‘พีมูฟ’ จี้รบ.ตั้งคกก.สอบสวนผู้ทำร้ายชาวสวนยางชุมนุม-‘ยุคล’ ยันไม่ประกันราคา 120 บ./ก.ก.
‘พีมูฟ’ จี้รัฐบาลตั้งคกก.สอบสวนผู้ทำร้ายชาวสวนยาง-ปาล์มน้ำมันชุมนุมปิดถนนเอเชีย พร้อมออกคำสั่งย้ายผบก.ภว.จ.-ผู้ว่านครศรีฯ ออกนอกพื้นที่ ‘ยุคล’ ยันไม่ประกันราคา 120 บ./ก.ก. หวั่นเป็นภาระหนี้ผูกพัน
จากกรณีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันชุมนุมปิดถนนสายเอเชียขาขึ้น บริเวณควนนางหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายางแผ่น เศษยาง และประกันราคาปาล์มน้ำมันที่มีราคาตกต่ำ จนนำมาสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ทำให้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ออกแถลงการณ์ ‘ขอประณามผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทุบตีเกษตรกรชาวสวนยาง สวนปาล์ม และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตที่ตกต่ำ’ โดยมีความเห็นว่า 1.กลุ่มเกษตรกรสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลมานานแล้ว และเมื่อรัฐบาลไม่ยอมให้คำตอบใดเลย ก็เป็นความจำเป็นที่เกษตรกรเหล่านั้นต้องจัดการชุมนุม อันเป็นความชอบธรรมและสิทธิที่ทำได้
2.การแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เป็นหน้าที่หลักของรัฐบาลอยู่แล้ว รัฐบาลควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ควรเป็นภาระของเกษตรกรที่ทนไม่ไหว จนต้องออกมาชุมนุม
3.ไม่มีความชอบธรรมอันใดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจะสามารถทุบตีและทำร้ายประชาชนได้
4.การปฏิบัติต่อกลุ่มเกษตรกรผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐควรยึดถือหลักการสากลและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด (การใช้กระบองเป็นการปฏิบัติขั้นที่ 6) ซึ่งเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
ดังนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการเร่งด่วน โดยให้ย้ายผบก.ภว.จ.นครศรีธรรมราชและผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชออกนอกพื้นที่ พร้อมเร่งเปิดเจรจาระหว่างรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกับตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
สุดท้ายรัฐบาลต้องแต่งตั้งกรรมการสอบสวนนำตัวผู้เกี่ยวข้องในการทำร้ายกลุ่มเกษตรกรผู้ชุมนุมมาลงโทษเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีเป็นสากลต่อสังคมไทย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 ส.ค. 56) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ( FM.97.0 MH.z) ว่า รัฐบาลไม่สามารถจะประกันราคายางพาราที่ราคากิโลกรัมละ 120 บาทได้ เพราะจะเกิดหนี้สินในอนาคต เนื่องจากราคาที่เกษตรกรเรียกร้องสูงเกินกว่าราคาตลาดโลกที่กำหนดไว้ขณะนี้กิโลกรัมละ 72 บาท ที่สำคัญเคยอุดหนุนงบประมาณราว 2 พันล้านบาทแล้ว แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาเกษตรกรจะต้องลดต้นทุนการผลิตและปรับวิถีชีวิตใหม่ .
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=434734419983111&set=pcb.434734816649738&type=1&theater