อนาคตโต๊ะสันติภาพ หลังไม่รับ 5 ข้อ BRN
ภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต. ซึ่งมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วม เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.2556 และได้ข้อสรุปออกมาในทำนองว่าไม่รับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็นตามที่นำเสนอข้อเรียกร้องผ่านทางโซเชียลมีเดียนั้น
ท่าทีอันแข็งกร้าวโดยเฉพาะของผู้นำเหล่าทัพ ทำให้หลายฝ่ายประเมินไม่ถูกว่าการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยร่วมกันเมื่อ 28 ก.พ.2556 นั้น จะดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะเส้นทางดูเหมือนจะตีบตัน
"ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ เพื่อฉายภาพอนาคตของโต๊ะพูดคุยสันติภาพ
"ภราดร"ประสาน BRN ส่งข้อเรียกร้องฉบับจริง
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลไทย กล่าวว่า การประชุม ศปก.กปต.เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.เป็นการนำข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่เสนอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมาพูดคุยหารือกันคล้ายเป็นตุ๊กตาว่า ถ้าข้อเรียกร้องเป็นอย่างนี้จริงๆ ฝ่ายรัฐควรจะมีท่าทีอย่างไร ถือเป็นการทำการบ้านของหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งทุกหน่วยก็ได้แสดงความเป็นห่วง เพราะเนื้อหาในข้อเรียกร้องที่เป็นเอกสารกับที่เคยเสนอเป็นคลิปวีดีโอผ่านโซเชียลมีเดียนั้น ไม่ตรงกัน
อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจว่าจนถึงขณะนี้ คณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลไทยยังไม่ได้รับข้อเรียกร้องเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการจากบีอาร์เอ็น ซึ่งตามขั้นตอนต้องส่งผ่านผู้อำนวยความสะดวก คือ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการส่งเป็นเอกสารมา ส่วนเอกสารที่หน่วยงานความมั่นคงไทยนำมาวิเคราะห์ ก็เป็นบันทึกการประชุมของการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งบีอาร์เอ็นมีการเสนอข้อเรียกร้องจริง แต่เป็นการเสนอด้วยวาจา ยังไม่มีที่เป็นเอกสาร แต่กลับไปปรากฏทางโซเชียลมีเดีย
"การดำเนินการต่อจากนี้ เราก็ได้ประสานผ่านไปยังผู้อำนวยความสะดวกให้แจ้งทางบีอาร์เอ็นให้ส่งข้อเรียกร้องที่เป็นเอกสารทางการกลับมา เพื่อที่ฝ่ายรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปพิจารณาตามกระบวนการที่มีอยู่ ส่วนจะรับหรือไม่ต้องขึ้นกับขั้นตอนนั้น ผลออกมาอย่างไรก็จะนำไปคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นในลำดับต่อไป"
ยันโต๊ะสันติภาพยังไม่ล้ม-เลื่อนเป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนอนาคตของโต๊ะพูดคุยสันติภาพนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ที่ประชุม ศปก.กปต.เห็นตรงกันว่า การพูดคุยสันติภาพจะต้องดำเนินต่อไป เพียงแต่การนัดพูดคุยครั้งใหม่ในช่วงนี้คงยังไม่มีประโยชน์ เพราะทั้งสองฝ่ายก็จะไปทวงถามเรื่องข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ฉะนั้นในชั้นนี้จึงยังไม่มีการนัดหมาย แต่ได้ประสานผ่านผู้อำนวยความสะดวกให้บีอาร์เอ็นส่งเอกสารข้อเรียกร้องมาก่อน เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ค่อยนัดพูดคุยกันอีกครั้ง
"การเลื่อนวันนัดพูดคุยสันติภาพออกไปเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้หมายความว่าเราล้มเลิกการพูดคุยหรือมีปัญหา เพราะการนัดหมายสามารถผ่อนสั้นผ่อนยาวได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะและความเหมาะสม" พล.ท.ภราดร ระบุ
หน่วยมั่นคงชี้ถนนสายสันติภาพส่อถึงทางตัน
ด้านความเห็นของหน่วยงานด้านความมั่นคงหน่วยอื่นที่ไม่ใช่ สมช. แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่ง มองว่า การเดินหน้ากระบวนการพูดคุยต่อไปในบริบทเดิมน่าจะลำบาก เพราะข้อเรียกร้อง 5 ข้อไม่สามารถตกลงกันได้ ประเมินว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ไม่ได้เต็มใจพูดคุยกับรัฐบาลไทยอยู่แล้ว แต่ที่ต้องมาพูดคุยเพราะถูกมาเลเซียบังคับ จึงเสนอข้อเรียกร้องแบบสุดโต่งมาเพื่อให้รัฐบาลไทยปฏิเสธ
ขณะเดียวกันการเสนอข้อเรียกร้องแบบนี้ก็ทำให้ได้ใจนักรบในพื้นที่ชายแดนใต้ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐกลุ่มอื่นๆ ทำให้ทีมพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นปลอดภัย ไม่ถูกปองร้ายจากการที่เปลี่ยนท่าทีหันมาพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย
เชื่อคุยต่อรักษาหน้า-จัดคณะเล็กถกทางลับ
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงอีกรายซึ่งสังกัดคนละหน่วยกับรายแรก บอกว่า การพูดคุยน่าจะยังมีต่อไปเพื่อรักษาหน้าของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลไทยที่ทุ่มเทเต็มที่สำหรับการพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผยครั้งนี้
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะยิ่งทวีความรุนแรง เพราะทั้งบีอาร์เอ็นและกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐกลุ่มอื่นๆ จะพยายามเร่งสร้างสถานการณ์เพื่อบีบให้รัฐบาลรับพิจารณาข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐได้เปรียบ แม้รัฐบาลไทยยอมรับเพียงแค่ข้อเดียวก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ประกอบกับในเดือน ก.ย. จะมีการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นหลายระดับในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นอีกตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงขยายวง
"จากข่าวสารที่ได้รับมาทราบว่า ฝ่ายนายฮัสซันเองก็เริ่มมองเห็นว่าการพูดคุยแบบเปิดเผยช่องทางเดียวประสบความสำเร็จยาก จึงมีแนวคิดตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อพูดคุยกันทางลับเป็นระยะไปก่อน เมื่อได้ข้อตกลงระดับหนึ่งที่น่าพอใจ ก็ค่อยคุยกันในทีมพูดคุยชุดใหญ่แบบเปิดเผย เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่กระบวนการพูดคุยไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ อาจเป็นไปได้ว่าทั้งสองฝ่ายกำลังร่วมกันพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อพูดคุยกันทางลับอยู่"
แหล่งข่าวคนเดียวกัน บอกด้วยว่า อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะทำให้การพูดคุยเดินหน้าต่อไปยากขึ้น ก็คือความเห็นของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะคณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ระบุชัดเจนว่าการพิจารณาข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อนี้ ต้องนำเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ด้วย
"เอกชัย"รับชะลอพูดคุย-วอนสร้างบรรยากาศที่ดี
ด้าน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะที่ร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับผู้เห็นต่างจากรัฐหลายกลุ่มมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ให้ข้อมูลอีกทางหนึ่งว่า การพูดคุยสันติภาพช่วงนี้ต้องชะลอไปก่อนเนื่องจากความไม่ชัดเจนของฝ่ายรัฐบาลไทยเองในเรื่องข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น
"ผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่มีกระบวนการพิจารณาข้อเรียกร้องอย่างเป็นระบบ อาจจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเก็บรวบรวมข้อมูล เพราะข้อเรียกร้องก็รับทราบมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาคณะพูดคุยกลับไม่ทำอะไรที่มองเห็นเป็นรูปธรรมเลย"
"ต้องเข้าใจว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้เป็น Top line คือข้อเรียกร้องสูงสุด ไม่ใช่ Base line หรือข้อเรียกร้องพื้นฐาน ฉะนั้นจึงเป็นการเสนอข้อเรียกร้องมาเพื่อให้เราต่อรอง ทุกอย่างยังคุยกันได้ แต่เรากลับไปบอกว่ายอมไม่ได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้คุยกันเลย"
พล.อ.เอกชัย ยังเห็นว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อสามารถปฏิบัติได้ตามรัฐธรรมนูญไทย และไม่จำเป็นต้องทำตามทั้งหมด เป็นเรื่องของการพูดคุยต่อรอง ฉะนั้นการตีความข้อเรียกร้องจึงควรตีความในแง่ที่ทำให้การพูดคุยเดินต่อไปได้ ไม่ใช่ตีความว่าใช้ไม่ได้ และทำให้การพูดคุยถึงทางตัน
"อย่าลืมว่าบีอาร์เอ็นไม่จำเป็นต้องมาพูดคุยกับเรา การที่เขามาร่วมแสดงเจตจำนงครั้งนี้ แสดงว่าเขาอยากคุย ฉะนั้นควรสร้างบรรยากาศที่ดีให้การพูดคุยดำเนินต่อไป" พล.อ.เอกชัย ระบุ
ชาวบ้านบ่นเบื่อ-แนะปรับกระบวนการพูดคุย
ด้านความเห็นของประชาชนในพื้นที่ ผู้นำธรรมชาติที่บ้านบาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น เพราะทุกคนรู้ดีว่าการพูดคุยเจรจาที่เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายทำเพื่อผลประโยชน์อย่างอื่น ไม่ได้มีธงเพื่อแก้ปัญหาให้กับคนในพื้นที่จริงๆ พี่น้องในพื้นที่จริงๆ
"ปัญหาที่เกิดขึ้นก็รู้อยู่ว่าต้องแก้อย่างไร แต่รัฐก็ไม่ทำ กลับไปเจรจากับกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ ขอบอกว่าถ้าปัญหาที่มีอยู่ในพื้นที่ยังไม่ถูกแก้ ไม่ว่าจะไปพูดคุยเจรจากับใครก็ไม่สำเร็จอยู่ดี ปัญหาที่บ้านเรา ทุกคนทุกฝ่ายรู้อยู่ว่าเกิดจากอะไร หากไปแก้ที่ต้นเหตุก็มีโอกาสสงบ" ผู้นำรายนี้ระบุ
นายอับดุลรอซะ มะยิ ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา มองไปอีกทางว่า รัฐไม่มีทางยอมรับข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นได้ เพราะรัฐไม่มีความจริงใจตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว การไปเจรจาแต่ละครั้งไม่ได้มีคณะทำงานที่สามารถคุยนอกรอบได้ มีแต่คณะทำงานชุดใหญ่ที่จัดฉากมา แต่ละคนไม่ได้รู้ปัญหาอย่างแท้จริง และบางคนก็เข้าไปเป็นคณะทำงานเพื่อผลประโยชน์อื่น
"หากต้องการเจรจาจริงๆ รัฐต้องมีทีมงานมากกว่าแค่ไปเจรจา เมื่อพูดคุยกลับมาแล้วต้องทำการบ้าน ต้องทำงานมวลชน ต้องสามารถพูดคุยทางลับกับบางฝ่ายได้ แต่คนที่มีสามารถแบบนั้นกลับไม่มีอำนาจเข้าไปร่วมเป็นคณะทำงาน พวกเราชาวบ้านดูแล้วรู้สึกเอือมระอากับสิ่งที่เกิดขึ้น" อับดุลรอซะ กล่าว
นายมูฮัมหมัด มะนาหิง ชาวบ้านจาก อ.เมืองยะลา บอกว่า ยังสนับสนุนให้เดินหน้าพูดคุยเจรจาต่อไป เพราะความขัดแย้งทุกอย่างจบที่การเจรจา ซึ่งต้องใช้เวลาและอดทน
"ยิ่งปัญหาในบ้านเรามันสลับซับซอนมาก มีทั้งเรื่องการเมือง ยาเสพติด ผู้ค้าของเถื่อน และยังมีพวกข้าราชการ ที่ทำตัวนอกกฎหมายอีก ปัญหาเลยแก้ยาก นี่แหละที่ผมบอกว่าการแก้ปัญหาความไม่สงบต้องใช้เวลาและความอดทน" นายมูฮัมหมัด บอก
จากการพูดคุยกับชาวบ้านในอีกหลายๆ พื้นที่ เกือบทุกคนยังคงตั้งความหวังกับการพูดคุยสันติภาพ เพราะเชื่อว่าเป็นหนทางเดียวที่จะยุติสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ได้ เพียงแต่ต้องมีการปรับกระบวนการและวิธีการพูดคุยเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จต่อไป