โทนี แบลร์ เสนอหลัก 5 ข้อกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
วันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2556 นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ปาฐกถา Uniting for the Future : Learning from each other’s experiences ณ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี กรุงเทพฯ
อดีกนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสร้างสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือ และดำรงตำแหน่งผู้แทนของสหประชาชาติ สหรัฐฯ รัสเซีย และสหภาพยุโรป ร่วมในกระบวนการเจรจาสันติภาพในอิสราเอลและปาเลสไตน์ กล่าวถึงกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งว่าหลักการสำคัญ 5 ข้อคือ
1.การสร้างโอกาสร่วมกันในอนาคต การปรองดองจะเดินขึ้นได้เมื่อทำให้ทุกคนเห็นโอกาสมากมายที่รออยู่ และสามารถแบ่งปันโอกาสร่วมกันในการพัฒนา และนำพาประเทศไปข้างหน้า มากกว่าที่จะจมอยู่กับข้อขัดแย้ง เช่นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่เท่าเทียมให้กับทุกคนที่สามารถแบ่งปันและสร้างอนาคต
2. ไม่สามารถเปลี่ยนอดีต แต่ต้องเปลี่ยนความคิดเพื่อมุ่งสู่อนาคต ต้องยอมรับในความคิดเห็นที่แบ่งเป็นสองฝ่าย อย่างไรก็ตามเราสามารถวิเคราะห์อดีต เพื่อเดินไปในอนาคตได้ การปรองดองไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความคิดในอดีต แต่เป็นการเปลี่ยนความคิดเพื่อมุ่งสู่อนาคต ถ้าหากเรามองดูประเทศไทย จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันกับในต่างประเทศ ภารกิจความปรองดองไม่ใช่การลบล้าง แต่ให้ก้าวข้ามไป เพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ เป็นไปไม่ได้ที่จะลบล้างความอยุติธรรม เพื่อให้เกิดความปรองดอง แต่ควรมีกรอบการทำงานที่ยุติธรรม ที่ทำให้คนเห็นว่าสามารถทำงานต่อไปได้ รากฐานความขัดแย้งสามารถนำมาพูดได้ แม้เป็นสิ่งที่ยาก แต่มีความสำคัญมาก เราต้องสร้างกรอบที่ทุกฝ่ายรู้สึกว่าสามารถอยู่ด้วยกันได้ และไม่ให้รู้สึกถูกปิดกั้น หากไทยมีกรอบการดำเนินการ เราจะสามารถลงไปในรายละเอียดได้ว่าอะไรเป็นผลลัพธ์ที่ถูกต้อง และจะสามารถสร้างสันติสุขได้ เพราะเราสามารถมีกรอบที่ทำให้เราเดินต่อไปได้
3.การสร้างความปรองดองจะต้องสร้างกลไกความร่วมมือหรือกรอบการดำเนินการที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เป้าประสงค์ของการสร้างกรอบ ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้แต่ต้องมีพื้นที่เพื่อการเจรจา และจะต้องไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกถูกปิดกั้น ความปรองดองจะเกิดขึ้น จะต้องรู้ถึงรากเหง้าของความขัดแย้ง และจะต้องวางกรอบให้สามารถดำเนินการและสร้างความสมดุลย์
4 ประชาธิปไตยที่แท้จริง คือหลักการสำคัญที่ยึดร่วมกัน โดยประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ระบบการเลือกตั้ง แต่เป็นระบบความคิดที่เปิดพื้นที่สำหรับเสียงส่วนน้อยและเสียงส่วนใหญ่ในการร่วมมือกัน ไม่ใช่การกดขี่จากเสียงส่วนใหญ่ ประเทศส่วนใหญ่มีการแบ่งแยก ทั้งศาสนา สีผิว เชื้อชาติ เป็นต้น จึงเป็นเหตุผลที่ว่าปรองดองมีความสำคัญ แต่ประชาธิปไตยจะมีความคล้ายคลึงกันทุกประเทศ ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการลงคะแนนเสียงแต่เป็นวิธีแห่งการคิด เป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับคนส่วนน้อยอย่างไร จะต้องยึดหลักนิติธรรมคือการดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่โน้มเอียง สามารถตรวจสอบได้ และเป็นอิสระ
5. รัฐบาลต้องมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส การปรองดองจะง่ายขึ้นถ้าการเมืองในประเทศนั้น มีความโปร่งใส ทำงานและเข้าถึงประชาชน ถ้ารัฐบาลทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตประชาชน สร้างการพัฒนาและเติบโตที่ทั่วถึง ในที่สุดประชาชนจะรู้สึกว่ากระบวนการสันติภาพนำสิ่งที่ดีมาสู่ชีวิต โดยรัฐบาลต้องก้าวเข้าหาประชาชน ถ้าหาจุดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้ และก้าวข้ามผ่านสิ่งที่แบ่งแยกระหว่างพรรค ก็จะสามารถทำให้เกิดความปรองดองได้ โดยสรุปแล้ว ผู้นำประเทศจะต้องเป็นผู้นำในการเสริมสร้างความปรองดอง โดยมีประชาชนให้การสนับสนุน และแม้ว่าการปรองดองจะยากลำบากเพียงใด ก็จะต้องไม่ยอมแพ้และดำเนินการจนสำเร็จ ทั้งนี้ การสื่อสารเพื่อความปรองดองนั้นมีความสำคัญเช่นกัน ภาษาที่ใช้จะต้องส่งเสริมการสร้างความปรองดอง เช่นเดียวกับการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย ที่ปัจจุบันเป็นเสียงที่มีพลัง ก็ต้องเป็นไปในทำนองที่ส่งเสริมความปรองดองให้เกิดขึ้น
คลิกฟัง