แก้ปัญหาน้ำอย่าเลียนแบบประเทศอื่น ดร.รอยล แนะต้องสร้างทฤษฎีขึ้นมาเอง
ผอ. สสนก. แนะรบ.เน้นบริหารน้ำระดับชุมชน พร้อมลดการส่งออก ขยายฐานบริโภคในประเทศ ส่งเสริมภาคเกษตรกรรม แก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำในอนาคต
เมื่อเร็วๆนี้ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิ่ทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อเรื่อง “น้ำ ! จัดการได้” เกษตรไทยยั่งยืน” โดย ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) และนางสาวชุติมา น้อยนารถ เกษตรกรคลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม และ ประธานสภาลุ่มแม่น้ำท่าจีน ร่วมอภิปราย
ดร.รอยล กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบการจัดการน้ำขนาดใหญ่ คือมีระบบแบบไฮเวย์ แต่ไม่มีการจัดการน้ำในระดับชุมชน เราทิ้งการบริหารน้ำในระดับชุมชนไป ทั้งๆ ที่คือส่วนสำคัญที่สุด
"ภาพที่เราเจอวันนี้คือ ภาคกลางมีพื้นที่เกษตรอยู่ในเขตชลประทาน ร้อยละ 60 อีกกว่าร้อยละ30 อยู่นอกเขตชลประทาน ขณะที่เหนือจ.นครสวรรค์ขึ้นไปร้อยละ 80 พื้นที่เกษตรกรรมอยู่นอกเขตชลประทาน และไม่มีโครงสร้างเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ไม่ต่างจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กว่า 60 ล้านไร่ มีเพียง 4 ล้านไร่เท่านั้นที่อยู่ในเขตชลประทาน"
ผอ.สสนก. กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำจะเห็นว่า น้ำภาคกลางเอามาจากภาคเหนือทั้งหมด เราทำระบบพื้นที่ชลประทาน 2 ล้านไร่ น้ำที่เหลือวิ่งมาภาคกลาง โดยไม่มีระบบบริหารน้ำท่า หรือ Run off นอกเขตชลประทานก็ไม่มีการจัดการ ปล่อยน้ำวิ่งเข้ามาแล้วค่อยมาจัดการ
"เราจะใช้วิธีแก้ปัญหาเหมือนประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้ เพราะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นพื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตชลประทาน จึงสามารถแก้ปัญหาด้วยโครงสร้างได้ แต่ของไทยพื้นที่เกษตรกรรมอยู่นอกเขตชลประทานร้อยละ 94 คือเรามาแก้แค่ 4 ล้านไร่ จึงเป็นไปไม่ได้" ดร.รอยล กล่าว และว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยรับสั่งว่า การบริหารน้ำและการจราจรไม่ต่างกัน เราล้มเหลวด้านการบริหารจราจร การบริหารน้ำก็เลยล้มเหลว ดังนั้น วิธีบริหารจัดการน้ำจึงไม่มีทฤษฏีใดรองรับ เราต้องสร้างทฤษฎีขึ้นมาเอง ให้โครงสร้างน้ำมีความยืดหยุ่น เพราะสภาพของไทยพื้นที่น้ำท่วมกับน้ำแล้งอยู่ที่เดียวกัน เราจึงจำเป็นต้องสร้างทฤษฎีในการบริหารน้ำขึ้นมาให้ได้
ทั้งนี้ ผอ.สสนก. กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หากยังเป็นแบบนี้ การบริหารจัดการน้ำจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย เพราะเราดูแต่ GDP อย่างเดียว พึ่งการส่งออกถึง 70% ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วเขาเปลี่ยนหมดแล้ว แม้กระทั่งจีนก็ลดสัดส่วนการส่งออก แต่หันมาขยายการบริโภคในประเทศ
"หากไทยสามารถขยายการบริโภคในประเทศได้ ก็จะช่วยขยายฐานด้านการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง ประเทศเราอยู่ในตำแหน่งมั่นคงด้านน้ำที่สุดในโลก เราเริ่มเปลี่ยน แก้เรื่องน้ำ ถ้าเราจัดสรรเงินเป็นเราก็จะจัดสรรน้ำเป็น"
ส่วนปัญหาความไม่ก้าวหน้าของประเทศหรือปัญหาการบริหารจัดการน้ำทั้งๆที่เรามีคนเก่งจำนวนมากนั้น ดร.รอยล มองไปที่เราไม่มีทีมนักวิจัย และที่สำคัญคือคนไทยยังทะเลาะกันเองอยู่
ด้านนางสาวชุติมา กล่าวถึงนโยบายเรื่องการจัดการน้ำที่กำลังเกิดขึ้นรู้สึกยังไม่มั่นใจว่า เอื้อประโยชน์กับเกษตรหรืออุตสาหกรรมกันแน่ โดยเฉพาะหากรัฐวางนโยบาย หรือมีวิสัยทัศน์ผิด ประเทศก็จะเบี้ยวตามไปด้วย จึงอยากให้มองโจทย์ใหม่ที่แหลมคมให้ประเทศไทย
"ทุกวันนี้พื้นที่เกษตรหายไปพร้อมกับการบริหารจัดการน้ำ ดังนั้นวันนี้เราต้องมองอะไรให้กว้างและลึกซึ้งกว่านี้ มองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน ระบบนิเวศน์ สร้างแผนบริหารจัดการมีส่วนร่วมอย่างถูกต้อง ทบทวน และถอดบทเรียนผลกระทบจากนโยบายก่อนที่จะเดินหน้า รวมทั้งอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคประชาชน รับฟังเสียงคนกลุ่มนี้ เพราะเขาเป็นบุคคลที่สามารถให้ข้อมูลที่ละเอียดกับรัฐบาลได้"
ที่มาภาพ:http://www.mcot.net/site/content?id=521f0e07150ba03366000015#.UiBJZ39VnMw