ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. เผยเกษตรกรอีสานมีความสุขมากสุด
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.เผยดัชนีความสุขเกษตรกรภาคอีสานมากสุด คาดแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปีหลังขยายตัวร้อยละ 4.6 ทั้งปีร้อยละ 4.0 ข้าว-มันสำปะหลัง-อ้อยโรงงาน-น้ำตาลทราย-กุ้ง-สุกร ราคาสูงขึ้น
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกร หัวข้อ ‘ระดับความสุขของเกษตรกรไทย’ พบว่าจากกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศรวม 2,448 ราย ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าในภาพรวมเกษตรกรมีความสุขอยู่ในระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 89.0 โดยมีความสุขในระดับมากอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ด้านสุขภาพ และด้านการทำงาน และมีความสุขในระดับค่อนข้างมากอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านการศึกษาและด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ถือว่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในช่วงเดือนมกราคม 2556 ซึ่งเกษตรกรมีความสุขอยู่ในระดับค่อนข้างมากถึง มากที่สุด ร้อยละ 76.0
โดยเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสุขมากที่สุด ส่วนเกษตรกรในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีความสุขน้อยกว่าภาคอื่น โดยเกษตรกรต้องการให้ ธ.ก.ส สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการสร้างงานที่มั่นคงในชนบทมากที่สุด รองลงมาคือ สนับสนุนการใช้ชีวิตพอเพียง และสนับสนุนการสร้างอาชีพเสริม
สำหรับแนวทางการสร้างความสุขให้แก่เกษตรกร ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. เห็นว่า การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนประกอบอาชีพทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้และเงินออมเพิ่มขึ้น ยังเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญกับเกษตรกร ขณะที่ภาครัฐควรสนับสนุนการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกิน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีระดับความสุขด้านเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการใช้ชีวิตพอเพียงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนการจัดทำบัญชีฟาร์มและบัญชีครัวเรือน และการส่งเสริมให้เกษตรกรก้าวไปสู่การเป็น Smart Farmer โดยการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตและนวัตกรรมทางการเกษตร
ผู้ช่วยผจก.ธ.ก.ส. กล่าวต่อว่า ยังได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรไทย ครึ่งหลังปี 2556 ว่าจะขยายตัวอยู่ร้อยละ 4.6 จากครึ่งปีแรก ทำให้คาดว่าทั้งปี 2556 เศรษฐกิจการเกษตรไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.0 เป็นผลจากผลผลิตทางการเกษตรในหมวดสำคัญ ๆขยายตัวดี อาทิ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ที่มีผลผลิตต่อไร่ที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยบวกทำให้มูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และคาดว่าสินค้าหมวดพืชผลและปศุสัตว์จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตรได้
สำหรับสินค้าเกษตรที่จะมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ไก่เนื้อ กุ้งขาวแวนนาไม และสุกร ส่วนสินค้าเกษตรที่จะมีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดยจำแนกตามรายชนิดได้แก่ ข้าว โดยราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีผลผลิตและราคาข้าวเปลือกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการประมูลข้าวเพื่อการส่งออก ทำให้คาดว่าในครึ่งหลังปี 2556 ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ที่เกษตรกรขายได้จะอยู่ในช่วงตันละ 8,500-12,000 บาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ ร้อยละ 1.0-1.5 อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากอุปทานภายในประเทศเพิ่มขึ้นและสต็อกอยู่ในระดับสูง มันสำปะหลัง ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 2.15-2.25 บาท/กก. โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 2-7 จากความต้องการของคู่ค้าสำคัญที่มีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจีน
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคามีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ 7.8-8.5 บาท/กก. ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 12.5 เนื่องจากปริมาณผลผลิตในช่วงครึ่งปีหลังออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุด ประกอบกับมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประเทศกัมพูชา ตามข้อตกลงการค้าเสรี ทำให้สต๊อกในประเทศมีปริมาณมาก ยางพารา ราคามีแนวโน้มปรับลดลง อยู่ที่ 65 - 75 บาท/กก. เนื่องจากการชะลอการสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า อาทิ จีน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ปาล์มน้ำมัน ราคามีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ 3.0- 3.5 บาท/กก. เนื่องจากอุปสงค์ของจีนและอินเดียที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันมีการนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลมาใช้เป็นพืชน้ำมันทดแทน และความต้องการใช้ไบโอดีเซลมีจำนวนที่ลดลง
อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 955-965 บาท/ตัน เนื่องจากผลผลิตอ้อยโรงงานค่อนข้างทรงตัว ขณะที่ความต้องการอ้อยเพื่อผลิตเป็นอาหารและเอทานอลยังมีอย่างต่อเนื่อง ไก่เนื้อ ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 43.5-47.5 บาท/กก.เนื่องจากการบริโภคไก่เนื้อภายในประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ต่อปี และคาดว่าครึ่งปีหลังจะมีปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อไก่ 5 แสนตัน ประกอบกับตลาดต่างประเทศ อาทิ ยุโรปและญี่ปุ่น มีความต้องการสูงขึ้นจากครึ่งปีแรกร้อยละ 35 ขณะที่ปริมาณการผลิตครึ่งปีหลังคาดว่าจะผลิตได้ 1.6 ล้านตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก จึงไม่ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อภายในประเทศผันผวนมากนัก
สุกร ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 60-65 บาท/กก. เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับจีนประสบอุทกภัย จึงมีความต้องการนำเข้าสุกรจากไทยเพื่อทดแทนผลผลิตที่เสียหาย กุ้งขาวแวนนาไม ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยกุ้งขาวขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) จะมีราคาอยู่ที่ 200 - 220 บาท/กก.เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาแพร่ระบาดของโรคกุ้งตายด่วน ทำให้ปริมาณกุ้งขาวมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาปรับขึ้นสูงมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน .
ที่มาภาพ: ไทยพีบีเอส