รู้จัก BRN จากงานวิจัย (1) เป้าหมายเอกราชกับ 4 ภาพอนาคตของการต่อสู้
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง "เป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็นกับกระบวนการสันติภาพ" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค.2556 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ "1 ทศวรรษสามจังหวัดชายแดนใต้ : ทิศทาง ความรู้ และอนาคต"
การเสวนาดังกล่าวมีเนื้อหาหลักอยู่ที่การนำเสนองานวิจัยของ จิราพร งามเลิศศุภร นักวิจัยจาก สกว. ในหัวข้อเดียวกับชื่อเวทีเสวนา โดยเธอได้ศึกษาเป้าหมายของบีอาร์เอ็นในฐานะกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐและต่อสู้กับรัฐไทยมาตลอดกว่าครึ่งศตวรรษ และเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุคปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ของงานวิจัย เพื่อศึกษาเป้าหมายสุดท้ายในการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น โดยครอบคลุมมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา กระบวนการยุติธรรม และศาสนา พร้อมศึกษาวิธีการไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็น
จิราพร ได้ตั้งคำถามสำหรับงานวิจัยของเธอใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.บีอาร์เอ็นมีกระบวนการให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงอย่างไร และใช้เหตุผลอะไรอ้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้าย กับ 2.บีอาร์เอ็นมองสังคมที่จะอยู่ในอนาคตกันอย่างไร ทั้งเรื่องความเป็นธรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และบีอาร์เอ็นได้เสนออะไรเป็นทางออกให้กับสังคมบ้าง
แหล่งข้อมูลของงานวิจัย มาจากการซักถามเฉพาะผู้ที่รับสารภาพ ตลอด 10 ปีของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2547-2556) รวม 100 คน สัมภาษณ์เชิงลึก 20 คนเฉพาะคนที่รับว่าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น เฉพาะส่วนนี้ใช้เวลา 3 ปี และวิเคราะห์เนื้อหาเอกสาร ประกอบด้วย ธรรมนูญบีอาร์เอ็น 2518, 2531 เอกสารนายมะแซ อุเซ็ง ปี 2546 เอกสารตำราคู่มือฝึกเยาวชนที่ทางการยึดได้ ปี 2546 และ 2554
ถูก"ยึดครอง" จึงต้อง"ขอคืน"
จิราพร กล่าวตอนหนึ่งว่า บีอาร์เอ็นก่อตั้งองค์กรขึ้นตั้งแต่ปี 2503 โดยใช้แนวคิดปฏิวัติของเหมาเจ๋อตุง รากเหง้าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองของบีอาร์เอ็นมีอย่างเดียวคือ การถูกยึดครอง กดขี่ ครอบงำจากจักรวรรดินิยมสยาม ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจหรือความยากจน
"เมื่อรากเหง้าของปัญหาคือการถูกยึดครอง กดขี่ ครอบงำ เป้าหมายสุดท้ายก็คือ ปลดปล่อย ปลดแอก ขอคืน เอาคืน นั่นคือที่มาของหนึ่งในข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นในปัจจุบัน คือเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของ เมื่อการต่อสู้ในแนวทางรัฐสภาเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องใช้แนวทางปฏิวัติแบบเหมาเจ๋อตุง ใช้ฐานรากของสังคมในการขับเคลื่อน ทั้งศาสนาและวัฒนธรรม"
"หัวใจการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นอยู่ที่ แผ่นดิน อิสลามและศรัทธา และเชื้อชาติมลายูปาตานี ซึ่งก็คือ เชื้อชาติ ศาสนา และแผ่นดินนั่นเอง"
พัฒนาการ 3 ช่วงเวลา
จิราพร ยังได้แบ่งพัฒนาการของบีอาร์เอ็น ตั้งแต่ปี 2503 ถึงปี 2556 ออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่
พ.ศ.2503-2527 เป็นยุคจัดตั้งองค์กร แสวงหาอุดมการณ์และแนวทางการต่อสู้ เป็นยุคผลิตตำรา เป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่เอกราช บังคับใช้บทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบอิสลาม ธรรมนูญของพรรคฉบับแรก มีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแนวทางปฏิวัติ โครงสร้างองค์กรและหน้าที่ของสมาชิกตามโครงสร้าง มีการจัดทำตำราแนวทางการต่อสู้ การปฏิวัติที่อิงกับหลักศาสนาอิสลาม
พ.ศ.2527-2547 เป็นยุคแตกแยก จากปัญหาการแย่งชิงอำนาจ กระแสฟื้นฟูอิสลาม การต่อสู้ตามแนวทางอิสลามที่แท้จริง และการปฏิเสธสังคมนิยม ชาตินิยม ส่งผลให้ อุสตาซการิม แกนนำคนสำคัญในการก่อตั้งองค์กรบีอาร์เอ็น ปฏิเสธแนวทางการต่อสู้ที่ผ่านมาทั้งหมด
บีอาร์เอ็นเดินงานปฏิวัติตามตำราจัดตั้งใหม่ และก่อการปฏิวัติ มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่เอกราช สร้างสังคมยุติธรรมและสงบสุข รวมทั้งและบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) มีการแตกตัวขององค์กรเป็น บีอาร์เอ็นโคออดิเนท บีอาร์เอ็นคองเกรส และบีอาร์เอ็นอูลามา
พ.ศ.2547-2556 เป็นยุคประกาศสงครามประชาชนเต็มรูปแบบ แต่จุดไม่ติด ด้วยการเร่งใช้อุดมการณ์ศาสนาเป็นตัวชู อ้างโองการในอัลกุรอาน อัลหะดิษอย่างเข้มข้น แต่เป้าหมายสุดท้ายยังคงเดิม คือ เอกราช สร้างสังคมยุติธรรมและสงบสุข รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม
4 ภาพอนาคตและทางออก
จิราพร กล่าวว่า เมื่อนำเอกสารตำราคู่มือฝึกเยาวชนเมื่อปี 2546 กับ 2554 มาเทียบกันจะพบการอ้างอิงโองการในอัลกุรอานมากขึ้น มีการตีความและกำหนดแนวทางการต่อสู้ด้วยวิธีการรุนแรงสุดโต่ง เช่น ฆ่าคนไทยพุทธที่อยู่รอบบ้าน ฆ่าตัดคอ ทำลายแหล่งเศรษฐกิจ แนวคิดในการปฏิวัติ และแนวคิดในการญิฮาด ถูกนำมาอธิบายและตีความให้มีความสำคัญเท่าๆ กัน และสุดโต่งมากขี้น โดยเฉพาะยุทธวิธีในการต่อสู้หรือทำสงคราม และการกำหนดศัตรู โดยเน้นการต่อสู้ด้วยสงคราม เพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้าย
จากข้อมูลดังกล่าว ประกอบกับบริบทของปัญหาที่เปลี่ยนไป ทั้งการเปิดพื้นที่สำหรับการพูดคุยสันติภาพของรัฐบาล อายุและการต่อสู้อันยาวนานขององค์กรบีอาร์เอ็นเอง ได้นำไปสู่การวิเคราะห์แนวโน้มของบีอาร์เอ็นหลังจากนี้ (หรือ Post BRN) ว่าน่าจะมี 4 กลุ่มความคิด คือ
1.เข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ กลุ่มนี้เป็นแกนนำรุ่นเก่าและฝ่ายการเมือง ซึ่งจะเดินหน้าพูดคุยต่อไป
2.สู้ต่อ รุนแรง สุดโต่ง วิธีการแก้ปัญหาของรัฐเมื่อพยายามเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้อย่างมากแล้ว แต่ยังมีกลุ่มที่ยังเลือกใช้ความรุนแรงอยู่ ต้องดำเนินการ 2 เรื่อง คือ
- การปฏิรูประบบความมั่นคง หรือ Security Sector Reform (SSR) แต่ต้องดำเนินการตามกฎหมายภายใต้การเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัดของฝ่ายรัฐ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วย เพราะความรุนแรงน่าจะยังคงยืดเยื้อยาวนาน
- ใช้ Counter-Radicalisation และ De-Radicalisation เพื่อลดแนวคิดหัวรุนแรง และดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันการเข้าสู่ขบวนการที่มีแนวคิดรุนแรง ใช้แนวทางอิสลามศึกษาเป็นกรอบในการทำความเข้าใจและการตีความของกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับบีอาร์เอ็น และกลุ่มที่เห็นไม่เหมือนบีอาร์เอ็นว่าคิดอย่างไร เพื่อส่งเสริมให้เป็นกระแสหลักในการไม่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการอ้างอิงศาสนาอิสลาม
3.ยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรง เนื่องจากการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน และสมาชิกบางส่วนหมดศรัทธากับแนวทางการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น จึงต้องการยุติการต่อสู้ด้วยแนวทางการใช้ความรุนแรง แล้วหันมาต่อสู้ตามกรอบของรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นในเรื่องความคิดในการบริหารจัดการสังคมที่แตกต่างจากรัฐ แต่คนกลุ่มนี้ยังมีคดีความติดตัว รัฐจึงต้องมีช่องทางที่เหมาะสมรองรับ โดยเสนอให้ใช้แนวทางปลดอาวุธ เลิกเคลื่อนไหว กลับคืนสู่สังคม หรือ (Disarmament, Demobilization and Reintegration : DDR)
4.สู้ต่อ แต่หันมาใช้วิธีการไม่รุนแรง อาจเข้าสู่กระบวนการพูดคุย ซึ่งรัฐต้องเปิดช่องทาง หรือ Track รองรับ ซึ่งอาจไม่ใช่ช่องทางเดียวกับที่ทำอยู่ในปัจจุบัน (กับกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ)
"การแก้ปัญหานาทีนี้ต้องใช้หลายๆ แนวทาง ไม่สามารถใช้แนวทางเดียวได้ และหากเปิดพื้นที่ทางการเมืองแล้ว แต่พวกเขาไม่ร่วมมือ ก็ควรดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ยังใช้ความรุนแรง โดยต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก และควรให้ความรู้เกี่ยวกับหลักศาสนาอิสลามที่ชัดเจน และอยากให้ไปศึกษาเรื่องการจัดระบบดูแลคนที่เลิกต่อสู้แล้วในต่างประเทศ เพื่อให้คนที่เลิกสู้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีสังคมที่ดีรองรับ แทนที่จะไปง้อกลุ่มที่ไม่เลิกต่อสู้" จิราพร กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในงานเสวนาขณะที่ จิราพร งามเลิศศุภร กำลังอธิบายถึงสิ่งที่เธอค้นพบมาจากการศึกษาวิจัยเรื่ององค์กรบีอาร์เอ็น