สมมติฐานหลากหลาย ทำไมใต้ (ช่วงนี้) เงียบเสียงระเบิด
ครึ่งหลังของเดือน ส.ค.2556 โดยเฉพาะห้วงสัปดาห์สุดท้าย ต้องบอกว่าสถานการณ์ไฟใต้ลดความร้อนแรงลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นแทบจะรายวัน แต่โดยมากเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืนระหว่างพลเรือนด้วยกัน ซึ่งไม่ชัดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ไฟใต้ หรือเป็นความขัดแย้งส่วนตัว ขัดแย้งทางการเมือง หรือหักหลังกันในแวดวงธุรกิจเถื่อนกันแน่
เหตุรุนแรงขนาดใหญ่มีเพียงไม่กี่เหตุการณ์ หนักที่สุดเห็นจะเป็นเหตุคนร้ายยิงถล่มรถตำรวจ สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อศุกร์วันที่ 16 ส.ค.จนมีกำลังพลเสียชีวิต 4 นาย ซึ่งกรณีความรุนแรงที่ อ.รือเสาะ นั้น อาจเป็นประเด็นที่ต้องแยกพิจารณาต่างหาก เพราะมีเหตุวิสามัญฆาตกรรมช่วงหลังวันรายอ (เทศกาลเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนแห่งการถือศีลอด) คือวันศุกร์ที่ 9 ส.ค. มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทำให้มีเหตุรุนแรงในลักษณะตอบโต้กันไปมา ทั้งเหตุการณ์วันที่ 16 ส.ค. และเหตุการณ์อื่นๆ ในช่วงครึ่งหลังของเดือน (อ่านรายละเอียดได้ใน รือเสาะระอุ "บึ้ม-ยิง" ฐานทหาร จุดตรวจร่วมกรงปินังโดนด้วย http://bit.ly/172k9IZ)
ถัดจากนั้นก็เป็นเหตุยิงครู ทั้งครูโรงเรียนสายสามัญ (19 ส.ค.) และครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (21 ส.ค.) ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นใน จ.ปัตตานี
กระทั่งวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยึดไมโครโฟนแถลงผลประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ว่าไม่รับข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นทั้ง 5 ข้อ ถัดจากนั้นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็มีเสียงปืนและเสียงระเบิดดังประปราย และเงียบลงอีกในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน
ทั้งๆ ที่วันที่ 31 ส.ค. ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ เป็นวันชาติมาเลเซีย และตรงกับวันคล้ายวันสถาปนาขบวนการเบอร์ซาตู โดยวันเดียวกันนี้ของเมื่อปีที่แล้วมีเหตุการณ์ติดธงชาติมาเลเซียถึง 296 จุดทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
ก่อนถึงวันที่ 31 ส.ค.เพียงไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพบธงชาติมาเลเซีย 1 มัด 100 ผืน ตกอยู่ในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ไม่ทราบว่าเป็นความผิดพลาดหรือจงใจทำหล่นเอาไว้ แต่นั่นก็ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยตรึงกำลังเข้ม (อ่านเพิ่มเติมใน ใต้อาจป่วนใหญ่วันชาติมาเลย์ ทีมเจรจาลุยต่อตั้งชุดคุยลับ-ดึงพูโลใหม่ร่วม http://bit.ly/172kdsc)
เท่าที่ได้พูดคุยกับผู้รับผิดชอบหลายฝ่าย พบความเป็นไปได้หรือสมมติฐานหลายประการที่อาจเป็นเหตุปัจจัยทำให้สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ดูดีขึ้นในช่วงนี้
1.เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานด้านการต่างประเทศ บอกว่า มีความเป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับหมายกำหนดการ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย พร้อมสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 2-5 ก.ย. ซึ่งถือเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งประวัติศาสตร์ สร้างความปลื้มปีติให้กับประชาชนของทั้งสองชาติ ทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งไทยและมาเลเซียเฝ้าระวังสถานการณ์ที่ชายแดนใต้อย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ
2.เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านการข่าว ระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่ามีการต่อสายพูดคุยระหว่างตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลไทยกับ "กลุ่มพูโลใหม่" ซึ่งตกขบวนพูดคุยสันติภาพระหว่างไทยกับบีอาร์เอ็นที่ดำเนินการอย่าง "เปิดเผย-เป็นทางการ" มาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2556
ที่ผ่านมามีรายงานทางลับจากหน่วยงานความมั่นคงมาตลอดว่า เหตุุรุนแรงหลายเหตุการณ์ในช่วงที่รัฐบาลไทยดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น เป็นการกระทำของ "กลุ่มพูโลใหม่" ซึ่งแตกตัวออกจาก "องค์การพูโลเดิม" โดยกลุ่มดังกล่าวนี้มีการฝึกเยาวชนและกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่มีประวัติในคดีความมั่นคงเพื่อก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ และมีการตั้งกองกำลังขนาดเล็กคล้าย "อาร์เคเค" ของบีอาร์เอ็นด้วย แต่กองกำลัง 1 ชุดปฏิบัติการของพูโลใหม่จะมีสมาชิก 5 คน ไม่เหมือน "อาร์เคเค" ที่มีสมาชิก 6 คน
กองกำลังของพูโลใหม่เคยถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมได้หลายราย และให้การยอมรับว่าตนเองเป็นกลุ่มพูโลใหม่
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านการข่าว ให้ข้อมูลว่า มีการต่อสายพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มพูโลใหม่จริง และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงในช่วงนี้ลดลง
3.หนึ่งในแกนนำคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย บอกว่า กำลังต่อสายพูดคุยทางลับกับแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ โดยกระบวนการพูดคุยยังไม่ได้ล้ม และไม่ได้หยุดชะงัก เพียงแต่ยังไม่มีจังหวะเหมาะในการนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีบุคคลสำคัญของมาเลเซียที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโต๊ะพูดคุยสันติภาพเดินทางเยือนไทย และได้พบปะกับแกนนำคณะพูดคุยสันติภาพบางราย พร้อมให้คำมั่นว่าโต๊ะพูดคุยต้องเดินหน้าต่อไป
หนึ่งในแกนนำคณะพูดคุยฝ่ายไทย ระบุว่า ในกลุ่มบีอาร์เอ็นเองมีการปรับเปลี่ยนทีมพอสมควร โดยดึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาร่วมโต๊ะพูดคุยมากขึ้น ขณะที่ทางการมาเลเซียก็แสดงบทบาทในการรวบรวมกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นๆ นอกจากบีอาร์เอ็นและพูโลเก่า มาร่วมโต๊ะพูดคุย ขณะที่กลุ่มของนายฮัสซันก็กำลังจัดทำเอกสารอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้ออย่างเป็นทางการส่งให้รัฐบาลไทย
การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพอย่างไม่หยุดนิ่งเช่นนี้ หนึ่งในแกนนำคณะพูดคุยฯ บอกว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของทั้งสองฝ่ายว่ายังยึดมั่นและรักษาโต๊ะพูดคุยเอาไว้ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม ทำให้กลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วยต้องหยุดทบทวนหรือรอดูท่าที
4.รัฐบาลมาเลเซียเริ่มแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างจริงจังในการระงับยับยั้งสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เคยประกาศนโยบาย "3 ไม่" เอาไว้ คือ ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และไม่สนับสนุนการใช้พื้นที่ของมาเลเซียในการเคลื่อนไหวก่อปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ทางการมาเลเซียได้ส่งผู้ต้องหาคนสำคัญหลายคนตามหมายจับของศาลไทยให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย โดยเป็นการดำเนินการในทางลับ และมีเงื่อนไขห้ามเจ้าหน้าที่ไทยแถลงข่าวอย่างเด็ดขาด
5.เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า การเตรียมการรับมือเหตุรุนแรงอย่างเข้มงวด และข้อมูลด้านการข่าวที่ชัดเจนว่ากลุ่มก่อความไม่สงบเตรียมก่อเหตุป่วนครั้งใหญ่ในวันที่ 31 ส.ค.คล้ายกับปีที่แล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่กำหนดมาตรการรับมือได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับมาตรการเชิงรุกในการปิดล้อมตรวจค้นจากการข่าวที่แม่นยำมากขึ้น ทำให้สามารถจับกุมบุคคลเป้าหมายและยึดของกลางที่เป็นยุทโธปกรณ์ ตลอดจนทลายฐานพักพิงและค่ายฝึกได้หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา
นี่คือเหตุปัจจัยที่รวบรวมข้อมูลได้จากหลายๆ ฝ่าย ณ ห้วงเวลานี้ ส่วนฟังแล้วจะเชื่อเหตุผลข้อไหนหรือไม่เชื่อเลย ย่อมเป็นวิจารณญาณของแต่ละบุคคล!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การตั้งด่านตรวจด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ช่วงก่อนวันที่ 31 ส.ค.ซึ่งคาดว่าจะมีเหตุป่วนครั้งใหญ่ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)