ห่วงเกษตรกรรายย่อยล้ม หนุนเร่งสร้างระบบเตือนภัยวิกฤติอาหาร
สกว.ชี้วาระชาติด้านความมั่นคงอาหารไม่คืบ แนวโน้มเกษตรกรรายย่อยล้ม-รายใหญ่แปลงเป็นธุรกิจข้ามชาติ ฐานทรัพยากรท้องถิ่นอ่อนแอ-ขยายความยากจน หนุนเร่งวิจัยตอบโจทย์ชุมชนอยู่รอด-ครัวไทยสู่ครัวโลก
วันที่ 27 พ.ค. 56 ที่โรงแรมเซ็นจูรีปาร์ค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดประชุม “ทิศทางการวิจัยเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารฐานชุมชนจากภูสู่ทะเล” โดยศ. นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย กล่าวว่าแม้รัฐบาลจะกำหนดวาระชาติเรื่องความมั่นคงทางอาหารผ่านรูปแบบคณะกรรมการ แต่นโยบายระดับท้องถิ่นยังไม่สอดคล้องเชื่อมโยงกัน ดังนั้นงานวิจัยระดับชุมชนอาจจะต้องตั้งโจทย์ใหม่เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้โลกกำลังต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางทางโภชนาการและสุขภาพมากขึ้น
นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวอีกว่าอยากให้มีการรวมกลุ่มสหกรณ์ไทยที่เข้มแข็งมากขึ้น ลดการสูญเสียอาหารหลังการผลิตลดขยะจากอาหารเหลือทิ้ง นอกจากนี้ต้องมีระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศและพัฒนาระบบเตือนภัยด้านอาหาร วิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารชุมชน ต้องทำให้เกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มั่นคง ส่งเสริมสมาร์ทฟาร์เมอร์ โดยเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเพื่อความอยู่รอดและต่อยอดผลผลิตเพิ่มมูลค่า รวมถึงส่งเสริมสุขภาพในชุมชนอย่างบูรณาการ ตลอดจนหาแนวทางการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์อาหารไทยระดับพรีเมียมเพื่อตอบโจทย์ครัวไทยสู่ครัวโลกตามนโยบายรัฐบาล
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่าขณะนี้ฐานทรัพยากรอาหารชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจนนำไปสู่ภาวะวิกฤติ เนื่องจากมีการแย่งพื้นที่ทางการเกษตร ป่าชุมชนซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นก็ลดลง การเข้าถึงแหล่งอาหารยากลำบากมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงนโยบายระดับชาติและความมั่นคงอาหารทุกระดับเพื่อแก้ไขปัญหา
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ จากสถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่าภาวะคุกคามต่อความมั่นคงอาหารโดยภาพรวมที่สำคัญคือความรุนแรงของสภาพการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศโลก ซึ่งจะนำไปสู่ความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ นำมาซึ่งความเสี่ยงเป็นทวีคูณต่อการผลิตทางการเกษตร ทั้งด้านน้ำท่วมฝนแล้ง ส่วนปัญหาระดับท้องถิ่นได้แก่ 1.ทุนทางสังคมและพลังความร่วมมือของคนในท้องถิ่นหดหายไป 2.เกษตรกรเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยและขาดแคลนแรงงานในท้องถิ่น กระทบเกษตรครัวเรือน บั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชม 3.คนในท้องถิ่นพึ่งกลไกตลาดมากขึ้น ทำให้ความหลากหลายของพืชท้องถิ่นลดลง 4.เกษตรกรรายย่อยขาดความรู้ในการจัดการ 5. ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติขยายตัวในวงกว้างกระทบห่วงโซ่อาหาร
รศ.สมพร กล่าวอีกว่าการขับเคลื่อนนโยบายความมั่นคงอาหารควรหลอมรวมนโยบายเกษตร โดยลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทาน ขยายหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการใช้ปัจจัยภายในครัวเรือนให้มากที่สุด วิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร การจัดหาและการคุ้มครองการถือครองที่ดิน จัดสินเชื่อเกษตร ขยายทักษะการจัดการไร่นาให้กับเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงและการจัดการเชิงธุรกิจฟาร์ม ปรับปรุงโครงสร้างตลาดให้เป็นธรรมทั้งตลาดภายในและส่งออก ปรับปรุงตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ขณะที่ด้านราคาและรายได้ ประกอบด้วย การพยุงราคาหรือประกันราคา การสร้างเสถียรภาพราคา การประกันรายได้ การรับจำนำ และการอุดหนุนปัจจัยการผลิต
“ที่น่าห่วงคือเกษตรรายย่อยและครัวเรือนท้องถิ่น ทั้งการก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการจัดการ การผลิตที่ขาดความเข้าใจถึงผู้บริโภค ไม่ทันตอบสนองของกลไกการตลาดสมัยใหม่ ผลิตสินค้าโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานการค้าใหม่ทำให้ไม่ได้ราคา การผลิตรายเล็กรายน้อยทำให้การเข้าถึงตลาดสมัยใหม่ได้ยากและจำกัด ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อภาวะล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยที่ปรับตัวไม่ได้ แต่รายใหญ่จะกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรและเก็งกำไร ธุรกิจอาหารขนาดใหญ่จะขยายตัวและปรับตัวเป็นธุรกิจข้ามชาติ ความมั่นคงอาหารครัวเรือนขนาดเล็กในชนบทจะสั่นคลอนและเกิดการขยายตัวของความยากจน” .
ภาพประกอบ : Green Peace