สุ่มตรวจไทยเข้มแข็งรอบ 2 พบถนนไร้ฝุ่น-ฝาย30%แย่
ผลการประเมินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ปี 2555 ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 พบว่ามี 22 โครงการ ที่มีปัญหาและสมควรได้รับการแก้ไข
นพ.มารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) รับทราบผลการติดตามการประเมินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2
ทั้งนี้ ได้สุ่มตรวจโครงการก่อสร้างถนนไร้ฝุ่น 45 โครงการ และโครงการจัดหาแหล่งน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 30 โครงการ รวม 75 โครงการ พบว่ามี 22 โครงการ หรือคิดเป็น 29.3% เป็นโครงการที่มีปัญหาและสมควรได้รับการแก้ไขในระดับทั้งพื้นที่หรือจากส่วน กลาง
ผู้ตรวจราชการรายงานว่า การตรวจติดตามและประเมินผลโครงการถนนไร้ฝุ่น 45 โครงการ พบว่า มีโครงการที่มีสภาพถนนที่ไม่มีปัญหาทางกายภาพ และใช้ประโยชน์ได้ดี 35 โครงการ หรือคิดเป็น 77.78%
ส่วนโครงการที่มีปัญหาด้านกายภาพ เช่น ถนนชำรุด ทรุด มีรอยแตกแยก และจุดเชื่อมระหว่างถนนไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้การใช้ถนนไม่ปลอดภัย 7 โครงการ แต่สภาพปัญหาไม่รุนแรงและแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ได้ โดยโครงการถนนปลอดฝุ่นที่ทรุดตัวนั้น เนื่องจากรถที่ใช้เส้นทางมีการบรรทุกสินค้าพืชผลเกษตรหนักเกินกำหนด ถนนบางสายมีการเสียหาย เนื่องจากสภาพถนนเป็นพื้นที่ต่ำและขวางทางไหลของน้ำ รวมทั้งถนนมีรอยแยกเนื่องจากสภาพพื้นที่มีน้ำใต้ถนน ทำให้มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
3โครงการต้องเร่งแก้ไข
ขณะ ที่โครงการถนนไร้ฝุ่นที่มีปัญหาและสมควร ต้องแจ้งให้ส่วนกลางเข้าไปแก้ไขมี 3 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างถนนที่ไม่มีไหล่ทางและท่อระบายน้ำ ซึ่งอาจก่อปัญหาในอนาคตได้ โดยเฉพาะการระบายน้ำเสียและน้ำฝน อีกทั้งมีถนนทรุดตัวตามแนวลำคลอง ทำให้กรมทางหลวงชนบทต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมากในการซ่อมแซมแต่ละปี เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่นสายทางหลวง 305 เลียบคลองสิบสองฝั่งตะวันตก จ.ปทุมธานี ถนนทรุดตัวตามแนวคลองชลประทาน
นอกจากนี้ โครงการถนนไร้ฝุ่นสายทางหมายเลข 9ะ บ้านกำนันจิตร (ตอน 2) จ.นนทบุรี ถนนก่อสร้างไม่มีไหล่ทางและท่อระบายน้ำ ทำให้มีปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะการระบายน้ำเสียและน้ำฝน
แหล่งน้ำ 30% ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่
นพ.มารุต ระบุว่า ส่วนโครงการจัดหาแหล่งน้ำฯ ที่มีการตรวจติดตามและประเมินผล 30 โครงการ พบว่ามีโครงการที่ไม่มีปัญหาทางกายภาพ 18 โครงการ หรือคิดเป็น 60% ส่วนอีก 9 โครงการ หรือคิดเป็น 30% ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เนื่องจากน้ำในฝายค่อนข้างน้อย ลำคลองมีความตื้นเขิน มีน้ำต้นทุนจำนวนน้อย ไม่มีน้ำซับ จึงไม่มีน้ำกักเก็บไว้เพื่อทำการเกษตร บริเวณผนังฝายมีรอยแตกร้าว เนื่องจากการทรุดตัวของดิน และบางแห่งประตูน้ำปิดไม่สนิท มีน้ำไหลตลอดเวลาจึงใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่
พร้อมทั้งพบว่า ในบางพื้นที่มีการก่อสร้างฝายในลำห้วยเดียวกัน 2 จุดใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่เหมาะสมและเป็นการซ้ำซ้อน และจากการสอบถามเกษตรกรในพื้นที่มีการแจ้งว่า มีเกษตรกรใช้น้ำเพื่อเพาะปลูกน้อยราย ขณะที่เหนือฝายขึ้นไป 100 เมตร ไม่มีน้ำในลำห้วย ทำให้ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ก่อสร้าง โดยโครงการลักษณะนี้มี 3 โครงการหรือคิดเป็น 10%
3 โครงการไม่คุ้มค่าเงินลงทุน
3 โครงการไม่คุ้มค่าเงินลงทุน ได้แก่ โครงการก่อสร้างฝายบ้านหนองแรด จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำในฝายน้อย เพราะสภาพลำคลองตื้นเขินและบริเวณฝายมีการแตกร้าว เนื่องจากดินทรุดตัว โครงการชลประทานขนาดเล็กอาคารบังคับพร้อมขุดลอก กองบินที่ 5 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อสร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะไม่มีน้ำกักเก็บ โครงการฝายลานห้วยเดื่อ 3 จ.ตาก ประตูระบายน้ำปิดไม่สนิท ทำให้มีน้ำไหลตลอดเวลา โครงการฝายห้วยหนองโรง จ.สุพรรณบุรี ไม่มีน้ำซับ ทำให้ไม่มีน้ำกักเก็บ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการฝายห้วยลวก จ.สุพรรณบุรี ที่เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ก่อสร้าง พบว่ามีการก่อสร้างฝายในห้วยเดียวกัน 2 จุด ใกล้กันประมาณ 15 เมตร เมื่อสอบถามเกษตรกรในพื้นที่ได้รับแจ้งว่า มีเกษตรกรใช้น้ำเพื่อปลูกอ้อย 2 ราย และเหนือฝายขึ้นไป 100 เมตรไม่มีน้ำในลำห้วย จึงไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ลงทุนไป ขณะที่ฝายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการ
เผยสุ่มรอบแรกมีปัญหา 20%
ในการตรวจสอบโครงการถนนไร้ฝุ่น และโครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานหรือโครงการชลประทานขนาด เล็ก รอบที่ 1 (ม.ค-ก.พ. 2554) จำนวน 155 โครงการ แบ่งเป็นโครงการถนนไร้ฝุ่น 92 โครงการ มีโครงการที่ไม่มีปัญหาทางกายภาพ 73 โครงการ เป็นโครงการที่มีปัญหา 19 โครงการ หรือคิดเป็น 20.66% ส่วนโครงการชลประทานขนาดเล็ก 63 โครงการ พบว่ามีโครงการที่ไม่มีปัญหาทางกายภาพ 52 โครงการ แต่เป็นโครงการที่มีปัญหาทางกายภาพ 11 โครงการ หรือ 17.46%
สำหรับโครงการถนนปลอดฝุ่นที่มีปัญหา เช่น โครงการถนนสายทางแยก ทล 3255ะ แยก ทล 3259 (ตอนที่ 1 และที่ 2) จ.ฉะเชิงเทรา พบว่าพื้นผิวบริเวณที่วางท่อมีการทรุดตัว มีการนำยางมาปะ ซึ่งการทรุดตัวของถนนเป็นเพราะมีการใช้เส้นทางเพื่อการขนส่งพืชผลการเกษตร ที่มีน้ำหนักมาก โครงการถนนสายทางแยก ทล 2138 บ้านหนองผำ จ.เลย ถนนเสียหาย เนื่องจากมีรถขนแร่ใช้เป็นเส้นทางลัด และมีรถขนอ้อยวิ่งผ่านจำนวนมาก และโครงการสายบ้านหนองห้าง-บ้านชัยพัฒนา จ.พิษณุโลก ที่ถนนเสียหายเพราะมีการบรรทุกพืชผลการเกษตรเกินกว่าน้ำหนักที่กำหนด
ถนนหลายเส้นชำรุด-ทรุด
ส่วนโครงการถนนสายเข้าโรงเรียนปริยัติธรรม วัดจรูญเวศ จ.นครนายก ถนนชำรุด เนื่องจากถนนลาดยางบาง โครงการถนนสายแยก ทล 4156 -บ.โคกคา (ตอนที่ 1) จ.กระบี่ ผิวถนนแตกชำรุดเสียหายทั้งเส้นทาง เนื่องจากมีการใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน โครงการสายแยก ทล 4156 -บ.โคกคา (ตอนที่ 2) จ.กระบี่ และโครงการสายทางแยก ทช.สร. 3010ะ บ้านสลักได จ.สุรินทร์ มีการถมถนนสูงและไม่มีการอัดดินให้แน่น ส่งผลให้มีการชำรุดตรงคอสะพาน และผิวจราจรเสียหาย
โครงการสายทาง ชร.1022 แยก ทล. 1 -บ้านหัวดอย จ.เชียงราย มีปัญหาการทรุดตัวของถนน เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีน้ำป่าไหลลงจากภูเขามากัดเซาะใต้ถนน ประชาชนไม่ยอมสละที่ดินเพื่อทำทางระบายน้ำข้างถนนเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะ และผู้รับเหมาไม่ได้ย้ายเสาไฟฟ้าที่เคลื่อนย้ายไประหว่างก่อสร้างกลับคืนที่ เดิม โครงการสายทางแยก ทล รบ 4011ะ หนองปากดง จ.ราชบุรี ต้องมีการซ่อมแซมถนนเป็นแนวยาวตลอดทั้งเส้นทาง เนื่องจากถนนมีการชำรุด
โครงการ ถนนสายแยก ทล 218ะ บ้านโนนสมบูรณ์ จ.บุรีรัมย์ ผิวจราจรทรุดตัว เนื่องจากการบีบอัดฐานรากของถนนบริเวณฝังท่อลอดเพื่อการระบายน้ำไม่ได้ มาตรฐาน โครงการถนนสายทางแยก ทล 1113ะ บ้านสระบัว จ.สุโขทัย ผิดถนนชำรุด มีหลุมขนาดใหญ่และเล็กเป็นระยะ ถนนด้านติดริมคลองมีรอยแตกตลอดเส้นทาง และโครงการถนนสายแยก ทล 3425ะ ดอนทอง จ.พระนครศรีอยุธยา มีคันทางทรุดตัวในวงกว้างหลายจุด เนื่องจากปริมาณน้ำในคลองชลประทานลดระดับลง เป็นต้น
ฝายหลายแห่งขาดน้ำกักเก็บ
ส่วนโครงการชลประทานขนาดเล็กที่มี ปัญหา เช่น โครงการฝายบ้านหนองร่าเริง จ.ลพบุรี โครงการระบบส่งน้ำฝายสระบัวทอง จ.สุพรรณบุรี ใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เนื่องจากน้ำที่เติมในฝายมีไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน ไม่มีน้ำให้กักเก็บและหน้าฝายตื้นเขินไม่มีน้ำ โครงการฝายลำห้วยประทุนพร้อมขุดลอก จ.ชัยนาท น้ำในฝายมีไม่มาก เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน สันฝายต่ำเกินไป ทำให้กักเก็บน้ำได้ไม่มาก
โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านดงยาง จ.อุดรธานี ที่สร้างเสร็จมาแล้ว 6 เดือน แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจาก อบต.บ้านแดง ไม่ได้จัดงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการโครงการฝายบ้านป่าใหญ่ 2 จ.อุทัยธานี น้ำในฝายมีน้อย และไม่มีการตั้งกลุ่มใช้น้ำเพื่อบริการจัดการน้ำ พบกองดินในฝาย ทำให้ฝายตื้นเขิน โครงการฝายทดน้ำยายเล็ก 4 จ.ราชบุรี พบดินทรุดใต้ดาษคอนกรีต
นอกจากนี้ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งบ้านหนองหอย จ.กาญจนบุรี พบว่าจุดที่ตั้งสถานีสูบน้ำไม่มีน้ำให้สูบตลอดเวลา ขณะที่การสูบน้ำจะทำได้ก็ต่อเมื่อเขื่อนปล่อยน้ำออกมา แต่ปกติเขื่อนจะปล่อยน้ำเวลากลางคืน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการใช้น้ำของเกษตรกรและเกษตรกรก็ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ
ที่มาภาพ : http://www.propertychannelnews.com/mordetail1.php?newsid=15