ถอดปมม็อบชาวบ้าน ‘พีมูฟ' บาดแผลการพัฒนากับสัญญาแก้ปัญหาของรัฐ!
ยุติ 18วันม็อบชาวบ้านในนาม 'พีมูฟ'ที่เรียกร้องการแก้ปัญหาต่างๆอันเรื้อรังผ่านมาหลายรัฐบาล วันนี้กว่า 20ปี บาดแผลจากการพัฒนาที่รัฐบาลรับปากเยียวยาจะเป็นคำสัญญาที่ว่างเปล่าอีกหรือไม่?
'จากม็อบสมัชชาคนจน ถึงพีมูฟ' ปัญหาเดิมที่ถูกดอง
ปิดฉากไปแล้วสำหรับการชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) หรือ ‘พีมูฟ’ที่ยาวนานถึง 18 วัน นับเป็นม็อบชาวบ้านที่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐที่ชุมนุมยาวนานที่สุดในรอบหลายปีมานี้ ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก หากไม่นับม็อบการเมืองขั้วสีต่างๆที่เคยปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลานับเดือน
พีมูฟ คือ การรวมตัวของเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 500 กรณีปัญหา เช่น สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและภาคใต้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายเกษตรพันธะสัญญา สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล เครือข่ายสถานะสิทธิบุคคล ฯลฯ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่สืบทอดมาแต่ครั้งการเคลื่อนไหวของม็อบ ‘สมัชชาคนจน’ ในปี 2538 เช่น ปัญหา ผลกระทบจากเขื่อนปากมูลที่ยังค้างคามาจนทุกวันนี้
6 พ.ค. 56 เป็นวันดีเดย์ที่ชาวบ้านที่เดือดร้อนทั่วทุกสารทิศราว 3,000 คน หอบข้าวของมาตั้งม็อบถาวรข้างทำเนียบรัฐบาล นับเป็นการประท้วงครั้งที่ 8 ในช่วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับตั้งแต่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยปัจจุบันมีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯเป็นประธานฯ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้น 10 คณะเพื่อใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหารายกลุ่มปัญหา
อย่างไรก็ดีกลไกดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ พีมูฟจึงออกมาเคลื่อนไหวใหญ่ โดยให้เหตุผล3 ประการ คือ 1.การที่รัฐบาลไม่ทําตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาด้านการกระจายการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเป็นธรรม 2.ปัญหาหลายเรื่องที่พีมูฟเรียกร้องและได้ข้อยุติแล้ว ไม่สามารถดําเนินการต่อ และ3.กลไกของคณะอนุกรรมการฯไม่ทําหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา
โดยมีประเด็นเรียกร้องเร่งด่วน 4 เรื่องดังนี้
‘ธนาคารที่ดิน’ แป้ก! เพราะเปลี่ยนรัฐบาล?
โครงการ ‘ธนาคารที่ดิน’ ริเริ่มในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีการจัดตั้งสถาบันกลาง คือ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เพื่อจัดซื้อที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ยากจน เริ่มต้นจากพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชนภาคเหนือ ด้วยงบประมาณ 167 ล้านบาท อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักเพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยุบสภาฯไปก่อน ขณะที่การแต่งตั้งคณะกรรมบริหารการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินยังไม่แล้วเสร็จ และเมื่อรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ามารับช่วงต่อก็นิ่งเฉยต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ขัดต่อนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาในการเดินหน้าธนาคารที่ดิน โดยหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตการดองโครงการว่าเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองเนื่องจากธนาคารที่ดินเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงหนึ่งของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
ช่องว่างการสานต่อโครงการธนาคารที่ดินระหว่างรัฐบาลจึงทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่นำร่องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเจ้าของที่ดิน เพราะธนาคารที่ดินซึ่งสร้างขึ้นเพียงแต่เสานั้นยังขาดเจ้าของบ้านที่จะนำเงินที่มีอยู่ไปจัดซื้อที่ดินได้ พีมูฟจึงเรียกร้องให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินหน้าธนาคารที่ดินเร่งด่วน โดยเสนอว่าหากยังไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารธนาคารที่ดินฯได้ ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้ามาดำเนินการจัดซื้อที่ดินแทนก่อนจนกว่าการแต่งตั้งจะแล้วเสร็จ ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 56 ให้ พอช.ดำเนินการจัดซื้อที่ดินแทนสถาบันธนาคารที่ดินฯ และเมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารธนาคารที่ดินได้ จึงค่อยชำระเงินคืนและถ่ายโอนภารกิจกลับมา....ประเด็นปัญหาเร่งด่วนข้อแรกของพีมูฟจึงยุติ
พื้นที่พิพาท‘โฉนดชุมชน’ปมขัดแย้งรัฐฟ้องไล่ที่ชาวบ้าน
ข้อเรียกร้องต่อมาเพื่อแก้ปัญหาที่ทำกิน คือ การเดินหน้า ‘โฉนดชุมชน’ เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้สิทธิบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตนได้ โดยนโยบายดังกล่าวเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลประชาธิปัตย์อีกเช่นกัน ซึ่งในยุดนั้นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้อนุมัติพื้นที่โฉนดชุมชน 55 แห่ง ส่งมอบพื้นที่ได้ 3 แห่ง รัฐบาลปัจจุบันอนุมัติเพิ่มอีก 6 แห่ง รวมเป็น 61 แห่ง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการส่งมอบพื้นที่ได้ 59 แห่ง ซึ่งปัญหาความล่าช้าส่งมอบพื้นที่ซึ่งถูกคาดเดาว่าเป็นเหตุผลทางการเมืองอีกเช่นเคย เนื่องจากมีความพยายามในยุครัฐบาลปัจจุบันในการเปลี่ยนชื่อโครงการโฉนดชุมชนเป็นชื่ออื่น เพื่อไม่ให้ซ้ำของเก่า?
อย่างไรก็ดีปัญหาดังกล่าวทำให้ชาวบ้านหลายร้อยรายในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการออกโฉนดชุมชนต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากหน่วยงานรัฐทั้งคดีแพ่งและอาญา เช่น กรณีล่าสุดของพ่อใหญ่เด่น คำแหล้ ชาวบ้านต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งเพิ่งได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 56 หลังถูกข้อหาบุกรุกสวนป่าโคกยาวของกรมป่าไม้ในพื้นที่ที่ตนทำกินมาก่อนและเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการออกโฉนดชุมชน
ทั้งนี้พีมูฟได้เรียร้องให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมติคุ้มครองประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการออกโฉนดชุมชนโดยเร็ว แต่จนบัดนี้ครม.ก็ยังผัดผ่อนไม่พิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 56 โดยอ้างว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อนซึ่งติดขัดด้วยข้อกฎหมาย อย่างไรก็ดีตัวแทนรัฐบาลยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาในการประชุมครม.วันที่ 28 พ.ค.56 ส่วนการเร่งรัดให้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ที่เหลือนั้นอยู่ในกระบวนการทำงานของคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ....ดังนั้นจึงต้องจับตาดูต่อไปว่าการเดินหน้าเรื่องโฉนดชุมชนจะออกมาในรูปแบบใด
24 ปี 16 รัฐบาล กับคำสัญญาเลื่อนลอยแก้ปัญหา ‘เขื่อนปากมูล’
กรณี ‘เขื่อนปากมูล’ นับเป็นข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาผลกระทบจากเขื่อน(สร้างเมื่อปี 2534)ที่ยาวนานยืดเยื้อมากว่า 24 ปี 16 รัฐบาล 13 นายกรัฐมนตรี และ 45 มติครม. เนื่องจากทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลกระบวนการแก้ปัญหาทุกอย่างจะเริ่มต้นใหม่ที่การเริ่มศึกษาผลกระทบ มีมติแก้ไขและล้มเลิกไปเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล โดยที่ผ่านมาชาวบ้านปากมูล จ.อุบลราชธานี ได้พยายามเรียกร้องให้เปิดเขื่อนเป็นการถาวรเนื่องจากการปิดเขื่อนโดยอ้างการผลิตไฟฟ้าไม่คุ้มค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์ปลา สัตว์น้ำ และวิถีทำกินของชุมชนที่ต้องสูญเสียไป โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเคยทำวิจัยได้ผลว่า ผลเสียที่เกิดจากมีเขื่อนทำให้ชาวบ้านกว่า 6,000 ครัวเรือน ต้องสูญเสียรายได้จากการประมงในพื้นที่ไปปีละ 119 ล้านบาท ขณะที่รายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกระบุว่า ความคุ้มทุนเชิงเศรษฐศาสตร์ในการใช้เขื่อนผลิตไฟฟ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยผลิตไฟได้เพียง20.81 เมกะวัตต์ต่อปีจากเป้าที่ตั้งไว้ถึง 150 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ใช้ได้แม้เพียงวันเดียว!
ทั้งนี้พีมูฟได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติครม.ในอดีตที่แก้ปัญหาเขื่อนปากมูลทั้งหมดซึ่งล้มเหลว และมีมติเปิดเขื่อนถาวร พร้อมตั้งคณะกรรมการเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลโดยตรงที่สามารถทำงานต่อเนื่องได้แม้ผลัดเปลี่ยนรัฐบาล .....ข้อเรียกร้องกรณีเขื่อนปากมูลจึงยังคาราคาซังต่อไป แต่รัฐบาลรับปากให้ชาวบ้านมั่นใจว่าจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในวันที่ 28 พ.ค. นี้
‘บ้านมั่นคง’ แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง-ชนบท
โครงการบ้านมั่นคงริเริ่มสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามมติครม. 14 ม.ค. 2546 เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้คนจนเมืองและชนบท โดยให้ชุมชนกู้เงินสร้างบ้านด้วยตนเองในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ถือเป็นโครงการชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณโครงการหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในรัฐบาลปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงมีท่าทีถูกย้ายจากความรับผิดชอบของพอช.ไปอยู่กับการเคหะซึ่งจะออกมาในรูปแบบของบ้านเอื้ออาทรที่คนจนซึ่งไม่มีหลักฐานเงินเดือนไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่สุดท้ายจาการเรียกร้องของประชาชนแนวทางดังกล่าวก็ยกเลิกไป ทว่ายังมีการพิจารณาตัดงบประมาณในโครงการบ้านมั่นคงปี 57 ที่เสนอขอวงเงิน 2,400 ล้านบาทเหลือ 174 ล้านบาทด้วย
แต่ประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่พีมูฟโดยเครือข่ายสลัมสี่ภาคเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขคือ กรณีปัญหาการอนุญาตก่อสร้างบ้านมั่นคง ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองไม่อนุญาตให้สร้างหากไม่เว้นระยะห่างพื้นที่ว่างจากตัวบ้าน 2 เมตรตามกฎการก่อสร้างอาคารเอกชน โดยตีความว่าโครงการบ้านมั่นคงไม่ใช่โครงการของรัฐที่จะได้รับข้อยกเว้นดังกล่าว ซึ่งกระทบต่อชาวบ้านยากจนซึ่งหลายครอบครัวมีพื้นที่สร้างบ้านเพียง 8-10 เมตร อย่างไรก็ดีภายหลังพีมูฟเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงตีความว่าบ้านมั่นคงเป็นโครงการของรัฐที่ได้รับข้อยกเว้นเรื่องระยะห่างจากตัวอาคารได้ .....ประเด็นการอนุญาตก่อสร้างบ้านมั่นคงจึงยุติไป
‘ให้เลิกม็อบทำไม่ได้ เมื่อสังคมไทยยังเหลื่อมล้ำ’ บทสรุปพลังขับเคลื่อนประชาชนสู่การรับรู้ของภาครัฐ?
การชุมนุมกว่าครึ่งเดือนของพีมูฟในครั้งนี้ แม้จะเคยถูกรัฐบาลเบี้ยวสัญญาไม่นำประเด็นปัญหาเร่งด้วย 4 เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.มาแล้ว แต่กลไกการปักหลักกดดันยาวนานดูจะได้ผลก้าวหน้ากว่าการออกมาเรียกร้องเป็นครั้งคราวกว่าการประท้วง 7 ครั้งที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมีข้อยุติในการแก้ปัญหาเรื่องธนาคารที่ดินและบ้านมั่นคง และมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกับพีมูฟ เพื่อให้คำมั่นแก้ปัญหาเร่งด่วนอีก 2 เรื่อง คือ เขื่อนปากมูลและโฉนดชุมชนต่อ พร้อมผลักดันให้การประชุมของคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟทั้ง 10 ชุดกรณีปัญหาอื่นๆเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เราจึงได้เห็นปรากฎการณ์ที่ข้าราชการทั้งหลายในอนุกรรมการฯ 10 คณะลุกขึ้นมาเดินหน้าประชุมอย่างว่องไวตามคำสั่งนายกฯในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาของการชุมนุมไม่เว้นแม้วันหยุดราชการ ซึ่งผิดกับท่าทีที่เคยเฉยชาและบางคณะไม่เคยประชุมมาถึง 2 ปี
หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าท่าทีที่ดูจริงจังของรัฐบาลนี้ในการแก้ปัญหาให้พีมูฟอาจเป็นเพราะฐานเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาลเพื่อไทยอยู่ในเครือข่ายพีมูฟ ขณะที่นายกฤษกร ศิลารักษ์ หนึ่งในแกนนำพีมูฟยืนยันว่าการม็อบครั้งนี้ไม่มีสีและไม่เลือกข้างรัฐบาลใด โดยยอมยุติการชุมนุมเพื่อให้โอกาสรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้านอย่างสันติ และแน่นอนว่าพีมูฟจะกลับมาเคลื่อนไหวใหม่หากรัฐบาลไม่ทำตามสัญญา
โดยเชื่อว่ากระบวนการ ‘ม็อบ’จะยังคงมีต่อไป เพราะเป็นแนวทางเดียวที่ชาวบ้านจะส่งสารถึงรัฐบาลกลางโดยตรงได้ท่ามกลางสังคมที่เหลื่อมล้ำ และตราบเท่าที่ยังไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การแก้ไขกฎหมาย โดยขณะนี้พีมูฟอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า กฎหมายโฉนดชุมชนและกฎหมายธนาคารที่ดิน โดยตั้งเป้าล่ารายชื่อประชาชนให้ได้ 1 ล้านรายชื่อเพื่อให้กระจายสิทธิทำกินที่เท่าเทียมแก่ชาวบ้าน-เกษตรกรที่ยากจนมีหลักประกันมั่นคงต่อไป
..................
เวลานี้คงต้องจับตาดูว่าสัญญาที่รัฐบาลรับปากชาวบ้านแก้ปัญหา จะเป็นเพียงสัญญาการเมืองหรือคำมั่นที่จริงใจ เริ่มจากประเด็นปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลและโฉนดชุมชนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในวันที่ 28 พ.ค. นี้ว่าจะได้ผลออกมาตามที่ชาวบ้านเรียกร้องหรือไม่ จะผัดผ่อนไม่พิจารณาต่อไป หรือ จะแปลงสารไปเป็นอย่างอื่น.
ที่มาภาพ ::: ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ https://www.facebook.com/profile.php?id=100003396707034