ตรวจแนวรบไซเบอร์ชายแดนใต้ (1) จับตาภัยออนไลน์กระทบความมั่นคง
ห้วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสคัดค้านแนวคิดการ "ล้วงลึก" และ "ตรวจสอบ" ข้อมูลที่สื่อสารผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
กระแสต้านแรงเพราะแอพพลิเคชั่นตัวนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ใช้สมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะวัยรุ่น หนุ่มสาว คนทำงาน ไปกระทั่งลูกเด็กเล็กแดง และคนแก่ที่เริ่มหัดใช้สมาร์ทโฟน
ประกอบกับนายตำรวจระดับสูงจาก ปอท.เคยแสดงทัศนะว่าแค่ "กดไลค์" หรือ "กดแชร์" ข้อความที่เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงก็เป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว ยิ่งทำให้การขยับตัวของ บก.ปอท.ถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจจากประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ากระแสต้านดังกล่าวนั้นเป็นการมองในมิติของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นหลัก ในขณะที่หน่วยงานรัฐเพ่งมองในด้าน "ความมั่นคง" ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการเมืองอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการทหาร วัฒนธรรม และสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ฉะนั้นการหา "จุดสมดุล" หรือ "ลงตัว" ที่สุดระหว่างเสรีภาพและการเคารพสิทธิส่วนบุคคล กับการรักษาความมั่นคงของชาติ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการให้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วน
ที่ผ่านมามีรายงานการพิจารณาศึกษาที่น่าสนใจ เรื่อง "สื่อสังคมออนไลน์กับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ" จัดทำโดยคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสื่อสังคมออนไลน์กับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ในคณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา ซึ่งมี พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง เป็นประธานคณะอนุ กมธ. รายงานฉบับนี้ได้ตีแผ่สภาพปัญหาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่กระทบต่อความมั่นคงและเสนอแนวทางแก้ไขเอาไว้อย่างครอบคลุม
ทั้งนี้ รายงานได้แบ่งลักษณะเนื้อหาที่ถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติออกเป็น 4 ประเด็น พร้อมปัญหาที่พบ กล่าวคือ
1.ความมั่นคงทางด้านการเมือง ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีปัญหาด้านความไม่เชื่อมั่นในสถาบันทางการเมืองและเกิดความแตกแยกระหว่างคน ในชาติสูง โดยกลุ่มต่างๆ ได้ใช้ช่องทางของสื่อสังคมออนไลน์ปลุกเร้ามวลชนเพื่อการตอบโต้และบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม หรือสั่นคลอนสถาบันทางด้านความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งการโพสต์ข้อมูลขึ้่นเว็บไซต์ยูทิวบ์ การใช้เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และอื่นๆ
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในส่วนของ "เนื้อหา" ที่มุ่งทำลายล้างสถาบันทางการเมืองนั้น แม้ในระดับนโยบาย คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้พยายามติดตามตอบโต้และยื่นเรื่องขออำนาจศาลสั่งปิดกั้นเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ แล้วก็ตาม แต่ก็ทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนหน่วยงานหรือองค์กรด้านความมั่นคงก็ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ก็กระทำได้เพียงแค่การติดตามตรวจสอบและรายงานต่อไอซีที
เหตุผลสำคัญที่หน่วยงานหรือองค์กรระดับปฏิบัติการไม่สามารถดำเนินการได้โดยตรง เพราะขาดกฎหมายรองรับ และยังต้องดำรงความเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัดในฐานะองค์กรของรัฐด้วย
2.ความมั่นคงทางด้านสังคม สื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามาเป็นตัวเร่งสำคัญในเชิงลบต่อภาพลักษณ์ความสงบเรียบร้อยและวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ จากการศึกษาได้มีการค้นพบด้านเนื้อหาของความมั่นคงทางด้านสังคม เช่น การเผยแพร่ภาพคลิปอนาจารขัดต่อศีลธรรมอันดี การเปิดขายบริการทางเพศผ่านระบบออนไลน์ การพนันออนไลน์ (โต๊ะพนันฟุตบอล) การเผยแพร่วิธีการเสพยาเสพติดทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น โดยนำเสนอผ่านยูทิวบ์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และเว็บบอร์ดต่างๆ
สำหรับการป้องกันและปราบปรามก็พบกับปัญหาเช่นเดียวกับประเด็นความมั่นคงทางการเมือง อีกทั้งสื่อสังคมออนไลน์ที่กระทำผิดกฎหมายมักมีบริษัทผู้ให้บริการอยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มพนันออนไลน์ ปราบอย่างไรก็ไม่หมด และมีเปิดบริการประเภทใหม่ๆ อยู่เสมอ
3.ความมั่นคงทางด้านการทหาร เทคโนโลยีสารสนเทศที่กองทัพต้องเข้าไปเกี่ยวพันอาจกลายเป็นช่องทางให้ "ผู้ประสงค์ร้าย" สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาความปลอดภัยของกองทัพ และอาจเป็นช่องทางรอคอยการโจมตีระบบบริหารจัดการของกองทัพในห้วงเวลาที่ เหมาะสมเพื่อพัฒนาไปสู่การทำ "สงครามไซเบอร์" (Cyber warfare) ได้
นอกจากนั้นยังสามารถก่อผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางทหาร เช่น การแพร่ภาพคลิปที่ไม่เหมาะสมของทหาร ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเผยแพร่รูปภาพเฉพาะความรุนแรง การใช้อาวุธในสถานการณ์ก่อความไม่สงบในเมืองห้วงที่ผ่านมา (เม.ย.ถึง พ.ค.2553) การแพร่คลิปการสูญเสียของทหารเพื่อลดขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน (กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
สำหรับแนวทางหรือมาตรการป้องกันนั้น ในระดับสงครามไซเบอร์ จากข้อค้นพบของคณะอนุ กมธ.ปรากฏว่า ทั้งกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพยังไม่มีความพร้อมเพื่อเตรียมเข้าสู่การทำสงครามไซเบอร์ ทั้งทางด้านบุคลากร การจัดองค์กร องค์ความรู้ งบประมาณ และเทคโนโลยีใหม่ๆ
4.ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื้อหาสำคัญในการนำเสนอทางสื่อสังคมออนไลน์ก็คือ การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาของทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายก่อความไม่สงบ การทำลายหรือโจมตีภาพลักษณ์ซึ่งกันและกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานด้านความมั่นคง การปลุกเร้าอุดมการณ์เพื่อการแบ่งแยกดินแดน การชี้แนะหรือตัดตอนประวัติศาสตร์เฉพาะส่วนเพื่อประโยชน์ในการโฆษณาชวนเชื่อ ของขบวนการก่อความไม่สงบ
จากข้อค้นพบของหน่วยงานด้านความมั่นคงต่อการแก้ปัญหาในมิติของสื่อสังคมออนไลน์ มีลักษณะของการเผยแพร่ในรูปของเว็บไซต์เป็นหลัก เช่น เว็บไซต์ของกลุ่มพูโล นอกจากนี้ยังกระทำในรูปแบบของคลิปที่อัพโหลดบนเว็บไซต์ยูทิวบ์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และเว็บบอร์ดต่างๆ
สำหรับแนวทางการแก้ไข พบว่า หน่วยงานความมั่นคงไม่ได้ให้ความสนใจหรือให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในแนวรบทางด้านสื่อสังคมออนไลน์มากเท่าที่ควร กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานเฉพาะในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการเพื่อการบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่ชัดเจน
รายงานฉบับเดียวกัน ยังระบุถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้ให้เป็นภัยและอันตรายต่อความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรงในอนาคต ได้แก่
1.นโยบายของรัฐหรือหน่วยงานที่กำลังดำเนินการในการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ มีการใช้ Free WIFI (เครือข่ายไร้สายในระบบอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการเข้าถึงฟรี) บางพื้นที่หรือทั่วประเทศ กรณีนี้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากจะเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญแก่ "ผู้ประสงค์ร้าย" สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ระบบธนาคาร ข้อมูลทางการแพทย์ การจราจรทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ รวมไปถึงระบบข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ โดยใช้การแสดงตัวตนลวงเข้าไปสร้างความปั่นป่วนเฉพาะบางจุดหรือทั้งระบบได้ และนอกจากไม่ต้องระบุตัวตนแล้ว อาจจะยืมใช้ชื่อบุคคลอื่นกระทำความผิดก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถติดตามตัวเอาผิดได้
2.การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของ "ผู้ประสงค์ร้าย" ที่มีเป้าหมายเพื่อการทำลายสถาบันหลักของชาติบ้านเมือง โดยที่หน่วยงานรับผิดชอบระดับกระทรวงคือ ไอซีที และหน่วยงานความมั่นคงยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด ยกตัวอย่างเช่น ไม่สามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ทำการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพหมิ่นสถาบันเบื้องสูงขึ้นบนยูทิวบ์ได้
สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นอันตราย เพราะถ้าในประเทศยังไม่สามารถหยุดยั้งได้แล้ว จะก่อให้เกิดการทำลายสถาบันหลักอื่นๆ ของชาติเพื่อสร้างความอ่อนแอของระบบความมั่นคงของประเทศต่อไป และจะเป็นแบบอย่างของชาติหรือประเทศอื่นที่ไม่หวังดี โดยอาจจะใช้วิธีการเดียวกันนี้เพื่อลดศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยให้ลดต่ำลงไปก็เป็นไปได้ ในลักษณะของ "สงครามตัวแทน" (Proxy War) และการปลุกปั่นให้มวลชนก่อการใดอันเป็นภัยคุกความต่อความมั่นคงขึ้นมาได้
3.ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือผ่านอินเทอร์เน็ต จะเป็นจุดอันตรายในมุมมองของหน่วยงานความมั่นคง กรณีที่บริษัทผู้ให้บริการบัตรเติมเงิน (Pre Paid) ซึ่งจำหน่ายหมายเลขโทรศัพท์โดยไม่มีการจัดทำหลักฐานของผู้ซื้ออย่างละเอียด จะเป็นช่องทางให้ "ผู้ประสงค์ร้าย" ใช้เป็นช่องว่างสำหรับการกระทำความผิดด้านความมั่นคงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปใช้เพื่อก่อเหตุร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ด้วยการจุดระเบิด
4.เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงสูงสุดในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทุกระบบในการโจมตีต่อชาติใดชาติหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยก็หนีภัยคุกคามนี้ไปไม่พ้น ทั้งกรณีที่ถูกโจมตีโดยตรงหรืออาจใช้เป็นฐานของประเทศอื่นในการโจมตีไป ประเทศอื่น ซึ่งออกมาในรูปของ "สงครามไซเบอร์"
แนะวางระบบ "ด่านตรวจ" ดักจับข้อมูลออนไลน์
รายงานของคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาสื่อสังคมออนไลน์กับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ได้สรุปข้อเสนอแนะเพื่อความมั่นคงทางด้านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้
1.การจัดองค์กรรับผิดชอบ ควรมีการบูรณาการองค์กรและหน่วยงานในระดับนโยบาย ระหว่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับกระทรวงไอซีที เพื่อมุ่งกำกับดูแลงานทางด้านนโยบายและแผนแม่บทในเรื่องสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อความมั่นคงของชาติ
ส่วนในระดับกระทรวงกลาโหม ควรมีการบูรณาการของหน่วยงานระหว่างกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท.) อาจจะออกมาเป็นรูปของ "การจัดเฉพาะกิจ" ของหน่วยงานสื่อสังคมออนไลน์เพื่อความมั่นคงก็ได้
ขณะเดียวกันก็ควรมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานความมั่นคงกับบริษัทที่รับบริการอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ เช่น ทีโอที หรือ แคท เทเลคอม จากนั้นต้องบูรณาการภาพรวมทั้ง 3 ระดับ
2.การบริหารบุคลากร ควรมีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของบุคลากรเฉพาะทางระหว่างหน่วยงานความมั่นคงกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตของประเทศ เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าเป้าหมายทางด้านความมั่นคงกับเป้าหมายในเชิงธุรกิจนั้นสามารถไปด้วยกันได้ กรณีที่หน่วยงานรัฐขาดบุคลากรที่มีคุณภาพในการทำงานด้านความมั่นคง อาจพิจารณาใช้ out source และดำเนินงานในลักษณะลับ
3.การบริหารงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในเรื่องสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งความรู้ด้านกระบวนการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างถูกต้อง สร้างสรรค์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพิ่มมากขึ้น และควรมีการจัดสรรงบประมาณเป็นกรณีพิเศษเพื่อการจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมทั้งระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลและระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศของหน่วยงานความมั่นคงให้มากยิ่งขึ้น
4.ควรให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) โดยเฉพาะในมาตราที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อความมั่นคง รวมทั้งการพยายามผลักดันให้ กสทช.ออกประกาศหรือระเบียบที่ใช้ครอบคลุมประเด็นความมั่นคงให้มากที่สุด และให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับบริษัทเอกชนที่ละเมิดหรือไม่ให้ความร่วมมือจากกรณีของความมั่นคง
ควรแสวงหาช่องทางการดำเนินการตามกฎหมายภายในหรือภายนอกประเทศ หรือความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติที่ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อป้องกันมิให้ "ผู้ประสงค์ร้าย" ต่อสถาบันหลักที่เป็นความมั่นคงของชาติมีการดำเนินการล่วงละเมิดหรือทำลาย ภาพลักษณ์ได้อย่างเสรี
สำหรับกฎหมายที่เหมาะสมในการพิสูจน์หาตัวตนผู้กระทำความผิดจริง ตามหลักสากลควรริเริ่มนำแนวคิดระบบการ "ตั้งด่านตรวจ" หรือ Lawful Interception มาใช้ ซึ่งหมายถึงการลักลอบดักข้อมูลการสื่อสารโทรคมนาคมโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานที่มีอำนาจควบคุมหรือบริหาร และหน่วยสืบข่าวกรองที่สอดคล้องกฎหมายภายใต้กฎหมายบางระบบ
5.รัฐบาลควรมีมาตรการและแนวทางในการป้องกันการล่วงละเมิดสิทธิบุคคลอื่น และการเจาะข้อมูลขององค์กรและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง โดยให้มีการจัด "องค์กรเฝ้าติดตาม" (monitor) การจราจรทางการสื่อสารออนไลน์ที่ชัดเจน และจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อรับผิดชอบระบบ Lawful Interception ในการช่วยตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ในอินเทอร์เน็ตด้วย
6.หามาตรการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และกำหนดกฎเกณฑ์การใช้บริการมือถือระบบเติมเงินให้มีการแสดงตัวตนด้วยการยื่นแสดงบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านอย่างถูก ต้องชัดเจน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หมายเหตุ :
1 วิศิษฎ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ เป็นผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมเครือเนชั่น
2 รายงานชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 2 ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 ส.ค.2556