"ท่าเทียบเรือปากบารา" อีกหนึ่งปมปัญหาขัดแย้งชายแดนใต้รอรัฐบาลใหม่สะสาง
"นับแต่อดีตมาลูกสตูลไม่เคยอดตาย เพราะสตูลเป็นผืนแผ่นดินที่สมบูรณ์พูนสุข สตูลเป็นพื้นที่ที่บรรพบุรุษของเราบุกเบิกสร้างเมือง และสตูลยังเป็นดินแดนมุสลิมชายแดนใต้ที่แสนสงบ ทั้งยังเป็นแหล่งรวมทุกเชื้อชาติศาสนาอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข เราจึงเป็นลูกสตูลในแผ่นดินสตูล แผ่นดินใต้ แผ่นดินไทย ไม่ใช่แผ่นดินอื่น"
ข้อความนี้เป็นบางช่วงบางตอนของคำประกาศเจตนารมณ์ของ "เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล" เมื่อครั้งที่ออกโรงรณรงค์คัดค้านโครงการก่อสร้าง "ท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา" หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆว่า "ท่าเทียบเรือปากบารา" ซึ่งเป็นการชุมนุมประท้วงที่ร้อนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในดินแดนสุขสงบอย่างสตูล
โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือปากบารา เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ "เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด" (Southern Seaboard) โดยมีแผนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่บ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เป็นท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน พร้อมๆ กับโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งมีแผนก่อสร้างที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยจะมีโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือ "แลนด์บริดจ์" เป็นเส้นทางเชื่อมท่าเรือน้ำลึกจากสองฝั่งทะเลด้วย เป็นโครงข่ายคมนาคมเต็มรูปแบบ ทั้งถนน เส้นทางรถไฟ และระบบท่อส่งน้ำมัน
โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่งถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่และองค์กรภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง ขณะที่ภาคเอกชนได้ให้การสนับสนุนอย่างสุดตัว เพราะเห็นว่าถ้าโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูลไม่เกิดขึ้น จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอยู่ในภาวะชะงักงัน
โดยเฉพาะโครงการผลักดันให้ จ.ปัตตานี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล
และแม้สตูลจะเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก โดยไม่ได้มีสถานการณ์ความไม่สงบเหมือน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หรือ 4 อำเภอของ จ.สงขลา แต่สตูลก็เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในบริบทการบริหารจัดการปัญหาของ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)
ความขัดแย้งจากปม "เมกะโปรเจค" หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติใน จ.สตูล จึงนับว่าน่าจับตา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่มี "นักศึกษา" เป็นหัวหอก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็น "นักศึกษามลายูมุสลิม" ที่ถูกจับจ้องจากฝ่ายความมั่นคง
ไม่เชื่อพรรคการเมืองหาเสียงยุติโครงการ
ภาพรวมของการณรงค์ประท้วงเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เข้าร่วมราว 1,500 คน ทั้งจากเครือข่ายนักศึกษาและเครือข่ายภาคประชาชน มีการขับรถรณรงค์จาก ต.ปากบารา อ.ละงู ไปตามทางหลวงสู่ อ.เมืองสตูล ระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ก่อนจะประกาศเจตนารมณ์และปราศรัยหน้าศาลากลางจังหวัด ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ครั้งสำคัญหลังจากจัดกิจกรรมย่อยๆ มาแล้วหลายครั้ง
สมยศ โต๊ะหลัง แกนนำเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า การเคลื่อนไหวที่ผ่านๆ มาคิดว่าคนสตูลยังไม่ตื่น แต่ครั้งนี้มีประชาชนมาร่วมมาก นับว่าประสบความสำเร็จ
"เราต้องการรณรงค์ให้คนสตูลตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรม เราต้องการตั้งคำถามว่าการพัฒนาพื้นที่ จ.สตูล จะให้คนกรุงเทพฯกำหนดหรือว่าคนสตูลกำหนดเอง" แกนนำเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ตั้งประเด็นอย่างแหลมคม
ส่วนที่มีข่าวว่าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมีนโยบายยุติโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือปากบารา และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ แต่จะพัฒนาให้สตูลเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์นั้น สมยศ บอกว่า ยังไม่มีชาวบ้านคนไหนเชื่อ เพราะมองกันว่าเป็นช่วงของการหาเสียง พรรคการเมืองจะพูดอะไรก็พูดได้
"ขณะที่พรรคการเมืองบางพรรคบอกว่าจะยกเลิกโครงการ แต่ก็มีการประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) เพื่อผลักดันให้โครงการผ่านการพิจารณา และพาผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ไปศึกษาดูงานที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งยังมีการจัดประชุมของภาคธุรกิจภาคใต้เพื่อเร่งสร้างท่าเรืออีกด้วย จึงเกิดคำถามว่าทั้งหมดนี้คืออะไรกันแน่ ฉะนั้นสิ่งที่พรรคการเมืองประกาศจึงไม่มีความไม่น่าเชื่อถือ และเครือข่ายฯจะเคลื่อนไหวคัดค้านต่อไปเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับพี่น้องประชาชน และจะมีคณะกรรรมสิทธิมนุษยชนลงมาตรวจสอบหลังจากที่เราได้ร้องเรียนไปแล้ว" สมยศ กล่าว
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดโดดหนุน
การเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา ไม่ได้มีเฉพาะเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลเท่านั้นที่คอยขับเคลื่อน แต่ยังมีเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเซาท์เทินซีบอร์ดและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากหลายจังหวัดเป็นแนวร่วมด้วย
นางหนูผัน หนูสุด เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง-ตรัง กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯได้มาร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพี่น้องชาวสตูลที่ประสบปัญหาไม่ต่างอะไรกับที่ จ.พัทลุง และ จ.ตรัง เนื่องจากมีนายทุนและคนต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ของชุมชน
"การมาช่วยเหลือพี่น้องสตูลก็เปรียบเสมือนเป็นการช่วยเหลือพวกเราไปด้วยในตัว เพื่อขัดขวางการแสวงหาผลประโยชน์จากพวกนายทุน และเสริมพลังให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น" นางหนูผัน กล่าว
พัฒนาได้แต่ต้อง "ยั่งยืน"
เช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาซึ่งมีมากมายหลายกลุ่มเข้ามาร่วมขับเคลื่อน ทั้งเครือข่ายในพื้นที่และจากภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ อาทิ เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคมภาคใต้ เครือข่ายกลุ่มกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยรังสิต สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) และกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาจากภาคเหนือ ภาคอีสาน เป็นต้น
อาหมัด แกสมาน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) หนึ่งในเครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคมภาคใต้ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่มีเพื่อนๆ เครือข่ายจากหลายสถาบันมาร่วม จุดนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของพลังนักศึกษาที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และเป็นกระบอกเสียงเพื่อสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคม
"สิ่งที่เกิดขึ้นกับ จ.สตูล ตอนนี้ ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาของภาครัฐไม่ได้เกิดจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งผมหมายถึงจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ด้วย ไม่ใช่แค่สตูลเท่านั้น รัฐไม่รับฟังเสียงประชาชน ทั้งๆ ที่ประชาชนพยายามบอกด้วยข้อมูลต่างๆ มากมาย แต่รัฐก็ยังอยากพัฒนาไปตามความต้องการของรัฐ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับประชาชนเลย ดังนั้นพวกเราจะร่วมกันก้าวต่อไป ไม่เฉพาะที่สตูล แต่จะไปเคลื่อนไหวทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ" อาหมัด กล่าว
ขณะที่ มารอกัส จันทร์ดี นักศึกษาจากเครือข่ายกลุ่มกิจกรรมมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ถึงแม้พวกเราไม่ใช่นักศึกษาภาคใต้ แต่ก็มีใจอยากช่วยชาวบ้าน เพราะเท่าที่ทราบมา หากท่าเทียบเรือปากบาราเกิดขึ้นจริง ก็จะมีโครงการพัฒนาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านตามมาอีกหลายโครงการ
"จริงๆ แล้วผมชอบการพัฒนา แต่ต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น" มารอกัส กล่าว
นศ.มุสลิมชายแดนใต้หนักใจถูกรัฐหวาดระแวง
บทบาทของเครือข่ายนักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารานับว่าสวยงาม เพราะมีนักศึกษาจากทุกศาสนิกเข้าร่วม รวมทั้งนักศึกษามลายูมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต...
พวกเขาและเธอเป็นนักศึกษามลายูมุสลิมที่เคยถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจจากฝ่ายความมั่นคง อันสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ยรรยง มะสูยู เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม ซึ่งมีพื้นเพจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าว่า การรวมตัวของกลุ่มนักศึกษามีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับขบวนการก่อความไม่สงบตามที่ถูกมองจากบางฝ่าย
"เราได้ข่าวจากนครศรีธรรมราช กรณีที่ชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ เราก็เลยลองไปศึกษาดู และพบว่าเรื่องที่ชาวบ้านคัดค้านเป็นปัญหาใหญ่มาก เกี่ยวพันกับภาคใต้ทั้งภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะสามจังหวัดชายแดนเท่านั้น ต่อมาก็มีน้องที่เรียน ม.อ.ปัตตานีซึ่งเป็นเด็กสตูลบอกว่าที่บ้านก็เจอปัญหาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เช่นกัน คือโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา เราก็ไปศึกษาในพื้นที่ ไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านที่สตูล จนทำให้เราทราบว่าข้อมูลที่รัฐให้กับข้อมูลจริงในพื้นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราจึงสร้างเครือข่ายเพื่อกระจายข้อมูล และดึงเพื่อนนักศึกษาจากสถาบันอื่นเข้าร่วม"
"การชุมนุมครั้งล่าสุดเรามีเพื่อนๆ มาร่วมเยอะมาก ทั้งที่เป็นนักศึกษาพุทธและมุสลิม เรามีกิจกรรมมากมาย มีการเตรียมตัวก่อนจัดรณรงค์ ให้เพื่อนๆ นักศึกษาไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่แบบโฮมสเตย์ ทำอาหารร่วมกับชาวบ้าน กินร่วมกัน เขียนป้ายผ้าด้วยกัน ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพัน และเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านมากขึ้น"
ในความรู้สึกของ ยรรยง เขาอยากเห็นนักศึกษาแสดงบทบาทต่อปัญหาสังคม ไม่ใช่เรียนเพื่อหวังใบปริญญาอย่างเดียว
"เราควรมองเรื่องคุณค่ามากกว่าใบปริญญา นักศึกษาต้องมีจิตสาธารณะช่วยชาวบ้าน ผมอยากเห็นนักศึกษารวมตัวกันเป็นขบวนใหญ่แล้วทำอะไรเพื่อประชาชนผู้เดือดร้อน เพื่อชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นที่สตูล ที่นครศรีธรรมราช ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เราเชื่อมั่นว่านักศึกษามีพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมที่วุ่นวายอยู่ในขณะนี้ไปสู่สันติสุขได้"
อิสมาแอล ฮายีแวจิ หนึ่งในกรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) บอกว่า การได้เข้าร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาและภาคประชาสังคมในการคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทำให้รับรู้ได้อย่างลึกซึ้งว่าพี่น้องที่สตูลมีความเจ็บช้ำอย่างไรจากการที่โดนผู้มีอำนาจและนายทุนทั้งหลายกดขี่
"กว่า 7 ปีที่ผ่านมาซึ่งพวกเราอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดน ความเจ็บปวดเหล่านั้นเราผ่านมาไม่ต่างกัน เราจึงมีความรู้สึกร่วมกับพี่น้องที่สตูล ที่ผ่านมาเราเคยร่วมต่อสู้กับพี่น้องนครศรีธรรมราชเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พวกเราคิดตรงกันว่าตราบใดที่มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นไม่ว่าจะจังหวัดใด พวกเรายินดีร่วมต่อสู้กับพี่น้องเหล่านั้น"
ส่วนการถูกจับตาจากฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะนักศึกษามุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อิสมาแอล บอกว่า รู้สึกลำบากใจที่ถูกมองอย่างเหมารวมจากภาครัฐ ทั้งที่พวกเขาต่อสู้เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความเป็นธรรม
"เราแค่คิดว่าเราจะอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าพี่น้องประชาชนจะเป็นคนศาสนาอะไรก็ตาม ตอนเราเคลื่อนไหวช่วยพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มักถูกมองจากรัฐว่าเป็นกลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบบ้าง หรือเป็นเครื่องมือของกลุ่มขบวนการบ้าง ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่อยากให้มองอย่างนั้น เพราะถ้าเป็นจริงป่านนี้พวกเราคงจับอาวุธขึ้นมาสู้กับรัฐแล้ว ไม่มาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวโดยใช้สันติวิธีกับเพื่อนๆ นักศึกษาและพี่น้องประชาชนต่างศาสนิกอย่างนี้" อิสมาแอล กล่าว
อย่ามองเหมารวม-จุดร่วมเพื่อสังคม
ปรียารัตน์ สุขสมบูรณ์ หนึ่งในเครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ไม่ควรมองเหมารวมนักศึกษามุสลิมว่าเป็นแนวร่วมหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะทุกคนมีอุดมการณ์และจุดยืนเดียวกันคือช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
ส่วน "เดีย" อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาภาคใต้ ซึ่งเป็นหนุ่มไทยพุทธ และปัจจุบันทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) กล่าวว่า นักศึกษาทั้งพุทธและมุสสิมจากหลากหลายสถาบันที่ร่วมกันขับเคลื่อนคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เป็นเสมือนดอกไม้ในทุ่งหญ้าที่กำลังเบ่งบานอย่างงดงาม
"บรรยากาศแบบนี้ผมไม่ได้เห็นมานานแล้ว ผมคิดว่าการขยับตัวและผสมผสานเพื่อหาจุดร่วมในการช่วยเหลือสังคม ได้ลดทอนความแตกต่างระหว่างกันของกลุ่มนักศึกษาลง และทำให้เกิดพลังมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อก่อนกลุ่มนักศึกษามีความแตกต่างกันบ้าง โดยเฉพาะความเป็นนักศึกษามุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักมีรูปแบบและวิถีแตกต่างจากนักศึกษาศาสนิกอื่น ผมไม่ได้พูดว่าเป็นปัญหา แต่ความแตกต่างมีอยู่จริง ที่ผ่านมาเราพยายามรวมกันให้ได้ แต่ปัญหาในอดีตคือพวกเขายังไม่เห็นเป้าหมายร่วมกัน จนทำให้ไม่สามารถขยับงานร่วมกัน"
"ยกตัวอย่างนักศึกษาจากสามจังหวัด เคยเคลื่อนไหวแต่เรื่องสันติภาพ เรื่องหลักศาสนาอิสลาม หรือความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ของตนเอง ส่วนนักศึกษาภาคใต้ตอนบนก็ขยับแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ได้มานั่งหาจุดร่วมกัน แต่วันนี้ผมคิดว่าขบวนนักศึกษาทุกกลุ่มเริ่มเห็นจุดที่จะทำงานร่วมกันระดับหนึ่งแล้ว หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องสันติภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เรื่องที่ดิน หรือเรื่องคนจน พวกเขาเห็นแล้วว่าแต่ละประเด็นไม่ใช่ประเด็นเฉพาะ แต่เป็นปัญหาเดียวกันคือสืบเนื่องจากการใช้อำนาจของรัฐและการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐ และทั้งหมดนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งในแง่การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาและการทำงานช่วยเหลือสังคม" อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาภาคใต้ กล่าว
ปมขัดแย้งว่าด้วยโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่รอรัฐบาลชุดใหม่สะสาง ไม่ต่างกับบทบาทของนักศึกษามุสลิมจากชายแดนใต้ที่ต้องรอมุมมองใหม่จากฝ่ายความมั่นคงเพื่อลดความหวาดระแวงเช่นกัน จะได้ร่วมกันใช้พลังของทุกฝ่ายสร้างสรรค์สังคมสันติสุขสืบไป
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-3 บรรยากาศการชุมนุมคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ จ.สตูล
อ่านประกอบ : "เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด" ความขัดแย้งระลอกใหม่กำลังก่อตัว
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/item/1944-q-q.html