนวนนี้มีประมาณ 37% เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี
"หากมีการปฏิบัติการปล่อยชั่วคราวให้ดี ให้ถูกต้องแล้ว นอกจากลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ เรายังสามารถลดความแออัดในเรือนจำลงได้โดยอัตโนมัติ แต่แนวคิดบ้านเราคิดแต่เรื่องจะจับ จับแล้วก็ขัง การปล่อยชั่วคราวเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ” ปรมาจารย์ด้านกฎหมายระดับประเทศ ให้ทัศนะ และว่า การค้นก็เช่นเดียวกัน เราให้ศาลออกหมายจับหมายค้น ทั้งๆ ที่ศาลมีหน้าที่ดูแลสิทธิเสรีภาพ ก่อนจะยกระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 22 เรื่องการปล่อยชั่วคราว ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง
เรื่องการปล่อยชั่วครา มีบัญญัติไว้ในมาตรา 39 ในรัฐธรรมนูญ และ ป.วิอาญา มาตรา 227 ซึ่งได้การยอมรับในกฎหมายโดยสมบูรณ์ แต่ทางปฏิบัติ ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มธ. ก็มองว่า ปฏิบัติไม่ตรงกฎหมายเลย
สาเหตุเพราะเราเอามาใช้เพียงครึ่งเดียว มาใช้กับคนมีเงิน มีหลักทรัพย์ เป็นข้าราชการ ขณะที่คนจน คนไม่มีหลักทรัพย์เข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม กลับดูสันนิษฐานอีกอย่างว่า เป็นคนผิด และถูกคุมขัง เพราะไม่มีเงิน
“การปล่อยชั่วคราว ยึดหลักสันนิษฐานไว้ก่อน ว่า คนที่ถูกดำเนินคดีบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่า เขาผิดจริง และจะไปปฏิบัติต่อเขาอย่างผู้กระทำผิดไม่ได้”
ฉะนั้น ระหว่างการดำเนินคดี หากกระบวนการยุติธรรมไทยไม่มีการแยกแยะระหว่างคนดีกับคนไม่ดี เช่น มีพฤติกรรมหลบหนี การก่อเหตุร้าย ออกไปสร้างปัญหา คนประเภทนี้ก็ควรถูกคุมขัง แต่สำหรับผู้ต้องหาที่มีพฤติกรรมดี มารายงานตัว มาสอบปากคำทุกครั้ง
ถามว่า เราควรแยก และไม่ต้องเรียกหลักประกันการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ?
“การที่เรายังยืนยันใช้หลักประกันด้วยการเรียกเงิน หรือหลักประกันอื่นๆในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเราก็ไม่ได้แยกระหว่าง คนมีเงิน กับคนไม่มีเงิน เช่น คดีหมิ่นประมาทเมื่อส่งฟ้องศาล เราก็จะขีดเส้น 1.2 แสนบาทเพื่อเป็นหลักประกันปล่อยชั่วคราว เงินจำนวนนี้ ที่คิดว่า เสมอภาค คนรวยเท่านั้นที่มีโอกาส และอิสรภาพ
การไม่ได้แยกแยะคนมี คนไม่มี แล้วเรียกหลักประกันด้วยการขีดเส้นเดียวกัน ผมถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่เสมอภาค แน่นอนเราอาจมองความเสมอภาค คือการที่เราต้องปฏิบัติเหมือนกันทุกคน อันนั้นคือการมองความเสมอภาคแบบตื้น !
...ความเสมอภาคที่ลึกเข้าไปอีก คือ สิ่งที่ไม่เหมือนกันโดยสภาพ คนที่ไม่มีเงิน กับคนที่มีเงินมหาศาล เขาไม่เหมือนกันโดยสภาพ”
ผศ.ดร.ปกป้อง ลงความเห็นทิ้งท้าย หากกระบวนการยุติธรรมสามารถแยกคนดีกับคนไม่ดีที่เป็นผู้ต้องหาออกจากกันได้ แยกคนมีเงินกับคนไม่มีเงิน ซึ่งหากเราทำได้เรียก "หลักประกัน" ก็ไม่มีความจำเป็น
ความเสมอภาคที่แท้จริง จึงอยู่ที่การปฏิบัติให้ต่างกัน เพื่อให้คนมี คนไม่มี ได้มีโอกาสในการรับสิทธิปล่อยชั่วคราวเหมือนกัน
ดังนั้น การไปเรียกร้องให้คนมีเงินประกันตัว จึงเป็นการขีดเส้นที่ไปเอากับทรัพย์สินของคน ซึ่งในที่สุดแล้วทรัพย์สินของคน ก็ไม่มีทางเท่ากันอยู่ดี....