ตรวจแถวผู้สมัคร ส.ส.ชายแดนใต้ "ปชป.-เพื่อไทย-มาตุภูมิ" ลุ้นชิง 11 เก้าอี้
สมรภูมิการเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แม้จะมีเก้าอี้ ส.ส.ให้เบียดชิงกันเพียง 11 ที่นั่ง แต่เนื่องจากการเลือกตั้งใหญ่เที่ยวนี้มีเดิมพันสูงสุด โดยเฉพาะระหว่างพรรคประชาธิปัตย์แชมป์เก่ากับพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ท้าชิง เพื่อไขว่คว้าอำนาจรัฐในการบริหารประเทศท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งแบ่งสีแบ่งฝ่าย ทำให้เก้าอี้ผู้แทนราษฎรทุกที่นั่งมีความสำคัญมาก
ยิ่งสถานการณ์ไฟใต้กลายเป็น "วาระแห่งชาติ" ของทุกรัฐบาล แถมยังเป็นทางผ่านของงบประมาณระดับแสนล้าน ประกอบกับการสร้างกระแสเลือกตั้งผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษขององค์กรภาคประชาสังคมบางกลุ่มซึ่งไป "สอดคล้อง-เข้าทาง" กับนโยบายของบางพรรคการเมือง ซึ่งสวนทางกับแนวทางของรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เลือกใช้กลไกของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการดับไฟใต้ ทำให้เดิมพันการเลือกตั้งยิ่งสูงขึ้นไปอีก
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี ส.ส.ได้ 11 คนจากเขตเลือกตั้ง 11 เขต ประกอบด้วย จ.นราธิวาส 4 เขต จ.ปัตตานี 4 เขต และ จ.ยะลา 3 เขต โดยพรรคประชาธิปัตย์ (เบอร์ 10) พรรคเพื่อไทย (เบอร์ 1) พรรคมาตุภูมิ (เบอร์ 26) ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. และน้องใหม่อย่างพรรคประชาธรรม (เบอร์ 7) ของ นายมุคตาร์ กีละ ที่เคยร่วมงานกับ พิเชษฐ์ สถิรชวาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ส่งผู้สมัครครบทั้ง 11 เขต
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (เบอร์ 16) ส่งผู้สมัคร 7 เขต พรรคชาติไทยพัฒนา (เบอร์ 21 อดีตพรรคชาติไทยที่มี นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นผู้นำตัวจริง) ส่งผู้สมัคร 8 เขต และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (เบอร์ 2) ส่งผู้สมัครเพียง 1 เขต คือ พ.ต.ท.เจ๊ะอิสมาแอล เจ๊ะโมง อดีต ส.ส.ค่ายประชาธิปัตย์ที่ตัดสินใจสวมเสื้อตัวใหม่ลงสู้ศึกที่ปัตตานีเขต 4
"ทีมข่าวอิศรา" ตรวจแถวผู้สมัคร ส.ส.รายเขตหลังจากปิดรับสมัคร และวิเคราะห์เทียบฟอร์มในโค้งแรกว่าผู้สมัครายใดจากพรรคไหนมีแนวโน้มจะ "เข้าป้าย" เดินลอยชายเข้าสภาหินอ่อน
ยะลาเขต 2 ชนช้าง-ปชป.ลุ้นเบียด "น้องวันนอร์"
เริ่มจาก จ.ยะลา เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ส่งอดีต ส.ส.คือ นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ลงรักษาพื้นที่เดิม ขณะที่พรรคเพื่อไทยส่ง นายอีรฟาน สุหลง อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ยะลา ลงเบียด แต่เนื่องจากยังใหม่ในสนามใหญ่ จึงน่าจะลุ้นเหนื่อย
ยะลา เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ส่ง นายอับดุการิม เด็งระกีนา อดีต ส.ส.ที่มีฐานเสียงในกลุ่มผู้นำศาสนาและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ลงสู้ศึกหวังโค่น ส.ส.เก่าอย่าง นายซูการ์โน มะทา อดีต ส.ส.ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรและอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงผู้มากบารมี เขตนี้จึงนับเป็นศึกชนช้างที่ต้องตามลุ้นถึงนาทีสุดท้าย
ยะลา เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ส่ง นายณรงค์ ดูดิง ทนายความ ลงสนาม ขณะที่พรรคเพื่อไทยส่ง นายบูราฮานูดิน อุเซ็ง อดีต ส.ส.ลงรักษาป้อมค่าย ถึงนาทีนี้ยังไม่น่ามีอะไรพลิกโผ
"ปัตตานี"สนามเปิด "มาตุภูมิ-ภูมิใจไทย" สอดแทรก
ปัตตานี เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ส่ง นายอันวาร์ สาและ แชมป์เก่าลงรักษาเก้าอี้ โดยมีฐานเสียงสำคัญในกลุ่มคนไทยพุทธ แต่ก็ต้องลุ้นหนักกับพรรคมาตุภูมิที่ส่ง นายสนิท นาแว อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง ซึ่งกำลังมาแรงและได้แรงสนับสนุนจากกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอย่างกว้างขวาง นอกจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ยังต้องเจอศึกหนักกับ นายอรุณ เบ็ญจลักษณ์ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันอย่างภูมิใจไทยส่งเข้าประกวดด้วย โดยนายอรุณมีฐานเสียงอยู่ที่กลุ่มคนชั้นกลาง
ปัตตานี เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ส่ง นายอิสมาแอล เบญอิบรอฮีม อดีต ส.ส.ลงหวังรักษาแชมป์ ซึ่งก็มีแนวโน้มประสบความสำเร็จเพราะคู่แข่งจากพรรคเพื่อไทยคือ นายศรัทธา แวอาลี ยังค่อนข้างโนเนม ที่น่ากลัวกว่าคือ นายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกียา ที่สวมเสื้อมาตุภูมิ คาดว่าเขตนี้จะลุ้นกันสนุก
ปัตตานี เขต 3 เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง นายสมมารถ เจ๊ะนา อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่หันไปสวมแจ็คเก็ตเพื่อไทย กับ นายนิมุคตาร์ วาบา อดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่คราวนี้สะวิงมาอยู่พรรคภูมิใจไทย และมีเสียงสนับสนุนหนาแน่นในกลุ่มผู้นำศาสนา โดยมี นายอนุมัติ ซูสารอ จากพรรคมาตุภูมิเป็นตัวสอดแทรก
ปัตตานี เขต 4 เป็นศึกชนช้างอีกเขตหนึ่ง โดยพรรคเพื่อไทยส่ง นายสุดิน ภูยุทธานนท์ ผู้กว้างขวางและอดีต ส.ส.หลายสมัย ลงชนกับ นายซาตา อาแวกือจิ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขยันลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีอดีต ส.ส.รุ่นเก๋าอย่าง นายมุข สุไลมาน อดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์ลงลุ้นในนามพรรคมาตุภูมิด้วย
สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคชาติไทยเดิม ที่เคยประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งนราธิวาสกับ วัชระ ยาวอหะซัน คราวนี้ลองชิมลางที่ปัตตานีด้วยการส่ง นายมูฮำมัดปาเรซ โลหะสัณห์ นักข่าวคนดัง และอดีตสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) ลงในเขตเลือกตั้งที่ 1 และ นายฮัมกา การี ลงเขตเลือกตั้งที่ 4
นราธิวาสเขต 4 "เจะอามิง โตะตาหยง" ชน "วัชระ ยาวอหะซัน"
สนามเลือกตั้งนราธิวาสนับว่าน่าสนใจไม่แพ้อีก 2 จังหวัด โดยเขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ส่ง นายกูอาเซ็ม กูจินามิง เข้าประกวด แต่ต้องลุ้นหนักเพราะพรรคมาตุภูมิส่งคนดังอย่าง นายไพศาล ตอยิบ ลูกชาย นายอูมา ตอยิบ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นราธิวาส ซึ่งมีฐานเสียงของบิดาคับคั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยใช้บริการ นายภูวเดช เจ๊ฮูเซ็ง แต่โอกาสค่อนข้างริบหรี่
นราธิวาส เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ส่งอดีต ส.ส.หลายสมัยอย่าง นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ลงแข่ง และนาทีนี้หลายฝ่ายยังเชื่อว่าน่าจะ "นอนมา" เพราะมีภาษีดีกว่า ดาโต๊ะสุธิพันธ์ ศรีริกานนท์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยอยู่หลายช่วงตัว
นราธิวาส เขต 3 นายนัจมุดดีน อูมา รองเลขาธิการพรรคมาตุภูมิ อดีต ส.ส.ผูกขาด เที่ยวนี้สวมเสื้อพรรคมาตุภูมิ ลงรักษาเข็มขัดแชมป์ แม้จะมี นายรำรี มามะ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายมุคตาร์ กีละ จากพรรคประชาธรรม และ นายยูโซ๊ะ แวยูโซ๊ะ จากพรรคเพื่อไทยลงทาบบารมี แต่งานนี้ต้องบอกว่าล้มอดีตผู้แทนอย่าง นัจมุดดีน ค่อนข้างยาก
นราธิวาส เขต 4 เป็นศึกชนช้างของจริงในนราธิวาส เพราะเป็นการโคจรมาพบกันระหว่าง นายเจะอามิง โตะตาหยง อดีต ส.ส.หลายสมัยจากประชาธิปัตย์ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรชุดล่าสุดก็เพิ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงของรัฐ กับ นายวัชระ ยาวอหะซัน อดีต ส.ส.หนึ่งเดียวที่ทำให้พรรคชาติไทยของนายบรรหาร ศิลปอาชา แจ้งเกิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สำเร็จ โดยเที่ยวนี้พรรคชาติไทยซึ่งถูกยุบไปแล้ว มาในชื่อใหม่คือพรรคชาติไทยพัฒนา โดยมี นายกมลศักดิ์ ลีวามะ ทนายความจากพรรคมาตุภูมิเป็นตัวสอดแทรก
หลังจากนี้คงต้องเริ่มนับถอยหลังและจับตาอย่างใกล้ชิดว่าผู้สมัครรายใดจากพรรคการเมืองไหนจะครองใจคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-2 บรรยากาศการรับสมัครและรณรงค์หาเสียงของบรรดาผู้สมัคร ส.ส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้