ฝ่าวิกฤติโรงเรียนขนาดเล็ก
ลองย้อนทบทวนอดีตสักนิด จะพบว่าการก่อตั้งโรงเรียนแต่ละแห่งนั้นมิได้ตั้งกันอย่างง่ายดาย แต่เกิดจากความเรียกร้องต้องการของชุมชน มีการเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งโรงเรียนชุมชน ในหลายแห่งชาวบ้านมาช่วยกันหาไม้มาช่วยกันก่อสร้างโรงเรียน ชุมชนสนับสนุนโรงเรียนมาโดยตลอดเพื่อให้โรงเรียนเป็นที่ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้ลูกหลานได้มีปัญญา เก่งกล้าสามารถ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต
แต่ปัจจุบันกลับจะมีการให้ยุบโรงเรียนเพียงเพราะจำนวนเด็กลดลง ดังเสียงสะท้อนถึงความน้อยใจของผู้นำชุมชนที่ว่า “แต่พอเด็กลดลงทางกระทรวงฯ ก็มีนโยบายยุบโรงเรียนโดยไม่มีการปรึกษาหารือให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจแม้แต่น้อย”
อีกทั้งยังไม่พิจารณาว่าการยุบโรงเรียนนั้นจะสร้างผลกระมากมายตามมา จากการที่เด็กต้องเดินทางไปเรียนไกลขึ้น ยิ่งถ้าเป็นชั้นประถมต้นๆ พ่อแม่ต้องไปรับไปส่งหรือต้องเสียค่ารถรับส่งเพิ่มขึ้นอีก หากเป็นชุมชนห่างไกล ฤดูฝนเด็กเดินไกลๆ เสื้อผ้า หนังสือเปียก เจ็บป่วย เวลาที่เด็กจะอยู่บ้านช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้านก็น้อยลงความปลอดภัยในการเดินทางก็ลดลง และเด็กต้องปรับตัวกับโรงเรียนใหม่ที่ไม่ใช่ชุมชนตนเอง ด้านพ่อแม่ต้องคอยกังวลห่วงใยลูกสารพัด และผลกระทบที่สำคัญมากคือการไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตโดยตรง
ด้วยเหตุนี้ นโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจึงสวนทางกับพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติปี 2542 และนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการจัดการศึกษา
โรงเรียนเล็กคืออะไร?
• โรงเรียนเล็ก หมายถึง โรงเรียนประถมศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน
• โรงเรียนเล็กเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ในปี 2536 มีจำนวน 10,741 แห่ง (33.48%) ปี 2547 มีจำนวน 11,599 แห่ง (35.88%) ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 14,300 แห่ง คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 (จากโรงเรียนทั้งหมดรวม 31,500 แห่ง)
• โรงเรียนเล็ก ครอบคลุมเด็กนักเรียนประมาณเกือบ 1 ล้านคน
จำแนกโรงเรียนเล็กตามจำนวนนักเรียน
• จำนวนนักเรียน 0 คน 137 แห่ง
• จำนวนนักเรียน 1-20 คน 444 แห่ง
• จำนวนนักเรียน 21-40 คน 1,967 แห่ง
• จำนวนนักเรียน 41-60 คน 3,082 แห่ง
• จำนวนนักเรียน 61-80 คน 3,355 แห่ง
• จำนวนนักเรียน 81-100 คน 3,040 แห่ง
• จำนวนนักเรียน 101-120 คน 2,372 แห่ง
นโยบายยุบโรงเรียนเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ
• ตั้งเป้าหมายยุบโรงเรียนเล็ก 7,000 แห่ง
• ขึ้นบัญชีของ สพฐ. แล้ว 5,277 แห่ง
วิกฤตโรงเรียนเล็กสะท้อนอะไร ?
• การบริหารการศึกษาของชาติที่ล้มเหลวในการดูแลพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ และทั่วถึงตามความต้องการของประชาชน
• เขตพื้นที่การศึกษาปล่อยปะละเลยการบริหารโรงเรียนทำให้ครูมีจำนวนน้อยลงเพราะขอโยกย้าย ไปโรงเรียนใหญ่ในเมืองหรือขอเกษียณราชการล่วงหน้า และขาดการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง
• ผู้ปกครองต้องดิ้นรนย้ายลูกไปยังโรงเรียนที่มีจำนวนครูมากเพียงพอในการสอนสาระวิชาต่างๆหวังจะให้ลูกหลานสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยได้
• การแก้ไขปัญหาด้วยการยุบโรงเรียนเล็ก เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ และขาดความรับผิดชอบ โดยปัดภาระให้ประชาชนต้องย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนที่ห่างไกลชุมชน และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
• รัฐยังคงใช้วิธีคิดผูกขาดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้กับกระทรวงฯโดยเมื่อจัดไม่ได้ดีจนเกิดโรงเรียนเล็กมากมาย ก็ยุบทิ้งและเอางบประมาณรายหัว อาคารสถานที่ อัตราจ้าง และผลประโยชน์อื่นๆของโรงเรียนเล็กที่ถูกยุบมาเป็นของโรงเรียนใหญ่ และเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งที่มีวิธีการจัดการศึกษาที่เป็นทางออกได้คือ การจัดร่วมกับภาคประชาสังคม
• รัฐยังคงเน้นการจัดการศึกษาโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เน้นการจดจำสาระวิชาเพื่อไปสอบแข่งขันศึกษาต่อ เพื่อผลิตแรงงานสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรม ซึ่งล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพเด็กที่รอบด้าน และสอดคล้องกับการพัฒนาสังคมที่หลากหลายตามบริบท
ข้อเสนอต่อ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ
1. ให้กระทรวงศึกษาธิการยุติการดำเนินนโยบาย และการสั่งการให้เขตพื้นที่การศึกษายุบควบรวมโรงเรียนเล็ก
2. ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ทำหน้าที่ประสานงาน รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยกระบวนการดังกล่าวต้องจัดให้มีเวทีประชาคม ประกอบด้วยคณะครู ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่ ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรภาคีต่างๆ สื่อสาธารณะ และกลุ่มการศึกษาทางเลือกในแต่ละพื้นที่ที่จะจัดดำเนินการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน
3. สร้างสรรค์การมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคีสนับสนุน ในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ให้เป็นการเรียนรู้บนฐานชุมชนทั้งวิถีชีวิต องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการเรียนรู้วิชาการ เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนและอยู่ร่วมสังคมอย่างมีความสุข
ข้อเสนอดังกล่าวนี้ สภาการศึกษาทางเลือกเห็นว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่กระทรวงศึกษาฯ สามารถดำเนินการในแนวทางที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลโดยสภาการศึกษาทางเลือกพร้อมที่จะร่วมแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเต็มกำลัง
นอกจากนี้หลังจากที่สภาการศึกษาทางเลือกเข้ายื่นจดหมายคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน์ เลขาธิการ สพฐ.ได้แถลงว่าจะไม่มีการยุบโดยพละการ จะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ก่อน จะไม่ยุบโรงเรียนที่ชุมชนมีความพร้อม โรงเรียนที่มีการคมนาคมยากลำบาก และพร้อมที่จะรับข้อเสนอข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ต้องการยุบจากสภาการศึกษาทางเลือก
ดังนั้นทางสภาการศึกษาทางเลือกจะร่วมกับองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อติดตามสิ่งที่เลขาธิการ สพฐ.ได้แถลงไว้อย่างต่อเนื่อง
สภาการศึกษาทางเลือกยินดีรับฟังเสียงจากโรงเรียนขนาดเล็ก องค์กรชุน องค์กรปกครองท้องถิ่นและภาคประชาสังคมทุกแห่งในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและร่วมกันปฏิรูปการศึกษาที่มีทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
:: เอกสารประกอบการเสวนาเวทีฝ่าวิกฤต “เสียงสะท้อนฝ่าวิกฤติการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก” วันที่ 21 พฤษภาคม 2554