เผยผลวิจัยกระบวนศาลบกพร่อง - 60% คดีชาวบ้านร้องกสม.ผิดหลักสิทธิมนุษยชน
เปิดผลวิจัย5สถาบันชี้ข้อบกพร่องคดีชุมชนในกระบวนยุติธรรม ‘จูงจำเลยสารภาพ- ขาดล่ามภาษาถิ่น’ เตรียมห้ามใช้มือถือ-แท็บเล็ตในศาล 60% คดีร้องกสม.ผิดหลักมนุษยชน
วันที่ 27 พ.ค. 56 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยทักษิณและสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟ้าหลวง รายงานผลการศึกษา ‘โครงการเรียนรู้และสังเกตการณ์ทางชั้นศาลในมุมมองนักสิทธิมนุษยชนระหว่างปี 2555 – 2556’ ในพื้นที่ที่สถาบันการศึกษาทั้ง 4 ตั้งอยู่และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยนักศีกษาเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีต่างๆ จำนวน 936 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นคดีอาญา โดยมีผลการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น
1.)เจ้าหน้าที่ในห้องพิจารณาคดีไม่เข้าใจกระบวนการพิจารณาคดีของศาลที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะซึ่งประชาชนมีสิทธิเข้าฟังได้ยกเว้นคดีลับ โดยร้อยละ 40 มีการติดป้ายห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้า เป็นผลให้ญาติจำเลยบางคนไม่กล้าเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีทั้งที่มีสิทธิ ขณะที่บางพื้นที่เจ้าหน้าที่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้มาขึ้นศาลโดยดูจากการแต่งกาย หรือ ฐานะทางสังคม 2.)ผู้พิพากษานั่งไม่ครบองค์คณะในการพิจารณาคดีมากถึงร้อยละ 40 (ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ซึ่งผู้พิพากษานั่งครบองค์คณะมากกว่าพื้นที่อื่น ) ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญและมีผลต่อความเป็นธรรม
3.)บางกรณีทนายความขอแรงฝ่ายจำเลยและผู้พิพากษามีการจูงใจให้จำเลยรับสารภาพเพื่อรวบรัดคดี โดยใช้คำอ้าง เช่น “หากฝืนสู้คดีต่อศาล จะไม่รอลงอาญาและจะพิจารณาโทษหนัก” โดยการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นมากที่สุดจ.อุบลราชธานีร้อยละ 28 5.)ศาลขาดล่ามแปลภาษาถิ่นเช่น ภาษามาลายู หรือ ภาษาปกากะญอ โดยบางกรณีเมื่อศาลไม่มีล่ามจดทะเบียนซึ่งมีความรู้และเป็นกลางประจำศาลก็ใช้นักโทษ แม่บ้าน หรือจำเลยในการช่วยแปล ทำให้ไม่มีหลักประกันได้ว่าสิ่งที่จำเลยต้องการอธิบายจะสื่อออกมาได้ตรงความหมายหรือไม่ และ6. อัยการและทนายฝ่ายโจทก์มีความใส่ใจในการพิจารณาคดีอยู่ที่ระดับร้อยละ 43-62 โดยมักทำกิจกรรมอื่นขณะพิจารณาคดีเช่น เล่นโทรศัพท์มือถือ เดินเข้าออกห้องพิจารณา ซึ่งกรณีปัญหาทั้งหลายนี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในงานเดียวกันมีการจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง‘คดีสิทธิมนุษยชน กรณีการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม’ โดย นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงประเด็นนำเสนอในผลการวิจัยว่า ศาลพร้อมน้อมรับและนำข้อติต่างๆมาแก้ไข สำหรับประเด็นการใช้โทรศัพท์มือถือในระหว่างการพิจารณาคดีนั้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจะออกหนังสือเวียนห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารในห้องพิจารณาคดีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสำหรับประเด็นการขาดล่ามผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นในการพิจารณาคดีนั้นเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบแก้ไขต่อไปเนื่องจากขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 ซึ่งศาลต้องจัดหาล่ามไว้ให้พร้อมในการพิจารณาคดี
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่าสังคมไทยปัจจุบันอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านความต้องการด้านความเป็นธรรม โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ประชาชนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม คือ การถูกละเมิดสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนเข้ามายังกสม.มากที่สุดถึงร้อยละ 50-60 โดยเฉพาะคดีเรื่องที่ดิน ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 ให้สิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากรอย่างชอบธรรม แต่พบว่าหน่วยงานรัฐเพิกเฉยต่อข้อบัญญัตินี้ โดยยึดอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานตนเป็นใหญ่ ประกาศเขตป่าทับที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่มาก่อน
ขณะที่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการกระจายที่ทำกินของเกษตรกรยากจนขาดที่ทำกิน ซึ่งปัจจุบันมีมากราว2 ล้านครอบครัว ยังนำไปสู่การถูกคุกคามด้านชีวิตและความปลอดภัยจากฝีมือของนายทุนคู่ขัดแย้งและหน่วยงานรัฐที่จัดการปัญหาไม่ได้ ขณะที่รัฐบาลเองก็คุกคามประชาชนด้านสิทธิพลเมืองและการเมืองตามด้วยการใช้กฎหมายละเมิดสิทธิ เช่น การใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือ ม.112 โดยไม่เป็นธรรม หรือ แม้กระทั่งการเตรียมออกกฎหมายปรองดองที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้นเพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ด้านนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ สภาทนายความ ในฐานะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ปัจจุบันการสละอำนาจการจัดการทรัพยากรของรัฐบาลให้แก่วิสาหกิจผูกขาดและเอกชนในรูปของสัมปทาน เช่น สัมปทานแร่ เส้นทางคมนาคม หรือคลื่นความถี่ ทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรมากขึ้น ขณะที่ผู้พิพากษาก็ไม่กล้าตัดสินคดีโดยยึดหลักสิทธิชุมชนตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง โดยอ้างว่าหลักการดังกล่าวยังไม่ชัดเจนเพราะยังไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับ ดังนั้นสังคมจึงควรเรียกร้องให้ศาลมีความกล้าหาญใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีควบคู่กับกฎหมายลูกของหน่วยงานต่างๆ
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)กล่าวปิดท้ายว่า หากพิจารณาตามตัวกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมไทยสามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ดีพอสมควร แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่กลับละเมิดสิทธินั้นบ่อยครั้งด้วยด้วยความไม่เข้าใจในคุณค่าของหลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปกฎหมายจึงต้องทำพร้อมกัน 3 ประการ คือ ปฏิรูปตัวบทกฎหมายให้สมบูรณ์ขึ้นอีกเล็กน้อย, เน้นปฏิรูปคนที่บังคับใช้กฎหมาย และปฏิรูปความคิดของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมให้เข้าใจหลักกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง โดยควรปรับระบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ให้อยู่บนพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญมากขึ้น