หนุนชุมชนฝ่าวิกฤตอาหาร ผลิต-กิน-ขาย-เพาะพันธุ์เอง คาน‘ทุนผูกขาดทรัพยากร’
สสส.ชี้เกษตรกร-ความมั่นคงอาหารไทยวิกฤต เหตุทุนผูกขาดทรัพยากร-ล่อใจกินสะดวกซื้อ หนุนชุมชนพึ่งตนเอง-จับมือเครือข่ายดันแก้นโยบายรัฐ
วันที่ 27 พ.ค. 56 ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที ‘สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่’ โดยมีการประชุมในหัวข้อ ‘ต้องรอด!!! ชุมชนร่วมใจฝ่าวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร’ โดยนายสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. กล่าวปาฐกถาเรื่อง ‘พลังชุมชน คือ จุดเริ่มต้นของการรักษาฐานทรัพยากรและความมั่นคงทางอาหาร’ว่า ปัจจุบันมีสัญญาณหลายประการที่ส่อให้เห็นถึงแนวโน้มความมั่นคงอาหารไทยที่อาจล่มจม ทั้งแง่การบริโภคอาหารที่ผู้บริโภคคุ้นชินกับวัฒนธรรมการซื้อมากกว่าปรุงรับประทานเอง ขณะที่การผลิตอาหารก็ส่อเค้าวิกฤต เนื่องจากแหล่งอาหารตามธรรมชาติเช่น ป่าไม้ ชายฝั่ง ถูกทำลาย เกษตรกรผู้ผลิตอาหารถูกแย่งชิงทรัพยากรที่ดินโดยกลุ่มทุนผูกขาด หรือตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในระบบเกษตรพันธะสัญญาที่ก่อหนี้สิน
“เวลานี้จึงต้องตั้งคำถามว่าไทยกำลังเป็นไทด้านอาหารหรือเข้าสู่ความเป็นทาสของทุน” นายสุรินทร์กล่าว
นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงภาวะวิกฤตดังกล่าวได้คือการรวมพลังของชุมชนที่เข้มแข็งผลิตสร้างอาหารปลอดภัยได้จากพึ่งตนเอง และร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวสู้ระบบทุนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐต่อไป
นายธีรพล โพธิ์พา ชุมชนต้นแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูข้าวพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวนา คือการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์เพื่อผลิตสร้างอาหาร โดยเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ในท้องตลาดถูกขายผูกขาดโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่เกษตรกรไม่สามารถเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อได้ ขณะที่หน่วยงานรัฐเช่นกรมการข้าวสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ไม่พอต่อความต้องการ ชาวบ้านโดยเครือข่ายเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจึงรวมตัวกันเก็บและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านของตนที่มีคุณสมบัติต้านทานโรคและเข้ากับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น โดยจ.อุบลฯสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านไว้ใช้เองถึง 143 สายพันธุ์ ขณะที่เครือข่ายฯในหลายจังหวัดภาคเหนือพยายามแก้ปัญหาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ผักและอนุรักษ์พืชพื้นบ้านโดยการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ออกจำหน่ายในลักษณะวิสาหกิจชุมชนด้วย
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวปิดท้ายว่า ปัจจุบันเกษตรกรร้อยละ 60 ต้องเช่าที่ดินทำกิน เกษตร4 แสนคนอยู่ในระบบเกษตรพันธะสัญญา และร้อยละ 90 ของพันธุ์พืชอยู่ในมือบริษัทเพียงไม่กี่ราย ขณะที่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยกลุ่มอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายการสร้างความยั่งยืนด้านอาหารขณะนี้ คือ การผลักดันให้เกษตรกรและชุมชนที่ผลิตสร้างอาหารคุณภาพด้วยตนเองสามารถต่อสู้กับระบบผูกขาดอาหารโดยกลุ่มทุน ที่เข้าครอบครองฐานทรัพยากร ระบบการผลิต การกระจายสินค้า และวัฒนธรรมการบริโภคให้ได้