รู้จัก BRN จากงานวิจัย (2) พัฒนาการ3ยุคกับ3หลักยึด "เชื้อชาติ-แผ่นดิน-ศาสนา"
หลังจากได้รู้จัก "บีอาร์เอ็น" ในภาพกว้างผ่านการบรรยายของ จิราพร งามเลิศศุภร นักวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ทำการศึกษาเรื่อง "เป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็น" ผ่านเวทีราชดำเนินเสวนา ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค.2556 ไปแล้ว
คราวนี้มาดูข้อมูลแบบเจาะลึกกันบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องพัฒนาการกว่า 5 ทศวรรษของบีอาร์เอ็น ทั้งในแง่ปรัชญาแนวคิด แนวทางการต่อสู้ และโครงสร้างองค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป
สรุปเนื้อหาจาก "รู้จัก BRN จากงานวิจัย (1) เป้าหมายเอกราช กับ 4 ภาพอนาคตของการต่อสู้" http://bit.ly/14Tlui0 พบว่าเป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็นมี 3 ประการ คือ เอกราช สร้างสังคมยุติธรรมและสงบสุข และบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) โดยวิธีการไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ การปฏิวัติประชาชนตามแนวทางของเหมาเจ๋อตุง ผสมกับหลักอิสลามและศรัทธา ตลอดจนอุดมการณ์ชาตินิยม
ส่วนหน้าตาสังคมที่บีอาร์เอ็นต้องการนั้น ยังไม่มีการกำหนด ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ระดับแกนนำระบุว่ายังไม่ถึงเวลา รอให้ได้เอกราชก่อนจึงค่อยคิด
ขณะที่รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในมุมมองของบีอาร์เอ็นตลอดมา พวกเขาตรึงปัญหารากเหง้าไว้ที่ "การถูกยึดครอง" ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายสุดท้ายและแนวทางการต่อสู้
พัฒนาการ 3 ยุคกับ 3 หลักยึด
ขบวนการบีอาร์เอ็น หรือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2503 (13 มี.ค.2503) โดย อุสตาซอับดุลการิม ฮัสซัน งานวิจัยของ จิราพร ได้ศึกษาพัฒนาการของบีอาร์เอ็นตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปี 2556 โดยอธิบายควบคู่กับบริบทของสถานการณ์โลกที่สำคัญ คือ การปลดแอกในประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางและอินโดนีเซีย นโยบายรัฐไทยต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพลวัตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ
พ.ศ.2503-2527 ยุคจัดตั้งองค์กร แสวงหาอุดมการณ์และแนวทางการต่อสู้ หรือยุคผลิตตำรา เป้าหมายสุดท้ายในยุคนี้อยู่ที่เอกราช การบังคับใช้บทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบอิสลาม
- การก่อตั้งองค์กรบีอาร์เอ็นในปี 2503 นั้น ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน แห่งอินโดนีเซีย (ประธานาธิบดีคนแรกที่มีส่วนสำคัญในการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่ง 2488-2510) โดยเฉพาะแนวทางประชาธิปไตยแบบชี้นำ มีหลักฐานจากคำสัมภาษณ์ของ นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น และแกนนำคนอื่นๆ ตลอดจนการถอดความจากเอกสาร ตำราต่างๆ ของบีอาร์เอ็น
นอกจากนั้นบีอาร์เอ็นยังได้รับอิทธิพลแนวคิดจากประธานาธิบดีนัสเซอร์ แห่งอียิปต์ ในเรื่องชาตินิยมอาหรับและสังคมนิยมด้วย
- การตั้งกองกำลังในยุคนั้น เน้นตั้งในป่าเขา มีปฏิบัติการทางทหารไม่มากนัก มีรายได้จากค่าคุ้มครอง เรียกค่าไถ่ สมาชิกกองกำลังส่วนใหญ่เป็นผู้มีคดีติดตัว ยังไม่มีการจัดตั้งทางความคิดและอุดมการณ์ในระดับกองกำลังอย่างชัดเจน
- ธรรมนูญพรรคฉบับแรก ระบุถึงแนวทางปฏิวัติ โครงสร้างองค์กร และหน้าที่ของสมาชิกตามโครงสร้าง การจัดทำตำราแนวทางการต่อสู้ เน้นแนวทางปฏิวัติและหลักการของอิสลาม
อย่างไรก็ดี ในยุคแรกของการก่อตั้งองค์กรนี้ ก็มีความแตกแยกเกิดขึ้น จากปัญหาการแย่งชิงอำนาจ และการขัดกันเรื่องแนวคิดจากกระแสฟื้นฟูอิสลาม การต่อสู้ตามแนวทางอิสลามที่แท้จริง การปฏิเสธสังคมนิยม ชาตินิยม ส่งผลให้อุสตาซการิม แกนนำคนสำคัญในการก่อตั้งองค์กรปฏิเสธแนวทางการต่อสู้ที่ผ่านมาทั้งหมด รวมทั้งตำราที่ตนเขียนขึ้นด้วย
พ.ศ.2527-2547 ยุคแตกแยก บีอาร์เอ็นเดินงานปฏิวัติตามตำราจัดตั้งใหม่ มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่เอกราช สร้างสังคมยุติธรรมและสงบสุข และบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) โครงสร้างแบ่งเป็น บีอาร์เอ็นโคออดิเนท บีอาร์เอ็นคองเกรส และ บีอาร์เอ็นอูลามา (ตั้งเพื่อเป็นเกียติแก่อุสตาซการิม)
บีอาร์เอ็นโคออดิเนท หรือบีอาร์เอ็น เป็นแกนจัดตั้งและต่อสู้ในปัจจุบัน เป็นการดำเนินการตามแนวทางปฏิวัติประชาชน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงสำคัญ คือ
- ระยะแรก (2527-2537) การจัดตั้งองค์กรและสร้างองค์ความรู้ในระดับแกนนำ แนวคิดสำคัญคือสลัดทิ้งสังคมนิยม ใช้อิสลามอธิบายความชอบธรรมของชาตินิยม (เชื้อชาติมลายู) และยกนักคิดที่เชิดชูความเป็นชาตินิยมเป็นหลัก
- ระยะที่สอง (2537-2547) สร้างเขตปลดปล่อย ทั้งในแง่มวลชนทหาร การเมือง และเศรษฐกิจ แล้วก็ก่อการปฏิวัติ ซึ่งบีอาร์เอ็นเรียกว่า จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติประชาชน
พ.ศ.2547-2556 : ยุคประกาศสงครามประชาชนเต็มรูปแบบ แต่จุดไม่ติด เร่งใช้อุดมการณ์ศาสนาเป็นธงนำในการต่อสู้ อ้างโองการในอัลกุรอาน และอัลหะดิษอย่างเข้มข้น เป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่เอกราช สร้างสังคมยุติธรรมและสงบสุข และบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์)
- การตีความเพื่อใช้ในการต่อสู้มีลักษณะรุนแรงสุดโต่ง เช่น ฆ่าคนไทยพุทธที่อยู่รอบบ้าน ฆ่าตัดคอ ทำลายแหล่งเศรษฐกิจ
- แนวคิดในการปฏิวัติ และแนวคิดในการญิฮาด (หลักการทางศาสนา) ถูกนำมาอธิบายและตีความให้มีความสำคัญเท่าๆ กัน และสุดโต่งมากขี้น โดยเฉพาะยุทธวิธีในการต่อสู้หรือทำสงครามและการกำหนดศัตรู เน้นการต่อสู้ด้วยสงครามเพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ เป้าหมายเชื้อชาติ แผ่นดิน และศาสนา
วิธีการไปสู่เป้าหมายคือ สร้างองค์กร สร้างมวลชน สร้างทหาร และใช้สงครามกองโจร (หลักสำคัญข้อหนึ่ง คือ "อาวุธศัตรูคืออาวุธของเรา" จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อ 4 ม.ค.2547) รวมทั้งสร้างสงครามประชาชน
- แนวคิดในการญิฮาด (การต่อสู้ตามหลักศาสนา) เป้าหมายคือเชื้อชาติ แผ่นดิน และศาสนา ญิฮาดเป็นส่วนหนึ่งในงานปฏิวัติ คือ การสร้างจิตสำนึกในศาสนาและญิฮาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมวลชนและสร้างทหาร ผลตอบแทนจากการญีฮาด คือ "ชาฮีด" (การตายอย่างมีเกียรติตามแนวทางของพระเจ้า)
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า สมาชิกบีอาร์เอ็นในระดับปฏิบัติไม่เข้าใจเรื่องการปฏิวัติมากนัก ส่วนความเข้าใจในการญิฮาดตรงกันคือ เป็นข้อบังคับทางศาสนา ต้องต่อสู้ หากเสียชีวิตก็จะได้บุญ ส่วนผลตอบแทนจากการตายแบบชาฮีดนั้น ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรบีอาร์เอ็นมีแตกต่างกันไป เช่น บางคนเชื่อว่าจะได้พบนางฟ้า 70 คน บางคนเชื่อว่าสามารถพาญาติไปสู่สวรรค์ได้ 70-90 คน เป็นต้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 แผนภาพแสดงพัฒนาการด้านแนวคิดของบีอาร์เอ็นตลอด 5 ทศวรรษ
2 คำแปลผังบันได 7 ขั้นของบีอาร์เอ็น จากเอกสารที่ยึดได้จากที่ทำงานของ นายมะแซ อุเซ็ง ผู้ต้องหาคดีปล้นปืน
อ่านประกอบ : รู้จัก BRN จากงานวิจัย (1) เป้าหมายเอกราชกับ 4 ภาพอนาคตของการต่อสู้ http://bit.ly/14Tlui0