ชุมนุมญาติ"เหยื่ออุ้ม"-นัดจี้นายกฯสางคดี
วงเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสวันสากลแห่งการคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย พ.ศ.2556 ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธมนุษยชนแห่งชาติ กับองค์กรภาคีเครือข่าย โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานนั้น ได้มีญาติและครอบครัวของเหยื่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
วันที่ 9 ม.ค.2555 รัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งเป็นพันธกรณีภายใต้กฎบัตรสหประชาติ ทว่าจนถึงปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ให้สัตยาบัน และยังไม่มีการตราหรืออนุวัตรกฎหมายภายในประเทศเพื่อรองรับอนุสัญญาดังกล่าว จึงยังไม่มีหลักประกันหรือผลเชิงรูปธรรมในการป้องกันมิให้การบังคับสูญหายเกิดขึ้นอีก
นิยามของ "การบังคับให้สูญหาย" ที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการ หมายถึงการจับกุมคุมขัง ลักพาตัว หรือกระทำในรูปแบบใดๆ ที่พรากเอาเสรีภาพไปจากประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ใช้อำนาจหรือได้รับมอบอำนาจ ได้รับการสนับสนุน หรือได้รับความเห็นชอบจากรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธความรับรู้เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการพรากไปซึ่งเสรีภาพของบุคคล หรือการปิดอำพรางชะตากรรม หรือสถานที่คุมขัง หรือที่พำนักของผู้สูญหาย ซึ่งเป็นการจัดวางให้บุคคลนั้นอยู่นอกการคุ้มครองของกฎหมาย
"การบังคับให้สูญหาย" กรณีสำคัญๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและตกเป็นข่าวครึกโครมก็เช่น กรณีการหายตัวไปของ นายทนง โพธิอ่าน อดีตผู้นำแรงงานคนสำคัญเมื่อปี 2534 นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เมื่อปี 2547 ซึ่งกรณีของนายสมชายเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังส่งผลให้เกิดการ "อุ้มหาย" และ "ฆ่า" อีกหลายกรณีที่ชายแดนใต้ด้วย
พบการแทรกแซงคดีปกป้อง จนท.รัฐ
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ภรรยาของนายสมชาย นีละพิจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่ถัูกอุ้มหายไปเมื่อ 12 มี.ค.2547 กล่าวว่า กรณีทนายสมชายเป็นคดีบังคับบุคคลให้สูญหายที่มีความคืบหน้าทางกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดในประเทศไทย เพราะมีการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเอาผิดตำรวจ 5 นาย ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ปัจจุบันคดีอยู่ในศาลฎีกา
นางอังคณา กล่าวต่อว่า กรณีบังคับให้สูญหายในประเทศไทยช่วงหลังเกิดภายใต้นโยบายของรัฐ 2 นโยบายสำคัญ คือ นโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติด และนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายในภาคใต้ เมื่อการบังคับให้สูญหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ญาติของเหยื่อยากที่จะเข้าถึงความจริง พยานหลักฐานต่างๆ ถูกทำให้ไม่น่าเชื่อถือ อย่างกรณีของทนายสมชาย การตรวจรถยนต์ที่ทนายสมชายใช้ขณะถูกอุ้มหายกลับไม่พบหลักฐานอะไรเลย
"มีการแทรกแซงคดี แทรกแซงการสอบสวน และมีความน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถเข้าถึงสำนวนการสอบสวนคดีได้ ตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหาสามารถปฏิเสธการตรวจดีเอ็นเอได้ ทั้งยังปฏิเสธการให้การในชั้นสอบสวน แต่ขอไปให้การในชั้นศาลเท่านั้น"
ดีเอสไอรับคดีมา 8 ปีแต่ไร้คืบหน้า
นางอังคณา กล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญของคดีทนายสมชายคือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่เต็มใจที่จะคลี่คลายคดี โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีมา 8 ปีแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย ทั้งๆ ที่ดีเอสไอรู้ข้อมูลทุกอย่าง ตั้งแต่วิธีการฆ่า และวิธีการทำลายศพ
"สมชายไม่ใช่วีรบุรุษ เป็นคนธรรมดาๆ ที่มีชื่อโหลๆ ซ้ำๆ กับคนไทยมากมาย หลังจากเสียชีวิตเขามีเงินติดบัญชีอยู่แค่ 300 บาท ได้แต่หวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้จะไม่ซ้ำๆ เหมือนชื่อของเขา คือจะไม่เกิดการเลือกปฏิบัติและคนที่กระทำผิดลอยนวล"
รวมตัวยื่นหนังสือนายกฯจี้สางคดี
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหายได้ร่วมกันยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะทำงานด้านการป้องกันการทำให้บุคคลสูญหายโดยไม่สมัครใจของยูเอ็น เพื่อให้ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งปัจจุบันมีถึงกว่า 70 กรณีแล้วที่เป็นกรณีของประเทศไทยส่งถึงมือคณะทำงานฯ จึงหวังว่ารัฐบาลจะได้ตระหนักถึงความทุกข์ทรมานของครอบครัวเหยื่อ และยุติสถานการณ์การบังคับให้สูญหายไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป
"ดิฉันกับญาติของเหยื่อจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในสัปดาห์หน้า เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดีทั้งหมด และหวังว่านายกฯจะลงมารับหนังสือด้วยตนเอง"
มือถือ "ทนง โพธิอ่าน" ถูกใช้หลังหายตัว
นางรัชนีบูรณ์ โพธิอ่าน ภรรยาของ นายทนง โพธิอ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายทนงถูกอุ้มหายขณะเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เมื่อเดือน มิ.ย.2534 ทั้งๆ ที่มีโรคประจำตัวคือเบาหวานขั้นรุนแรง ต้องฉีดยาเป็นประจำ เธอกับนายทนงมีลูกด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 1 คน และหญิง 2 คน ช่วงที่สามีถูกอุ้มหายเป็นช่วงหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.
"หลังจากสามีหายตัวไป มีการเก็บพยานหลักฐานต่างๆ ปรากฏว่าพบการใช้โทรศัพท์มือถือของคุณทนงหลังจากคุณทนงหายไปแล้ว ซึ่งตำรวจน่าจะติดตามได้ว่าใครเป็นคนใช้ แต่กลับตรวจสอบไม่ได้และไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย"
เชื่อถูกอุ้มเพราะขัดแย้งผู้มีอำนาจ
นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เพื่อนสนิทของนายทนง กล่าวว่า มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่านายทนงถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะบทบาทของนายทนงไปขัดกับผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะการขัดขวางประกาศของ รสช.ฉบับที่ 54 ที่ให้แยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แล้วให้จัดตั้งเป็นสมาคม ไม่ต้องเป็นสหภาพแรงงาน และไม่มีสิทธินัดหยุดงาน
การคัดค้านประกาศ รสช.ฉบับนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น มีการจัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2534 ทั้งๆ ที่เป็นช่วงประกาศกฎอัยการศึก แต่ นายทนง ไม่กลัว หลังจากนั้นไม่นานคือวันที่ 19 มิ.ย. นายทนงก็หายตัวไป
ต่อมามีการตั้งคณะทำงานติดตามคดี ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน มี นายอารีย์ วงศ์อารยะ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเป็นประธาน และได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2535 ว่า "ไม่ทราบสาเหตุการหายตัวไป"
คุ้ยทุจริตที่ขอนแก่น-ถูกอุ้มหลังไปโรงพัก
นายณัฐวัฒน์ เหล่าโสภาพรรณ ลูกชายของ นายกมล เหล่าโสภาพรรณ นักรณรงค์ต่อต้านการทุจริต จ.ขอนแก่น กล่าวว่า บิดาเป็นแกนนำเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ร่วมกับ นายวีระ สมความคิด อดีตเลขาธิการ คปต. และได้เข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของรัฐในพื้นที่ จ.ขอนแก่น กระทั่งพบหลักฐานการฮั้วประมูล และการก่อสร้างอาคารผิดแบบ ขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร มีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ประมูล เจ้าหน้าที่เทศบาล และตำรวจ จึงได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเอาไว้
วันที่ 7 ก.พ.2551 บิดาหายตัวไปหลังจากเดินทางไปสถานีตำรวจเพื่อติดตามเอกสาร โดยตนเป็นคนสุดท้ายที่ได้คุยโทรศัพท์กับบิดาเมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. บิดาบอกว่ากำลังจะกลับบ้าน แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อไม่ได้อีกเลย อีก 20 กว่าวันต่อมาจึงพบรถของบิดาถูกจอดทิ้งไว้ห่างจาก อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ราว 20 กิโลเมตร
"รถถูกจอดทิ้งในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ครอบครัวจึงไปแจ้งความกับตำรวจ มีการตรวจพิสูจน์เพื่อเก็บหลักฐานภายในรถ พบคราบเลือด แต่คดีไม่คืบหน้า ต่อมาดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษ แรกๆ ก็รู้สึกมีความหวังมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป คดีก็ไม่มีอะไรคืบหน้า กระทั่งล่าสุดได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้พ่อเป็นบุคคลสาบสูญ"
เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายบ้าง แม้จะจับกุมผู้กระทำผิดไม่ได้ อย่างน้อยกล่าวคำว่าขอโทษก็ยังดี "เมื่อคนทำดีต้องสูญหายไปจากสังคม แล้วจะมีใครกล้าทำดี ต่อไปคงไม่มีใครกล้าทำงานเพื่อปกป้องเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"
ญาติวีรชนพฤษภาฯปูดคนหาย 734 ราย
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า กรณีพฤษภาทมิฬ ทางการออกมาประกาศตัวเลขผู้สูญหายว่ามีทั้งสิ้น 58 ราย แต่หลังจากเกิดเหตุมาระยะหนึ่ง ฝ่ายรัฐเองก็เริ่มแสดงท่าทียอมรับว่ามีจำนวนผู้สูญหายมากกว่านั้น และจากตัวเลขที่ญาติวีรชนได้นำไปร้องเรียนไว้ที่ยูเอ็นคือ 734 ราย
ขณะที่ น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง จากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ที่เคยร่วมงานกับ นายสมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสชาวลาว เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ ซึ่งหายตัวไปขณะขับรถอยู่ในนครเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2555 กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้อาเซียนใช้กลไกด้านสิทธิมนุษยชนพิจารณาปัญหาการบังคับให้สูญหายร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก เพราะกลไกระดับประเทศน่าจะไม่เพียงพอ
ที่สำคัญอยากให้รัฐบาลไทยได้แสดงท่าทีต่อกรณี นายสมบัด สมพอน บ้าง เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีท่าทีใดๆ เลย ทั้งๆ ที่สมาชิกรัฐสภาจากชาติอื่นๆ ในอาเซียนได้พยายามเข้าไปตรวจสอบและแสวงหาคำตอบจากรัฐบาลลาว
ยธ.ยกร่างกฎหมายรองรับอนุสัญญาฯ
ด้านผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ทางกรมฯได้ร่วมมือกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อปรับกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย คาดว่าร่างกฎหมายใหม่จะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายต่อไป
พร้อมกันนี้จะได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 เพื่อให้การอุ้มหายเป็นเงื่อนไขหนึ่งให้ญาติได้รับค่าทดแทนตามกฎหมายด้วย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) อังคณา นีละไพจิตร, อดุลย์ เขียวบริบูรณ์, รัชนีบูรณ์ โพธิอ่าน, ณัฐวัฒน์ เหล่าโสภาพรรณ
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ